5 ปัจจัยสำคัญ ก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
18 สิงหาคม 2564
27.173k views
Inv_5 ปัจจัยสำคัญ ก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR_Thumbnail
Highlights

การลงทุนใน DR ไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนจากการถือครองสินทรัพย์ลงทุนภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ก่อนจะตัดสินใจกระจายการลงทุนไปต่างประเทศนั้น ต้องทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการลงทุนเสียก่อน

Depositary Receipt (DR) คือ ตราสารที่ถูกออกแบบมาให้นักลงทุนไทย สามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขายหุ้นต่างประเทศนั้นให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท โดยมีสัดส่วน 1 DR = หุ้นต่างประเทศ 1 หลักทรัพย์ ดังนั้น ผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งเดิม DR ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” แต่เพื่อเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ตราสาร DR สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ปรับปรุงคำนิยามของ DR เป็น “ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ การลงทุนใน DR อาจต้องพิจารณาปัจจัยที่แตกต่างจากการลงทุนในหุ้นหรือตราสารประเภทอื่น ๆ โดย 5 ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ มีดังนี้

 

1. หลักทรัพย์อ้างอิงของ DR

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า DR คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือหลักทรัพย์อ้างอิง สามารถเป็นได้ทั้งหุ้นหรือ ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR ทุกครั้ง จึงต้องพิจารณาว่าหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR ตัวนั้น เป็นหุ้นหรือ ETF เพื่อที่จะใช้หลักการพิจารณาที่เหมาะสมสำหรับตราสารประเภทนั้น ๆ โดยหากเป็นหุ้นก็สามารถใช้หลักการพื้นฐานในการพิจารณาเช่นเดียวกับหุ้น อาทิเช่น ดูความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ดูหนี้สินต่อทุน หรืออัตราส่วนราคาตลาดต่อกําไรต่อหุ้น (P/E Ratio) เป็นต้น แต่หากเป็น ETF ก็ต้องดูว่าเป็น ETF ประเภทใด มีโอกาสเติบโตมากน้อยเพียงใด และผู้ออก ETF เป็นใคร เป็นต้น

 

2. ความน่าเชื่อถือของผู้ออก DR

เนื่องด้วยการที่ผู้ออก DR เช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ จะเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศมาเก็บไว้ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของผู้ออก DR จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน โดยพิจารณาได้จากฐานะทางการเงิน อันดับเครดิต หรือชื่อเสียงของผู้ออก DR เป็นต้น

 

3. สภาพคล่องของ DR และหลักทรัพย์อ้างอิง

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ สภาพคล่องของ DR และหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งคล้ายคลึงกับการพิจารณาสภาพคล่องของการลงทุนในหุ้นหรือ ETF เพื่อที่จะพอทราบว่า DR ตัวนั้น มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการซื้อขายหรือไม่ ซึ่งผู้ออก DR อาจจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ การพิจารณาสภาพคล่องของหลักทรัพย์อ้างอิงมาประกอบ อาจบอกถึงประสิทธิภาพในการดูแลสภาพคล่องของผู้ออก DR (ในกรณีที่มีผู้ดูแลสภาพคล่อง) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของ DR อาจมีข้อจำกัดจากเวลาเปิดและปิดทำการของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในต่างประเทศที่หลักทรัพย์อ้างอิงนั้นจดทะเบียนอยู่ เวลาอาจไม่ตรงกัน ซึ่งอาจส่งผลให้สภาพคล่องของ DR ในช่วงเวลาดังกล่าว น้อยกว่าช่วงเวลาที่ทั้งสองตลาดหุ้นเปิดทำการพร้อมกันได้

 

4. ค่าธรรมเนียมของ DR และหลักทรัพย์อ้างอิง

ในการซื้อขาย DR ผ่านตลาดหุ้นไทยนั้น อาจแบ่งค่าธรรมเนียมได้เป็นสองส่วน คือ ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมมิชชั่น ซึ่งจะเหมือนกับการซื้อขายหุ้นทั่วไป โดยมีอัตราแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ที่นักลงทุนใช้บริการ และค่าธรรมเนียมที่ผู้ออก DR อาจเรียกเก็บ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญารับฝากหรือข้อกำหนดสิทธิ DR โดยจะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์อ้างอิงด้วยว่าหลักทรัพย์นั้นเป็นหุ้นหรือ ETF

แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ออก DR มักจะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการจัดการอีกต่อหนึ่ง เช่น DR E1VFVN3001 มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ กองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 ของเวียดนาม ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกในเวียดนาม ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสูง มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ โดยผู้ออก DR (บล.บัวหลวง) ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ซึ่งนักลงทุนจะเสียค่าธรรมเนียมการจัดการเพียงต่อเดียวที่เรียกเก็บโดย DCVFM ที่เป็นผู้ออก VN30 ETF ที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR ดังกล่าวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR โดยเฉพาะในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงของ DR เป็น ETF ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการโดยบริษัทผู้ออก ETF นั้น ในอีกมุมหนึ่งอาจเปรียบเป็นต้นทุนของการถือครอง DR ได้เช่นกัน

 

5. อัตราแลกเปลี่ยน

ด้วยการที่ DR สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้นไทยและไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จึงมีผลกระทบต่อราคาของ DR ด้วย นักลงทุนจึงควรพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่หลักทรัพย์อ้างอิงนั้นจดทะเบียนอยู่ โดยการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของหลักทรัพย์อ้างอิงจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา DR ในตลาดหุ้นไทยให้สูงกว่าหรือต่ำกว่า

ในบางช่วงเวลา นอกจากนี้ ค่าเงินทั่วโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงตามทิศทางการไหลเข้าหรือไหลออกของเงินในแต่ละประเทศ ดังนั้น DR ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินด้วยเช่นกัน

 

การลงทุนใน DR นั้น แม้มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากการลงทุนในหุ้น แต่โดยรวมแล้ว จะเห็นว่าหลักการลงทุนในภาพใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจลักษณะของตราสาร DR และติดตามการลงทุนตลอดเวลา

 

โดยปัจจุบันมี DR ที่นักลงทุนสามารถซื้อขายได้แล้วในตลาดหุ้นไทย คือ E1VFVN3001 ซึ่งออกโดย บล.บัวหลวง โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 คือ หุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม นักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bualuang.co.th/dr

 

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR เพื่อกระจายการลงทุน และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: