บลจ.กรุงศรี แนะทะยอยลงทุนหุ้น ESG สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ระยะยาว

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
20 มกราคม 2566
774 views
Thaipublica_ภาพปกกรุงศรี-01-768x512
Highlights

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

นักลงทุนสถาบันมีบทบาทมากขึ้นในกระแสความยั่งยืน แนวโน้มการลงทุนที่มุ่งดูแลโลกใบนี้ให้ดีขึ้น เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้นักลงทุนสถาบันได้ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี เป็นอีกหนึ่งนักลงทุนสถาบันที่ส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่มุ่งในด้าน ESG (environment, social, governance) โดยมีเป้าหมายสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับลูกค้า

 

นายวิพุธ เอื้ออานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในกิจการ ESG มีมานานแล้ว เริ่มต้นมาจาก G ธรรมาภิบาลก่อน เพราะการกำกับกิจการที่ดีเป็นพื้นฐานของ S และ E ด้วย บริษัทไหนที่มีการกำกับกิจการที่ดี สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งในระยะหลัง ESG เป็นแนวโน้มที่มาแรงและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งสภาวะการลงทุนในปัจจุบันก็เอื้อต่อการลงทุนที่นำ ESG มาใช้ เนื่องจากการลงทุนมีความผันผวน ความไม่แน่นอนสูงขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป หรือการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดดิสรัปชันบางธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยให้การลงทุนมีความจำเป็นต้องใช้ปัจจัย ESG มาคัดเลือกและตัดสินใจลงทุน

 

“บลจ.กรุงศรี เชื่อว่าการลงทุนการในกิจการที่มุ่งในด้าน ESG ที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จะสามารถสร้างกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน หมายความว่าเราก็คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนจากการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG แม้ว่าการลงทุนประเภทนี้จะไม่ตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนแบบฉาบฉวย แต่การลงทุนลักษณะ ESG เป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าการซื้อขายรายวัน

 

หลักเกณฑ์การคัดเลือกกิจการที่จะเข้าลงทุนนั้น จะมีองค์ประกอบในการพิจารณา โดยมี ESG Policy ในการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 พิจารณาคะแนนด้าน ESG Score ร่วมกับปัจจัยเชิงคุณภาพและปัจจัยเชิงปริมาณอื่นๆ โดย ESG Score จะมีการประเมินและทบทวนทุกปี พร้อมทั้งติดตามจากรายงานประจำปี โครงสร้างกรรมการ การให้คะแนน ESG ของสถาบันไทยพัฒน์ เป็นต้น รวมทั้งการส่งแบบสอบถามด้าน ESG ไปยังทุกกิจการที่ลงทุน และนำข้อมูลที่ตอบกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่ให้ ESG ด้วย รวมทั้งหากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ESG อย่างมีนัยสำคัญ ก็จะมีการทบทวนและปรับคะแนนด้าน ESG ให้เป็นปัจจุบัน นอกเหนือจาก ESG แล้ว ยังมีการพิจารณามิติอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทด้วย

 

”บริษัทมีกระบวนการติดตามการดำเนินงานและผลประกอบการ ของกิจการที่บริษัทเข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ การบริหารของกิจการที่เราลงทุนไว้ สามารถนำไปสู่ผลที่ต้องการ และปฏิบัติได้ตามหลัก ESG ได้ ถ้าในกรณีที่พบประเด็นข้อสังเกตหรือข้อกังวลด้าน ESG กับบริษัทที่ลงทุนอยู่ ก็จะเข้าพบและสอบถามเกี่ยวกับประเด็นข้อสังเกตหรือข้อกังวลดังกล่าว ให้มีการชี้แจงประเด็นเหล่านี้ หากไม่ประสบความสำเร็จในการพบหรือเจรจาต่างๆ ก็จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามประเด็นเหล่านี้ เช่น อาจจะแจ้งประเด็นข้อสังเกตหรือข้อกังวลอย่างเป็นทางการ หรือร่วมมือกับนักลงทุนสถาบันรายอื่น ในการขอรับคำชี้แจงจากบริษัท”

 

พร้อมกล่าวว่า “บางรายก็มีการเพิกเฉยต่อเรื่อง ESG ไม่ได้มีการพิจารณาดำเนินการตามหลักการ ก็มีการระงับการลงทุนในบริษัทนั้น แต่ต่อมาเขาได้มีการแก้ไข ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น เมื่อเกิดเหตุที่เกี่ยวกับ ESG ขึ้น บริษัทส่วนใหญ่จะตอบสนอง ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุ พร้อมแนวทาง นโยบายอย่างไรที่จะไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำซ้อน

 

นายวิพุธกล่าวว่า การที่กิจการต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากหลายด้าน เช่น พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ระยะหลังจะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับ ESG เพิ่มขึ้น ต้องการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนับสนุน

 

ขณะเดียวกัน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ได้ผลักดันให้บริษัทสมาชิกมีการลงทุนในกิจการที่ดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สมาชิกสมาคมฯ ตระหนักดีว่าถ้ากิจการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมดีด้วย สมาชิกทุกรายจึงเห็นความสำคัญและพร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันการลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับ ESG

 

เมื่อถามว่าจะไปถึงบทบาทในฐานะ acitivist investor ได้หรือไม่ นายวิพุธกล่าวว่า “ก็มีความตั้งใจ เพราะการลงทุนในกิจการที่มุ่ง ESG นอกจากได้รับผลตอบแทนที่ดีแล้ว บลจ.กรุงศรี ต้องการส่งเสริมให้บริษัทที่เราลงทุนได้ดำเนินกิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี และนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ดีด้วย เป็นการจัดสรรทรัพยากรไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เชื่อว่านักลงทุนสถาบันจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการ ESG มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน”

 

นายวิพุธกล่าวว่า เท่าที่ติดตามดู มีบริษัทให้ความสนใจ ESG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสัญญาณที่ดีว่ามีบริษัทไทยให้ความสำคัญกับ ESG ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ดูได้จากการจัดอันดับหุ้นยั่งยืน มีบริษัทที่ได้คะแนนเรื่องนี้ในระดับที่ดีเพิ่มขึ้น ส่วนผลตอบแทนที่ได้รับแม้จะช้า ไม่ฉาบฉวย แต่ในแง่ความเสี่ยงก็น้อยด้วย เพราะหุ้นที่ราคาฉาบฉวยความเสี่ยงก็มากกว่า ราคาขึ้นเร็ว เวลาลงก็แรง แต่การลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญกับ ESG แน่นอนว่าจะเป็นกิจการที่มีการบริหารความเสี่ยงด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะโดนต่อต้านจากสังคมและถูกฟ้องร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับด้านนี้ ฉะนั้น ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่า ส่วนผลตอบแทนคงต้องดูเป็นกรณีไป หุ้น ESG จึงน่าจะเป็นการลงทุนหลักมากกว่า

 

ทางด้านนายจาตุรันต์ สอนไว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กรุงศรี กล่าวเสริมว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโรคระบาดโควิด-19 มีปัจจัยเร่งหลายอย่างที่ทำให้คนมีการตระหนักรู้เรื่อง ESG มีความสงสัย มีคำถามว่า ESG คืออะไร โดยกองทุนที่กรุงศรีฯ ออกและชูเรื่อง ESG เด่นๆ มี 2 กอง เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท feeder fund คือ กรุงศรี Equity Sustainable Global Growth-สะสมมูลค่า (KFESG-A) ตัวนี้ชัดที่สุด แล้วก็ กรุงศรี ESG Climate Tech-สะสมมูลค่า (KFCLIMA-A) ด้าน Climate Change ซึ่งในอีกมิติ หุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือในกลุ่มประเทศยุโรป ถ้าดูรายบริษัทจะมีการชูการทำธุรกิจที่มีความตระหนัก และมีส่วนร่วมในเรื่องการพัฒนาสังคม หรือ ESG เพิ่มมากขึ้น บริษัทเหล่านี้จะกระจายอยู่ในพอร์ตทั่วไป เช่น กอง Tech ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้า ทั้ง 2 กองทุน

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลังจากต้นปีที่ผ่านมา การลงทุนใน ESG เริ่มลดลงจากปัญหาสงครามยูเครน และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ในสภาวะที่ตลาดอยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนต้องรักษาเงินทุนตัวเองก่อน การจะรักโลก รักสังคม หรือรับผิดชอบต่อสังคม กลายเป็นเรื่องรองลงมา ทำให้การลงทุน ESG ที่ควรจะเป็น core port หรือการลงทุนหลัก และเป็นการลงทุนระยะยาวลดลง

 

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่ากอง ESG ยังน่าลงทุน ควรเป็น core port และทยอยลงทุนสะสมไปเรื่อยๆ เป็นการลงทุนระยะยาว เพราะพบว่าบริษัทที่เน้นเรื่อง ESG มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ในระยะยาวดีกว่าบริษัททั่วไปที่ไม่ทำอยู่แล้ว รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป คนรุ่นต่อไปเริ่มแคร์ในโลกต่อไปของเขา คนรุ่นเราก็แคร์โลกในรุ่นที่ลูกเราอยู่ในอนาคต แคร์ว่าโลกจะเป็นอย่างไรถ้าไม่รักษาโลกไว้ เทรนด์นี้เริ่มมา เราเห็นคนรุ่นใหม่ไม่ดื่มกาแฟที่สร้างปัญหาขยะ ความตระหนักรู้พวกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็น snow ball แม้จะยังไม่สามารถตอบได้ว่าเริ่มมี impact บ้างแล้วหรือไม่ แต่ในระยะยาวการเริ่มลงทุนก่อนดีกว่าเสมอ ฉะนั้น ในอนาคตถ้าหมดเรื่องตลาดขาลง การออกกองทุนครั้งต่อไปก็มีการพิจารณาว่าจะออกกอง ESG เพื่อฟีดไปลงทุนในต่างประเทศที่เน้นเรื่องนี้ด้วย”

 

สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน นายจาตุรันต์กล่าวว่า ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางด้านผลกระทบด้านลบ ราคาน้ำมันสูงขึ้น ประเทศในกลุ่มยุโรปต้องกลับไปใช้ถ่านหินเพราะไม่มีทางเลือกและราคาถูกกว่า เพราะผู้นำประเทศต้องเอาเรื่องความอยู่รอด เรื่องปากท้องของประชาชน หรือเรื่องเศรษฐกิจมาก่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มองว่าเป็นเรื่องระยะสั้น ในทางกลับกัน ข้อดีคือคนมี awareness ในเรื่องนี้มากขึ้นเพราะรู้ตัวแล้วว่าต้องพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียมากขนาดไหน ก็มีการเริ่มลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น

 

แต่สิ่งที่สะดุดอย่างที่สอง คือเรื่องวัตถุดิบ โดย renewable energy หรือพลังงานหมุนเวียน ต้องใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ทองแดง ที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ลิเทียม โคบอลต์ นิเกิล ซิงก์ เป็นต้น พวกนี้ยังมีอยู่ในช่วงราคาที่ปรับขึ้นทั่วโลก พวกนี้เป็นปัจจัยทำให้การเร่งไปใช้พลังงานทางเลือกไม่เร็วกว่าคาดการณ์ไว้ เพราะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ค่อนข้างเยอะ แม้ทุกคนอยากจะหันไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น แต่ไม่มีทรัพยากรให้ และเป้าหมายของสหรัฐฯ และยุโรปที่จะลดคาร์บอนให้ได้ในปี 2050 ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการเลื่อนออกไปหรือไม่

 

นายจาตุรันต์กล่าวว่า สงครามยูเครนยังทำส่งผลกระทบต่อดีมานด์อีกด้วย เพราะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จนเฟดต้องดึงสภาพคล่องออกและขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เม็ดเงินที่เคยกระจายมาลงทุนในหุ้นที่รับผิดชอบต่อสังคมจะถูกขายออกก่อน ทำให้เงินไหลออกจากหุ้นกลุ่ม ESG แต่ก็เชื่อว่าจะกลับมา เพราะหุ้นกลุ่มนี้เป็นการลงทุนกลุ่มหลัก

 

“อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่สะดุดเรื่องสภาพคล่อง เรื่องสงคราม ผมว่าเม็ดเงินกำลังไหลมาในกลุ่มหุ้นยั่งยืน เพราะจากข้อมูลบริษัทที่ไปลงทุน พบว่า การลงทุน ESG ทั่วโลกปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินถึง 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับ climate change ประมาณ 17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 19% ในจำนวนนี้ Research Paper ของ JP Morgan รายงานว่าเป็นหุ้นกลุ่ม energy transition หรือพลังงานสะอาด ปีล่าสุดขึ้นมา 750,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนใน renewable energy จำนวน 360,000 ล้านเหรียญ อีก 390,000 ล้านเหรียสหรัฐ ลงใน energy storage ที่มีทั้งโรงไฟฟ้าแบบใหม่ หรือ smart grid หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีด้านนั้น นี่เป็นเงินลงทุนฝั่งประเทศพัฒนแล้ว ส่วนฝั่งกลุ่มประเทศเอเชียเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาเป็น 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 3 ปีก่อนหน้าที่มีเม็ดเงินลงทุนเพียง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า คือถ้ากระตุ้นจุดนี้ได้ ไทยจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนได้”

 

อย่างไรก็ตาม นายจาตุรันต์กล่าวว่า เรื่อง ESG นั้นพูดได้หลายมิติมาก อย่างกรณีรถไฟฟ้าเทสลา ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อน สามารถลดคาร์บอนได้จริง แต่กระบวนการทำลายแบตเตอรี่ก็ถือว่าเป็น toxic และวิธีการทำลายก็สร้างมลพิษภายหลังอยู่ดี หรือเรื่องเขื่อน ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดแน่นอน ไม่มีคาร์บอนออกมาเลย แต่ป่าที่ถูกทำลาย หรือสัตว์น้ำ หรือสังคมที่ถูกกระทบ จึงเป็นเรื่องที่พูดยาก ดังนั้น ในพอร์ตการลงทุนพอร์ตหนึ่ง ผู้จัดการกองทุนอาจจะบอกว่าเป็น ESG Combinded แต่บางคนบอกว่าไม่ใช่ การลงทุนจึงต้องเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดของผู้ลงทุน

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. บลจ.กรุงศรี แนะทะยอยลงทุนหุ้น ESG สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ระยะยาว

แท็กที่เกี่ยวข้อง: