หลายคนอาจจะเคยได้ยิน คำว่า “Digital Asset” หรือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” กันมาบ้างแล้ว โดยนิยามตามกฎหมายไทย ใน พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 สินทรัพย์ดิจิทัลมี 2 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย Cryptocurrency ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เช่น Bitcoin, Ethereum, Litecoin, Ripple, Stellar เป็นต้น
ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่ 2 คือ Digital Token ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ Investment Token หรือ โทเคนเพื่อการลงทุน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ สิทธิในผลกำไรจากการลงทุน เป็นต้น และ Utility Token หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า คูปองในศูนย์อาหาร หรือชิปในคาสิโน เป็นต้น
Digital Token คืออะไร?
ต้องบอกว่า Token ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เราใช้กันอยู่แล้ว เช่น ธนบัตรในปัจจุบันก็เป็น Token รูปแบบหนึ่ง แต่อยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ ขณะที่ Digital Token คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จะแปลงสิ่งของในโลกทางกายภาพ เช่น เพชร ภาพวาด รถยนต์ ป่าไม้ สินค้าและบริการ เป็นต้น ให้อยู่บนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนด “สิทธิ” บางอย่างตามความต้องการ เช่น สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ
พูดง่าย ๆ ก็คือ Token เป็นคำเรียกสิ่งสมมติที่เราถือครองไว้เพื่อแสดงสิทธิบางอย่าง เช่น ถ้าเราจ่ายเงิน 30 บาท จะได้รับ “เหรียญวงกลมสีดำ” ของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ที่ให้สิทธิโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างสถานี A ไปยังสถานี B
เป็นต้น Token จึงเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตและมีระบบฐานข้อมูลที่ทำการจัดเก็บสิทธิต่าง ๆ ของผู้ถือไว้เป็นอย่างดีบนระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง โจรกรรมได้ยาก เช่น บล็อกเชน (Blockchain) ดังนั้น จึงหมายความว่า ต่อไปในอนาคต สินทรัพย์หรืออะไรก็ตาม จะสามารถนำมาแปลงเป็น Token ได้ และผู้ถือจะได้สิทธิอะไรบ้างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ออก Token จะกำหนดขึ้น
สำหรับ “หุ้น” ก็ถือเป็น Token รูปแบบหนึ่ง แต่หุ้นกำหนดสิทธิประโยชน์ด้วยกรอบของกฎหมายในปัจจุบันว่า ผู้ถือหุ้นมีสิทธิความเป็นเจ้าของ มีสิทธิในการได้รับเงินปันผล รวมถึงมีสิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้น ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจาก Digital Token คือ จะได้สิทธิบางประการที่ผู้ออก Token ระบุไว้ แต่จะไม่ได้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีตัวกลางในระบบนิเวศน์จำนวนมากและมีหน้าที่ที่อาจจะซ้ำซ้อนกันเพื่อใช้ในการตรวจสอบให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลถูกต้องโดยพึ่งพาตัวกลางแบบรวมศูนย์ เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นต้น สำหรับ Token ตัวกลางดังกล่าวอาจมีบทบาทน้อยลงและเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ตัวกลางข้างต้นจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้มีบทบาทในระบบนิเวศน์ใหม่
เทคโนโลยีบล็อกเชนคือจุดเปลี่ยนสำคัญ
Ecosystem ของการซื้อขายด้านการลงทุนในปัจจุบันมีการจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์ มีความซับซ้อน มีตัวกลางค่อนข้างมาก และมี Operation ระหว่างกันค่อนข้างเยอะ จึงส่งผลในเรื่องของต้นทุนการดำเนินงานสูง อีกทั้งกระบวนการที่ส่งข้อมูลกันไปมา ไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหา Spaghetti Problem มีความยุ่งเหยิงในการเชื่อมต่อกัน รวมถึงความสอดคล้องกันของแต่ละส่วนในระบบ ซึ่งจะต้องทำ Interface แยกให้ตรงกับแต่ละประเภท จึงเป็นที่มาของการคิดค้นเรื่องระบบประมวลศูนย์และเก็บข้อมูลแบบกระจาย ทำหน้าที่ลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และทำให้ขั้นตอนเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ที่มา : Santander InnoVentures
โดยการมาของเทคโนโลยี DLT (Distributed Ledger Technology) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “Blockchain” ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจาก DLT มีคุณลักษณะการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวกลาง ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงาน ทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง โดยที่ไม่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตลาดทุนในปัจจุบัน มีบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่จะบอกว่าใครมีสิทธิในหลักทรัพย์ใด ๆ แล้วจึงส่งต่อไปยังนายทะเบียน แต่ในโลกยุคใหม่ ทุกคน ทุกส่วนในระบบจะมีการช่วยกันบริหารจัดการและบอกว่าข้อมูลใดคือข้อมูลที่ถูกต้อง ทุกคนจะมีข้อมูลเหมือน ๆ กัน ดังนั้น ภายใต้ DLT Network ข้อมูลจะไม่จำกัดอยู่ที่ตัวกลางเท่านั้น แต่จะกระจายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกันและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านการรักษาความลับ ความมั่นคง ปลอดภัย และไว้วางใจได้
ด้วยคุณลักษณะของเทคโนโลยีดังกล่าว ที่มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่ดีและมีความปลอดภัยสูง ทำให้เราสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์หรืออะไรก็ได้ด้วยกระบวนการ Tokenization คือ การนำสินทรัพย์มาแปลงเป็น Token โดยสินทรัพย์ที่นำมาแปลงจะเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น อาคาร ที่ดิน ทองคำ ไวน์ ภาพวาด รถยนต์ เป็นต้น หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือแม้แต่ชื่อเสียงคนดังก็ได้
ตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศมีการนำอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโรงแรม The St. Regis Aspen Resort มาทำการ Tokenize ออกเป็น Token ที่ชื่อว่า Aspen Coin เพื่อให้คนที่ถือครองโครงการนี้ มีสิทธิในรายได้จากโรงแรม เมื่อโรงแรมมีรายได้ก็จะแบ่งสรรปันส่วนให้กับผู้ที่ถือ Token ตามสัดส่วนของ Token ที่ถืออยู่
ตัวอย่างการใช้ Digital Token
ในโลกของ Distributed Ledger Technology หรือ DLT จะทำให้ผู้ที่ออกโทเคนสามารถมีจินตนาการ เพื่อที่จะทำให้การกำหนดสิทธิเป็นไปตามความต้องการของผู้ที่ออกโทเคน และเป็นไปตามความต้องการของผู้ที่ซื้อโทเคน
ที่มา : Systems Innovation
จากภาพด้านซ้ายมือ มี พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับอากาศที่สะอาด ตัว พ.ร.บ. โดยทั่วไปจะถูกบังคับใช้โดยกลไกของทางภาครัฐ แต่ในโลกของ Digital Asset หรือ Digital Token จะมีโทเคนที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ เช่น ภาพด้านล่างขวามือจะมีคนปลูกต้นไม้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้อากาศดีขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เขาปลูกต้นไม้ เขาจะได้รับ Reward เป็น Token เพื่อที่จะนำไปใช้ในการอื่น ในขณะที่ภาพด้านซ้ายบนเป็นผู้ที่ก่อมลพิษ ผู้ที่ก่อมลพิษจะต้องจ่ายเงิน เพื่อที่จะให้ Token กับคนที่ปลูกต้นไม้ ดังนั้น คนที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือทำทุกอย่างให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือสิทธิ จะไม่ใช่รัฐบาลกลาง ไม่ใช่ศาล แต่เป็นสัญญาระหว่างกันแบบ Peer to Peer ว่าเราจะใช้หน่วยเป็น Air Token ในการให้ค่าตอบแทนให้กับคนที่ทำหน้าที่ในการปลูกต้นไม้ ขณะที่คนปล่อยก๊าซมลพิษจะเป็นคนจ่ายเงินซื้อโทเคน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ต่างอะไรจากโลกการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าได้เปลี่ยนรูปแบบ (Form) จากการลงทุนในหุ้น การลงทุนในตราสารหนี้ หรือการลงทุนในกองทุนรวม มาเป็นรูปแบบ Digital Token ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีโอกาสและทางเลือกในสินทรัพย์ลงทุนที่กว้างขึ้นและหลากหลาย ทั้งในสินทรัพย์ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้
โดยในอนาคต Digital Asset จะไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องของการลงทุนเท่านั้น แต่จะเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ ผ่านการออก Token ทำให้มีช่องทางที่เข้าถึงง่าย มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย เป็นโลกที่ไม่ได้แบ่งซ้ายขวา ว่าอันนี้เป็นโลกของการเงิน อันนี้เป็นโลกของภาคสินค้าและบริการที่อยู่ใน Real Sector แต่ทั้งหมดจะ Integrate เข้ามาเป็นโลกที่ใกล้กัน เหมือนอยู่ในโลกเดียวกัน เพื่อทำให้ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลด้วยความสะดวกสบาย ด้วยความมั่นใจ และปลอดภัย
บทความฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงเนื้อหาและภาพประกอบจากหลักสูตร “Digital Asset : มิติใหม่แห่งการใช้ชีวิตและการลงทุนยุค" บรรยายโดยคุณกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสำนักผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย