5 ข้อผิดพลาดในการซื้อกองทุนรวม RMF

โดย อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
3 Min Read
4 มกราคม 2565
21.828k views
PF_5 ข้อผิดพลาดในการซื้อกองทุนรวม RMF_Thumbnail
Highlights

หลายคนคงรู้จักและอาจลงทุนในกองทุนรวม RMF อยู่แล้ว แต่สิ่งที่นักลงทุนมักจะกังวลอยู่เสมอ คือ การทำผิดเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งหากทำผิดเงื่อนไขจะต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อนไปแล้ว และยังต้องเสียค่าปรับตามที่กรมสรรพากรกำหนดอีกด้วย ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการลงทุนระยะยาวและเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

คำถามที่หลายคนข้องใจ คือ ต้องการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อเป้าหมายประหยัดภาษี แต่ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างไรให้ไม่ผิดพลาด หรือถ้าปีไหนไม่ได้ซื้อจะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังพบว่ามีหลายคนที่ซื้อกองทุนรวม RMF และมักเข้าใจผิด หลัก ๆ มี 5 ข้อ ดังนี้

 

1. ซื้อเกินสิทธิ

เป็นความเข้าใจผิดที่พบค่อนข้างบ่อย เพราะลืมคำนวณก่อนซื้อ โดยไม่ได้นำยอดซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไปรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เนื่องจากวงเงินการออมเพื่อการเกษียณเป็นวงเงินรวมเดียวกันและต้องไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปี

 

วิธีป้องกันการซื้อเกินสิทธิ ให้คำนวณล่วงหน้าหรืออย่างน้อยก่อนซื้อกองทุนรวม RMF ตอนสิ้นปีว่ามีสิทธิซื้อได้มากน้อยเพียงใด เริ่มจากการคำนวณเงินออมที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ก่อน เนื่องจากเงินออมก้อนนี้จะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนสำหรับมนุษย์เงินเดือน และส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนยอดสะสมได้บ่อย หลังจากนั้นค่อยมาคำนวณว่ามีสิทธิซื้อกองทุนรวม RMF เท่าไร โดยรวมกันแล้วเกิน 500,000 บาทหรือไม่

 

ถ้าหากซื้อเกิน ควรนำเงินที่ตั้งใจออมไปซื้อกองทุนรวมทั่วไป เพราะการซื้อเกินสิทธินอกจากจะไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว การขายก่อนครบเงื่อนไขยังทำให้ต้องเสียภาษีกำไรส่วนเกิน (Capital Gain Tax) กรณีขายแล้วมีกำไรอีกด้วย

 

2. ลืมซื้อ

ถ้าปีที่แล้วไม่ได้ซื้อกองทุนรวม RMF ก็ยังไม่ผิดเงื่อนไข แต่ถ้าปีนี้ลืมซื้ออีกปีแสดงว่าผิดเงื่อนไขแน่นอน เพราะกองทุนรวม RMF ให้สิทธิหยุดซื้อได้ปีเว้นปี ดังนั้น ถ้าปีนี้ยังไม่ได้ซื้อให้รีบซื้อ โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไม่มีข้อกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อ จึงสามารถซื้อได้ตามข้อกำหนดขั้นต่ำของแต่ละกองทุน

 

3. ซื้อและขายระหว่างปี

กรณีที่ซื้อกองทุนรวม RMF ตอนต้นปีแล้วหลังจากนั้นไปขายทำกำไรระหว่างปี ผิดเงื่อนไขหรือไม่ คำตอบมีสองกรณี กรณีแรก ในอดีตไม่เคยซื้อกองทุนรวม RMF มาก่อนเลย เช่น ต้นปีซื้อกองทุนรวม XYZ - RMF เมื่อขายระหว่างปีแล้ว และยังไม่ได้ยื่นภาษีใช้สิทธิลดหย่อนกองทุนนี้ ถือว่ายังไม่ผิดเงื่อนไข แต่ต้องเสียภาษี Capital Gain Tax ส่วนกรณีที่สอง เคยซื้อกองทุนรวม RMF มาแล้ว เช่น ซื้อกองทุนรวม ABC - RMF ในปี 2563 ต่อมาในปี 2564 ซื้อกองทุนรวมนี้เพิ่ม หลังจากนั้นกลางปีมีกำไรจึงตัดสินใจขายไปในระหว่างปี 2564 กรณีนี้ถือว่าผิดเงื่อนไข เพราะการขายกองทุนรวม RMF ใช้ต้นทุนถัวเฉลี่ยจะถือว่าขายกองทุนที่ซื้อในปีก่อนออกมาด้วย

 

4. ขายก่อนครบอายุ 55 ปี

เงื่อนไขการถือครองกองทุนรวม RMF มีสองส่วน คือ 5 ปี และ 55 ปีบริบูรณ์ กรณี 5 ปีให้นับจากปีลงทุนและนับแบบวันชนวัน (ไม่ใช่ปีปฏิทิน) ส่วนกรณีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ต้องนับให้ครบวันเกิด ซึ่งมีความเข้าใจผิดด้วยการนับเป็นปีปฏิทินว่าปีนี้ถือว่าอายุครบ 55 ปีแล้วสามารถขายก่อนวันเกิด ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข คำแนะนำ คือ ควรขายให้พ้นวันเกิดไปแล้วจะดีกว่า

 

5. ขายเพราะเข้าใจว่าครบ 5 ปี

การนับ 5 ปี ไม่ใช่เพียงจำนวนปีที่ถือครองแต่ต้องนับเฉพาะปีที่ลงทุนเท่านั้น หากปีไหนไม่ลงทุนก็ไม่นับ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าใช้สิทธิซื้อแล้วหยุดปีเว้นปีและเมื่อครบ 5 ปีก็ขายได้ ซึ่งกรณีนี้จะนับปีลงทุนแค่ 3 ปีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อขายคืนก็ผิดเงื่อนไขการลงทุนทันที

 

เงื่อนไขการซื้อขายและถือครองกองทุนรวม RMF จริง ๆ แล้วไม่ยาก แต่อย่าประมาทและทำพลาด เพราะนอกจากจะไม่ได้ประหยัดภาษีแล้วอาจต้องเสียภาษี Capital Gain Tax และถูกปรับเงินจากกรมสรรพากรเพิ่มอีกด้วย


สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม SSF & RMF แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ลองมาทำความรู้จักกองทุนทั้ง 2 แบบเข้าใจง่าย และเจาะลึกมากขึ้น ทั้งในแง่ของภาพรวมกองทุน กลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนเทคนิคการประหยัดภาษีอย่างฉลาด ด้วย “คู่มือ SSF&RMF แฝดคู่ใหม่ใช้ลดหย่อนภาษี” ดาวน์โหลดและอ่านฟรี!! >> คลิกที่นี่

 

และสำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการลดหย่อนภาษี เพื่อให้สามารถวางแผนภาษีและเพิ่มเงินออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนภาษี สไตล์มนุษย์เงินออม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: