โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
30 พฤศจิกายน 2563
831 views
TSI_26_โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
Highlights
  • การนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปี ต้องนำเงินสมทบจากนายจ้าง ผลประโยชน์จากเงินสะสม และผลประโยชน์จากเงินสมทบ ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี

  • กองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ต้องเป็นกองทุนรวม “RMF for PVD” เท่านั้น

  • “RMF for PVD” เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ลาออกหรือย้ายงานก่อนวัยเกษียณได้โอนย้ายเงินจาก PVD มาลงทุนต่อเนื่องใน RMF เพื่อสร้างผลตอบแทนไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ

เป็นที่รู้กันดีว่า... ถ้าอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ แล้วนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งการพ้นสมาชิกภาพ การลาออกจากงาน นายจ้างยกเลิกกองทุน เปลี่ยนงานแต่ไม่อยากโอนย้ายกองทุนไปยังบริษัทใหม่ หรือบริษัทใหม่ไม่มีกองทุน รวมถึงไม่อยากคงเงินไว้กับบริษัทเดิม หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี


เหตุผลทั้งหมดทั้งปวงนี้ จะต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งในส่วนของเงินสมทบจากนายจ้าง และเงินผลประโยชน์ ซึ่งก็คือกำไรที่ได้รับจากการลงทุน ไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พูดง่ายๆ คือ ต้องจ่ายภาษี 2 เด้งนั่นเอง!!


ดังนั้น หากต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง ควรใช้วิธีการ “โอนเงินจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF” แต่ก่อนจะตัดสินใจย้ายควรดูเงื่อนไขก่อน ดังนี้

เงื่อนไขการโอนเงินจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF
  • เมื่อย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มแต่ต้องถือครองหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปี และมีอายุการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีจากการขายคืน โดยสามารถนับอายุต่อจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมก่อนโอนมาเป็นกองทุนรวม RMF ได้เลย
  • เงินที่โอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF จะไม่นำมารวมคำนวณกับยอดเงินลงทุนใน RMF ทั่วไป และไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก
  • เมื่อย้ายมาลงทุนในกองทุนรวม RMF แล้ว จะไม่สามารถย้ายกลับไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีก
  • สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่นๆ ได้

RMF for PVD เงินโตต่อได้ เพียงย้าย PVD ไป RMF


กองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD กล่าวคือ มีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนรวมดังกล่าว ทั้งหมด 128 กองทุน จาก 10 บลจ. ได้แก่ บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทหารไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ธนชาต บลจ.พรินซิเพิล บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บลจ.เอ็มเอฟซี โดยแบ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ทั้งหมด 57 กองทุน ตราสารหนี้ 34 กองทุน กองทุนรวมผสม 24 กองทุน และกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ และ ทองคำอีก 13 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย. 2563)


RMF แบบไหนที่ใช่เรา


สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF คือ ต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดรับกับแผนการลงทุนของตนเอง โดยอาจเลือกจากช่วงอายุและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น คนที่อายุไม่เกิน 35 ปี สามารถลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูง


ดังนั้น จึงควรเลือกกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมผสม ส่วนผู้ที่กำลังใกล้เกษียณ อายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถรับความเสี่ยงได้น้อย ก็ควรเน้นกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น


เงินที่ออมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นเงินก้อนที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้น เมื่อมีเหตุสุดวิสัย ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ โอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวม RMF ซึ่งจะช่วยให้เงินลงทุนได้ทำงานอย่างต่อเนื่องตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้


สำหรับผู้ที่ยังคงออมเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ยังไม่รู้เทคนิคเพื่อเพิ่มเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าต้องทำอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: