ปัจจุบัน นักลงทุนไทยนิยมลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวม RMF แต่ยังมีกองทุนรวมทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ กองทุนรวมน้ำมัน ด้วยเหตุผลที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกำลังเป็นขาขึ้น
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายที่ปรึกษาบริหารเงินลงทุน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำในเบื้องต้นว่า ก่อนลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน นักลงทุนควรรู้จักปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ดังนี้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน
1. Demand กับ Supplyปัจจัยด้าน Demand ในระยะสั้น จะมาจากความต้องการน้ำมันฟื้นตัวหลังวิกฤติ COVID-19 โดยการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ จะเป็นตัวเร่งราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังเป็นความหวังสำหรับการเติบโตและจะผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อไปได้
ขณะที่ Demand ในระยะยาว อาจชะลอตัวลงจากนโยบายพลังงานที่เปลี่ยนแปลง สู่ยุค Low-Carbon โดยเฉพาะการมาของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้ทั้งโลกกลับมาตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีนโยบายที่เน้นพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปจนถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 65% ภายในปี 2030 รวมถึง UN Global Compact เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็รณรงค์ให้ภาคธุรกิจร่วมกันตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Targets) ภายในปี 2050 ดังนั้น จะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันอย่างมหาศาล
นอกจากนี้ รายงานของ International Energy Agency (IEA) 2021 ระบุว่า การใช้พลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มลดลง และหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ รวมถึงคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2022 และหลังจากนั้นการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในระยะยาวจะชะลอตัวและเริ่มหยุดชะงัก ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2026 จะมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นสะสมประมาณ 60 ล้านคัน จากปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคัน เติบโตเกือบ 5 เท่า อีกทั้ง รูปแบบการทำงานที่จะเปลี่ยนไปหลัง COVID-19 จะเป็นการทำงานแบบ Teleworking มากขึ้น ทำให้สามารถทำงานทางไกลจากที่ไหนบนโลกก็ได้ ลดการเดินทาง เพราะฉะนั้นปริมาณความต้องการใช้น้ำมันก็จะลดลงเรื่อย ๆ
ในส่วนของ Supply การผลิต สานุพงศ์ กล่าวว่า มีประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ท่าทีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในการประชุมแต่ละรอบ เรื่องกำลังการผลิต หากราคาน้ำมันสูงขึ้น โอกาสที่จะผลิตน้ำมันออกมาเยอะขึ้นก็จะมีสูง เพราะคุ้มค่ากับการลงทุนและการผลิต ในขณะที่ ถ้าราคาปรับตัวลดลง ก็จะกดดันให้กลุ่มโอเปกพลัสผลิตน้อยลง จึงต้องดูท่าทีและทิศทางในการประชุมแต่ละรอบ
ต่อมาควรดูปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐอเมริกา และกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการผลิตน้ำมันด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ควรจับตามองอุตสาหกรรม Shale Oil & Gas ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในปีที่ผ่านมา โดนผลกระทบจาก COVID-19 หนักมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ปัญหาการจ่ายหนี้ ส่งผลให้การลงทุนในบ่อน้ำมันใหม่ ๆ ชะลอลงไป รวมถึงนโยบายการคว่ำบาตร (Sanction) อิหร่าน หากมีการลดการคว่ำบาตรลง เปิดโอกาสให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้ ทิศทางความต้องการผลิตน้ำมันก็จะเปลี่ยนไป
2. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลก ส่วนใหญ่จะซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน จะทำให้ราคาน้ำมันดูเหมือนจะแพงขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะมีผลในบางช่วงที่สหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่มีผลกระทบต่อค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนที่อยู่ในประเทศไทยจะต้องดูว่า “ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อบาทไทยมีทิศทางเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาว่า ในช่วงเวลานั้นจะต้องเลือกลงทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินด้วยหรือไม่ (Hedging)” สานุพงศ์ แนะนำ
3. ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากระทบเป็นบางช่วง ได้แก่
“3 ปัจจัยนี้ ตัวที่จะกำหนด Trend ของตลาดจริง ๆ ในระยะยาวว่าราคาน้ำมันควรจะเป็นอย่างไร คือ Demand กับ Supply ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยอื่น ๆ เป็นเหมือนสิ่งรบกวนต่อราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันปรับเปลี่ยนและเหวี่ยงไป จึงควรโฟกัสที่ Demand กับ Supply เป็นหลัก” สานุพงศ์ กล่าว
ทำความรู้จักกองทุนรวมน้ำมัน
กองทุนรวมน้ำมันในประเทศไทย ณ ขณะนี้ เป็นกองทุนรวม Feeder Fund ที่ไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ETF (กองทุนหลัก : Master Fund) โดยหลัก ๆ แล้ว จะมี 2 กองทุน ได้แก่
1. Invesco DB Oil Fund (DBO) เป็นกองทุนรวม ETF ที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate-Light Sweet Crude Oil (WTI) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง Deutsche Bank Liquid Commodity Index-Optimum Yield Crude Oil Excess Return
2. United States Oil Fund (USO) เป็นกองทุนรวม ETF ที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ West Texas Intermediate-Light Sweet Crude Oil (WTI) โดยเน้นลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อายุสั้นที่สุด
โดยกองทุนรวมน้ำมันจะนำเงินของนักลงทุนไปซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ โดยแต่ละสัญญาจะมีเดือนส่งมอบให้เลือกหลายเดือน ซึ่งส่วนมากกองทุนจะเลือกซื้อสัญญาเดือนใกล้ที่สุด เพราะมีสภาพคล่องสูง และเพื่อให้ราคาที่กองทุนถือใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันที่สุด โดยทุก ๆ เดือนเมื่อสัญญาที่กองทุนถืออยู่หมดอายุ กองทุนจะต้องขายเพื่อปิดสัญญาปัจจุบัน และไปลงทุนซื้อสัญญาของเดือนถัดไป หรือเรียกว่า การ Roll สัญญา หรือ Roll Yield เพื่อที่จะรักษาปริมาณการซื้อหรือป้องกันความเสี่ยงของกองทุนให้อยู่ในระดับเดิมต่อไป
ดังนั้น ทุก ๆ เดือนที่กองทุนต้องขายและซื้อสัญญาใหม่ จะส่งผลให้ผลตอบแทนเป็นบวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับส่วนต่างของราคาในเดือนถัดไปว่าสูงหรือต่ำกว่าเดือนปัจจุบัน หากราคาในเดือนถัดไปต่ำกว่าเดือนปัจจุบัน ก็จะมีกำไรจากการ Roll Yield เรียกว่า Positive Roll Yield เพราะขายสัญญาปัจจุบันที่ราคาสูง และไปเริ่มต้นทุนสัญญาใหม่ที่ราคาต่ำกว่า
สานุพงศ์ ยังได้อธิบายเพิ่มว่า ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ จะมีภาวะตลาดอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรก คือ ภาวะตลาดแบบ Contango เป็นภาวะที่ราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะสูงกว่าราคาส่งมอบ (Spot Price) ภาวะนี้ตลาดเป็นขาขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต่ำกว่าราคาส่งมอบ ภาวะนี้จะเรียกว่าตลาดแบบ Backwardation
“ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนหรือคนที่อยู่ในธุรกิจน้ำมัน มักจะมองว่า ในภาวะตลาดแบบ Contango ราคาน้ำมันในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดแบบ Backwardation ผู้เล่นที่อยู่ในตลาด มักจะมองว่าราคาน้ำมันในอนาคตควรจะปรับตัวลดลงมากกว่าราคาในปัจจุบัน ซึ่งแพงเกินไปเมื่อเทียบกับราคาในอนาคต” สานุพงศ์ เสริม
สมมติว่า กองทุนรวมไปถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI เดือนปัจจุบันที่ 65 เหรียญสหรัฐ และราคาของเดือนถัดไป คือ 64.50 เหรียญสหรัฐ หากกองทุนรวมขายปิดสัญญาที่ราคา 65 เหรียญสหรัฐ และซื้อกลับที่ 64.50 เหรียญสหรัฐในเดือนถัดไป จะทำให้กองทุนรวมมีต้นทุนใหม่ คือ 64.50 เหรียญสหรัฐ โดยหากราคาปรับตัวสูงขึ้นมาอีกครั้งเป็น 65 เหรียญสหรัฐเท่าเดิม กองทุนจะมีกำไรที่ 0.50 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8%
“เพราะฉะนั้นตลาดที่เป็น Backwardation จะเกิด Positive Roll Yield ขณะที่ ภาวะตลาดแบบ Contango หากไปซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบที่ราคาสูง และถือไปเรื่อย ๆ จะเกิดเป็น Negative Roll Yield ซึ่งจะมีผลกับต้นทุนในการเปลี่ยนสัญญา ดังนั้น ถ้านักลงทุนที่ต้องการถือกองทุนรวมน้ำมัน ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี กองทุนรวม Invesco DB Oil Fund (DBO) ก็จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า ขณะที่ หากต้องการลงทุนระยะสั้น ๆ ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับราคาส่งมอบ (Spot Price) มากที่สุด กองทุนรวม United States Oil Fund (USO) อาจตอบโจทย์มากกว่า” สานุพงศ์ ให้มุมมอง
หมายเหตุ : รายชื่อกองทุนรวมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนรวมน้ำมันที่มีในประเทศไทยเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมน้ำมันถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากลงทุนโดยขาดความเข้าใจ อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับพอร์ตลงทุนได้ ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลกองทุนรวมน้ำมัน โอกาส และความเสี่ยงจากการลงทุนให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุนจริง
สำหรับมือใหม่ที่สนใจเรียนรู้กระบวนการสร้างและบริหารพอร์ตการลงทุนด้วยกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้เงินออม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “สร้างพอร์ตกองทุนรวมแบบ DIY” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน