Mike Cannon-Brookes นักเคลื่อนไหวสภาพภูมิอากาศ ใช้เลนส์ ESG กดดันโรงไฟฟ้าถ่านหินยักษ์ใหญ่สำเร็จ

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
18 มกราคม 2566
861 views
Thaipublica_Mike-Cannon-Brookes-03-768x511
ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2022-03-07/qld-mike-cannon-brookes-agl-takeover-bid-atlassian/100887666
Highlights

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

Shareholder Activist ในตอนที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของจูเลียน วินเซนต์ (Julien Vincent) ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว (shareholder activist) ชาวออสเตรเลียที่ได้รับรางวัลระดับโลกจากความสำเร็จด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า จากมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ที่ได้ประกาศผู้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2022 ในเดือนพฤษภาคม

 

  • “Julien Vincent” Shareholder Activist ออสเตรเลีย รณรงค์ 4 แบงก์ใหญ่ยุติสนับสนุนโครงการถ่านหิน

 

Shareholder Activist ในครั้งนี้ยังคงอยู่ที่ออสเตรเลีย ประเทศที่ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำเสนอเรื่องราวของ Mike Cannon-Brookes เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี มหาเศรษฐีอันดับสามของออสเตรเลียที่เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ

Highlights

Mike Cannon-Brookes เจ้าของบริษัทเทคโนโลยีพันล้านประสบความสำเร็จในการใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม และพลังการถือหุ้น กดดัน [1] AGL Energy บริษัทโรงไฟฟ้าถ่านหินยักษ์ใหญ่ จนต้องยกเลิกแผนการแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถทำได้ต่อเนื่องถึง 2 ทศวรรษและกรรมการบริหาร 2 รายต้องลุกออกจากเก้าอี้

Gabriel Radzyminski ผู้บริหารของ Sandon Capital กล่าวว่า “เป็นปรากฏการณ์ของ shareholder activist แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในออสเตรเลีย เพราะไม่เคยให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นเหมือนประเทศอื่นๆ” และนักลงทุนรายใหญ่ รวมไปถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จับตาดูการดำเนินการของ AGL อย่างใกล้ชิด

Highlights

“สิ่งที่ Cannon-Brookes แสดงให้เห็นคือ นอกจากมีความตั้งใจที่จะถือไม้เรียวมาแล้ว ยังใช้ไม้เรียวนั้นกับ AGL อีกด้วย”

ความสำเร็จของมหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียในการบังคับให้ AGL ยกเลิกแผน และผู้บริหารระดับสูงต้องลาออกจากตำแหน่ง อาจทำให้สถานะระหว่างผู้ถือหุ้นและบริษัทต่างๆ ที่เป็นอยู่ ในภูมิภาคสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศ

 

มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม-ลงมือทำ

 

Cannon-Brookes เป็นเศรษฐีที่ลงมือทำมากกว่าพูด ได้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ธุรกิจ Atlassian ในปี 2011

 

ในเดือนธันวาคม 2014 Atlassian ได้เปิดตัวโครงการคำมั่นสัญญา 1% โดยที่บริษัทจะบริจาคหุ้น 1% จากที่มีทั้งหมด รวมทั้งเวลาของของพนักงาน และใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ให้กับองค์กรการกุศล

 

โดยส่วนตัวแล้ว Cannon-Brookes และภรรยา Annie Todd ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และนำสิ่งที่คิดค้นขึ้นแล้วไปใช้จริง[2]

 

Grok Ventures บริษัทการลงทุนส่วนตัวของเขาถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ เช่น Brighte การเงินเพื่อพลังงานหมุนเวียนส่วนบุคคล และ Who Gives a Crap บริจาคผลกำไร 50% เพื่อสร้างห้องน้ำในประเทศกำลังพัฒนา

 

Grok Ventures มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ได้ให้คำมั่นว่า จะลงทุนกองทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Cannon-Brookes นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด NASDAQ ปี 2015

 

ซื้อหุ้นในตลาดจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้สิทธิลงคะแนน

 

Mike Cannon-Brookes ผู้ก่อตั้ง Atlassian ทำทุกอย่างเพื่อกดดันให้บริษัท AGL Energy หรือ AGL ซึ่งนอกจากเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าถ่านหินรายใหญ่สุดของประเทศแล้ว ยังเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่สุดของออสเตรเลียเมื่อวัดจาก scope 1 ของเกณฑ์ science-based target ยกเลิกแผนแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจไปได้อีกสองทศวรรษ

 

Mike Cannon-Brookes จับมือกับ shareholder activist รายอื่นๆ รวม ทั้ง Engine No 1 ซึ่งเป็น shareholder activist รายเล็กที่ประสบความสำเร็จในการกดดันเอ็กซอนโมบิล ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ให้ต้องเปลี่ยนตัวกรรมการ 3 ราย เป็นกรรมการที่มีความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศเข้ามาแทน เพื่อให้บริษัทสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่อาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

 

การตัดสินใจยกเลิกแผนการแยกกิจการของ AGL เกิดขึ้นหลังจากการต่อสู้ของบริษัทมานาน 3 เดือน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Cannon-Brookes จับมือกับ Brookfield Asset Management กลุ่มการลงทุนของแคนาดา เสนอซื้อ AGL ในราคา 5.43 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์และกลับมามีสถานะเป็นบริษัทเอกชน

 

กลุ่มผู้ลงทุนเสนอให้แปลง AGL ไปเป็นบริษัทเอกชน พร้อมกับปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้ และลงทุน 20 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ AGL ปฏิเสธข้อเสนอซื้อโดยบอกว่ากลุ่มผู้ลงทุนประเมินราคาบริษัทต่ำเกินไป

 

หลังจากที่ดูเหมือนกับว่า Cannon-Brookes ไม่สนใจดีลนี้อีกต่อไป กลับปรากฏว่า Cannon-Brookes ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทซอฟต์แวร์ Atlassian และหนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของออสเตรเลีย ได้เข้าถือหุ้น 11.3% ในบริษัท กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่[3]

 

Cannon-Brookes ใช้ Grok Ventures บริษัทเพื่อการลงทุนที่ Cannon-Brookes และ Annie ภรรยา ถือหุ้น เป็นผู้ดำเนินการ โดย Grok Ventures ได้จ้างโบรกเกอร์ให้เข้าเก็บหุ้น AGL [3]ในตลาด และใช้เงินลงทุนราว 650 ล้านเหรียญออสเตรเลียจนได้หุ้นมาทั้งหมด 11.28% มากพอที่จะลงคะแนนในฐานะผู้ถือหุ้น เพื่อคัดค้านแผนการแยกกิจการในการประชุมผู้ถือหุ้นเดือนมิถุนายน 2022

Mike-Cannon-Brookes_3-768x512
ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2022-03-07/qld-mike-cannon-brookes-agl-takeover-bid-atlassian/100887666

รณรงค์พร้อมสร้างพันธมิตร

 

Cannon-Brookes ประกาศว่าจะใช้พลังในการลงคะแนนเพื่อต่อต้านการแยกโรงไฟฟ้า และจะเกลี้ยกล่อมให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นสนับสนุนเขา

 

Cannon-Brookes กล่าวว่า ในการประชุมประจำปีของปีที่แล้ว นักลงทุนของ AGL มากกว่าครึ่งโหวตบังคับให้บริษัทจัดทำเป้าหมายการลดคาร์บอนที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสมาใช้ แต่บริษัท (คณะกรรมการ) เพิกเฉย

 

“ผู้ถือหุ้นต้องการแผนที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส และไม่ใช่ว่าเพราะพวกเขาเป็นพวกอนุรักษ์ แต่เพราะแผนที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่สุดกับบริษัท”

Highlights

“การมีแผนสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส จะช่วยให้การจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำสำหรับบริษัท เนื่องจากนักลงทุน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) จะหันกลับมาที่บริษัท เช่นเดียวกับธนาคาร และบริษัทอื่นๆ ที่ให้เป็นผู้ให้กู้”

AGL เป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ประมาณ 8% ของการปล่อยมลพิษของประเทศ

 

Cannon-Brookes ได้รณรงค์อย่างหนักเพื่อคัดค้านแผนการแยกกิจการ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อแผนของเขาที่จะใช้ AGL นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของออสเตรเลียไปสู่พลังงานหมุนเวียน

 

Cannon Brookes ได้พันธมิตรรายสำคัญคือ HESTA กองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและการบริการชุมชน ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท AGL โดย HESTA ประกาศว่าจะลงคะแนนเสียงคัดค้านการแยกกิจการ เพราะ “หลังจากทบทวนแผนแล้ว เราไม่มั่นใจว่าแผนแยกกิจการโดยรวมจะเพียงพอต่อการเร่งลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส และไม่สามารถจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์ด้อยค่าในอนาคต (stranded assets) ได้”

 

แม้ HESTA ถือหุ้น AGL เพียง 0.36% แต่การเข้าข้าง Cannon-Brookes เป็นสัญญาณว่าคณะกรรมการของ AGL กำลังสูญเสียโอกาสในการที่จะพูดกับผู้ถือหุ้น

 

ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีขึ้น AGL Energy ได้ยกเลิกแผนการที่จะแยกโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและประธานของบริษัทลาออก ได้แก่ Peter Botten ประธานบริษัท, Graeme Hunt ซีอีโอ กรรมการอีก 2 รายลาออกจากบริษัท [4]

 

บริษัทระบุว่า เชื่อว่า Cannon-Brookes ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจลงคะแนนอย่างน้อย 25% เพื่อต่อต้านการแยกธุรกิจในการลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามแผนนี้ได้

 

AGL มีธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคมขนาดใหญ่ที่มีลูกค้ามากกว่า 4 ล้านราย รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่งและพลังงานหมุนเวียนบางส่วน

 

AGL ชี้ข้อดีของการแยกกิจการโรงไฟฟ้า ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับมีด้วยกัน 3 ข้อ คือ

 

1. สร้างบริษัทที่เป็นผู้เล่นแท้จริงได้ 2 ราย โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งจะน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสินทรัพย์เฉพาะ (เช่น การจ่ายพลังงาน) แต่ไม่ใช่บริษัทอื่นๆ (เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน) ที่อาจนำไปสู่การเสนอราคาซื้อกิจการที่เสนอเงินมากกว่าที่ Cannon-Brookes และพันธมิตรเสนอ

 

2.แต่ละบริษัทจะได้มุ่งไปที่การจัดการ มีอำนาจในการเดินหน้าตามกลยุทธ์และโอกาส บนพื้นฐานของทรัพย์สินและความสามารถเฉพาะ

 

3.ผู้ถือหุ้นจะมีทางเลือกในการขายเชื้อเพลิงฟอสซิลในขณะที่ยังคงลงทุนในธุรกิจจำหน่าย

 

คณะกรรมการ AGL ยังแย้งด้วยว่า การคัดค้านการแยกกิจการสามารถเร่ง “การลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าโครงสร้างเดิมที่ใช้อยู่

 

Cannon-Brookes ต้องการใช้เงินทุนของกลุ่ม AGL เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน[5] และชี้ให้เห็นว่าข้อเสนอของเขาที่ฝ่ายบริหารของ AGL กล่าวว่าไม่มีรายละเอียดนั้น จะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ถือหุ้นมากกว่า

 

คณะกรรมการ AGL ให้คำมั่นที่จะปิดโรงไฟฟ้า Bayswater ในปี 2035 และโรงไฟฟ้า Loy Yang ในปี 2045

 

Cannon-Brookes กล่าวว่า เมื่อสินทรัพย์เหล่านั้นหยุดสร้างผลกำไรให้กับบริษัท “เร็วกว่าปี 2035 และ 2045 อย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มขาดทุนจำนวนมาก”

 

เหตุผลที่ Cannon-Brookes ค้านแผนแยกกิจการ ได้แก่ ประการแรก การแยกธุรกิจและตั้งทีมบริหารขึ้นใหม่อีกหนึ่งชุด จะมีต้นทุนอย่างน้อย 260 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และ 35 ล้านดอลลาร์ต่อปีหลังจากนั้น

 

ประการที่สอง บริษัทใหม่ทั้งสองแห่งจะมีกระแสเงินสดที่ผันผวนมากกว่า และไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการเงินได้ โดยเฉพาะบริษัทหนึ่งจะมี “ความเสี่ยงในการล้มละลายสูง” เนื่องจากมีสินทรัพย์จำนวนมากในการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน

 

ประการที่สามและที่สำคัญที่สุด การแยกกิจการจะทำให้ AGL เสียประโยชน์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าแบบบูรณาการ

 

“เราเชื่อว่าการคงไว้ซึ่งการบูรณาการในแนวดิ่งทำให้ AGL เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของออสเตรเลีย”

 

หลังจากบริษัท AGL ยกเลิกแผนแยกธุรกิจ Cannon-Brookes ทวีตข้อความว่า การตัดสินใจของ AGL ในการยกเลิกแผนแยกกิจการเป็น “วันที่ยิ่งใหญ่สำหรับออสเตรเลีย”

 

Cannon-Brookes กล่าวว่า แผนการแยกธุรกิจ เป็นบททดสอบสำหรับนักลงทุนที่มุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เนื่องจากการแยกธุรกิจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพอากาศของข้อตกลงปารีส

 

“หากคุณมีเลนส์ ESG ในบริษัทของคุณ คุณต้องลงคะแนนคัดค้าน สำหรับผมมันชัดเจน”

AGL2-768x511
ที่มาภาพ: https://www.agl.com.au/about-agl/how-we-source-energy/agl-macquarie

AGL ต้องเลิกใช้ถ่านหินภายในกลางปี 2030

 

Cannon-Brookes ยืนยันว่า AGL จำเป็นต้องปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงภายในกลางทศวรรษหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลกและสร้างผลกำไร[8]

 

Cannon-Brookes กล่าวว่า แผนปัจจุบันที่จะคงโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ใช้งานได้จนถึงปี 2040 จะไม่ทำกำไร

 

การตั้งเป้าหมายให้บริษัทปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2035 จะสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการพลังงานสะอาดที่สามารถทดแทนกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ได้

 

“การมีอุปทานมากขึ้นและสินค้าจำนวนมากขึ้น มีราคาไม่แพงมาก จะกลายเป็นกำไร ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำเช่นนั้น” Cannon-Brookes กล่าวและว่า สักประมาณช่วงปี 2030-2035 น่าจะเป็นไปได้”

อ้างอิง

[1] Business Times.2022. Billionaire’s AGL win jolts Australia awake to climate activism https://www.businesstimes.com.sg/companies-markets/billionaires-agl-win-jolts-australia-awake-to-climate-activism

[2] abcnews.2022. Who is Mike Cannon-Brookes: The billionaire tech entrepeneur who tried to buy Australia’s biggest energy provider AGL https://www.abc.net.au/news/2022-03-07/qld-mike-cannon-brookes-agl-takeover-bid-atlassian/100887666

[3] abcnews.2022. AGL’s biggest shareholder, Mike Cannon-Brookes, leaves open possibility of another takeover bid https://www.abc.net.au/news/2022-05-30/mike-cannon-brookes-agl-demerger-gone-new-takeover-bid-possible/101111274

[4] Climatechange News.2022. How a tech billionaire is forcing Australia’s coal die-hards to face the future https://www.climatechangenews.com/2022/05/06/how-a-tech-billionaire-is-forcing-australias-coal-die-hards-to-face-the-future/

[5] Reuters. 2022 Australia tycoon Cannon-Brookes’ firm Grok says talks going well with AGL board https://www.reuters.com/markets/deals/australia-tycoon-cannon-brookes-firm-grok-says-talks-going-well-with-agl-board-2022-06-08/

[6] Financial Times.2022 Tech billionaire wins activist fight against Australia’s biggest polluter https://www.ft.com/content/3eb3c42d-d740-460e-a8d8-a9f499f4f1ce

[7] The Coversation.2022. Australia’s biggest carbon emitter buckles before Mike Cannon-Brookes – so what now for AGL’s other shareholders? https://theconversation.com/australias-biggest-carbon-emitter-buckles-before-mike-cannon-brookes-so-what-now-for-agls-other-shareholders-183534

[8] Bloomberg.2022. Billionaire Cannon-Brookes Says AGL Must Quit Coal by Mid-2030s
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-15/billionaire-cannon-brookes-says-agl-must-quit-coal-by-mid-2030s

[9] ThaiPublica. Mike Cannon-Brookes นักเคลื่อนไหวสภาพภูมิอากาศ ใช้เลนส์ ESG กดดันโรงไฟฟ้าถ่านหินยักษ์ใหญ่สำเร็จ

แท็กที่เกี่ยวข้อง: