เรื่องควรรู้สายเทคนิคมือใหม่

โดย สมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
3 Min Read
11 สิงหาคม 2564
20.364k views
Inv_เรื่องควรรู้สายเทคนิคมือใหม่_Thumbnail
Highlights
  • การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นการศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้นในอดีต เพื่อนำมาคาดการณ์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอนาคต โดยมีความเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ” ตามอารมณ์ของมนุษย์ที่มีทั้งความโลภ ความกลัว และความหวัง ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาที่จะสะท้อนไปยังราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น

  • หากเราเข้าใจหลักการและสามารถเลือกใช้ “เครื่องมือทางเทคนิค” ได้อย่างเหมาะสม แม่นยำ จะสามารถเอาตัวรอดจากความผันผวนในตลาดหุ้น และมีโอกาสทำกำไรได้

ปัจจุบันการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อใช้ลงทุนในหุ้นมีการแพร่หลายอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Indicator เพื่อใช้วิเคราะห์แล้วตัดสินใจว่าควรลงทุนหรือไม่ เรียกรวม ๆ ว่าเป็นเครื่องมือทางเทคนิคแบบ Follow คือ เห็นว่าเป็นอย่างไรก็ทำตามนั้น เช่น เห็นเป็นสัญญาณซื้อก็เข้าซื้อ เห็นเป็นสัญญาณขายก็ต้องขาย ณ เวลานั้น

 

บนหลักการของการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะให้ความสำคัญกับสัญญาณทางเทคนิคที่เกิดกับหุ้นตัวนั้น โดยหุ้นที่มีสัญญาณบวก คือ หุ้นที่นักลงทุนเลือกลงทุน และการลงทุนด้วยสัญญาณทางเทคนิคสามารถแบ่งระยะของการลงทุนออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามแต่ละชนิดของเครื่องมือที่นำมาใช้วิเคราะห์เพื่อความเหมาะสม ตรงตามความต้องการของนักลงทุน ซึ่งในทางทฤษฎีของการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะใช้การวิเคราะห์อยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน

 

1. การ Forecast โดยยึดการวิเคราะห์ตามทฤษฎีคลื่นเอลเลียต (Elliott Wave) เพื่อหาเป้าหมายของทิศทางราคาหุ้นที่สนใจ ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อกำหนดระยะเวลาของการลงทุนระยะกลางถึงระยะยาว

 

2. การ Follow โดยใช้วิธีการอ่านค่าของ Indicators ต่าง ๆ เพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนระยะสั้น อาจเป็นการเล่นตามทิศทาง (Trend Following) คือ การที่หุ้นขึ้น เท่ากับ ซื้อ และหุ้นลง เท่ากับ ขาย หรือการลงทุนสวนทิศทาง (Counter Trend) คือ การที่หุ้นขึ้น เท่ากับ ขาย และหุ้นลง เท่ากับ ซื้อ

 

สำหรับนักลงทุนสายเทคนิคมือใหม่ ควรใช้เครื่องมือ Indicators ในรูปแบบ Follow คือ เห็นสัญญาณทางเทคนิคแล้วทำตามสัญญาณที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น เพราะเป็นเครื่องมือที่เรียนรู้ เข้าใจง่าย และใช้งานได้ไม่ยาก โดยมี 5 เครื่องมือ ดังนี้

 

1. เส้นแนวโน้ม (Trend Line) คือ การตีเส้นตรงด้วยการกำหนดจุด 2 จุด แล้วตีเส้นเชื่อมเข้าหากัน เพื่อให้รู้ทิศทางความเคลื่อนไหวว่าราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ในแนวโน้มใด ขึ้นหรือลง ถ้าเส้นตรงมีลักษณะเฉียงขึ้น แปลว่า หุ้นอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) สามารถซื้อได้ ตรงกันข้าม ถ้าเส้นมีการเฉียงลง แปลว่า หุ้นอยู่ในแนวโน้มขาลง (Downtrend) ซึ่งเป็นหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีโอกาสขาดทุน

 

นอกจากนี้ หากไม่รู้ว่าหุ้นจะไปในทิศทางใดและเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ๆ เรียกว่า Sideways แปลว่า ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้นจะปรับขึ้นหรือปรับลง ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

 

2. เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) เป็นเครื่องมือที่คล้ายกับเส้นแนวโน้ม แต่สามารถเลือกระยะเวลาการลงทุนเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ด้วยตัวเลขที่ใช้ เช่น เส้นค่าเฉลี่ย 5 วัน และ 10 วัน เป็นตัวแทนการลงทุนระยะสั้น ขณะที่เส้นค่าเฉลี่ย 25 วัน หรือ 75 วัน เป็นตัวแทนการลงทุนระยะกลาง และเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน เป็นตัวแทนการลงทุนระยะยาว

 

โดยเส้นค่าเฉลี่ยที่ใช้จะมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งแบบถ่วงน้ำหนักเท่า ๆ กัน (Simple Moving Average : SMA) หรือถ่วงน้ำหนักไม่เท่ากัน หรือถ่วงน้ำหนักให้วันปัจจุบันมีน้ำหนักมากกว่าวันที่ไกลออกไป (Exponential Moving Average : EMA) เป็นต้น

 

3. MACD เป็นเครื่องมือที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาหุ้น และสามารถวัดระดับได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีภาวะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ซึ่งตัวที่ใช้วัดระดับ คือ ค่าศูนย์ โดยหากตัวเลข MACD มากกว่าศูนย์ แปลว่า หุ้นกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขาขึ้นระยะปานกลาง แต่หากมีค่าต่ำกว่าศูนย์ แปลว่า หุ้นกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขาลง

 

โดยหากนักลงทุนจะซื้อหรือขายก็ให้ดูที่ความสัมพันธ์ของเส้น MACD กับเส้นค่าเฉลี่ยของ MACD (Signal Line) โดยหากเส้น MACD มีการตัดขึ้นหรือยืนเหนือเส้น Signal Line ถือเป็นสัญญาณของการเข้าซื้อ แต่ถ้าเส้น MACD มีการตัดลงหรืออยู่ต่ำกว่าเส้น Signal Line ก็เป็นสัญญาณของการขาย

 

4. RSI เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้วัดการแกว่งตัวของราคาหุ้น เพื่อดูสภาวะการซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือขายมากเกินไป (Oversold) ซึ่ง RSI จะวิ่งอยู่ระหว่าง 0 – 100 โดยใช้ระดับเหนือ 70 เพื่อบอกสภาวะที่หุ้นมีการซื้อมากเกินไป (เตือนว่าหุ้นมีโอกาสถูกขายทำกำไรออกมา) และระดับต่ำกว่า 30 เพื่อบอกสภาวะที่หุ้นมีการขายมากเกินไป (เตือนว่าราคาหุ้นปรับลดลงมามากและมีโอกาสที่ราคาจะปรับขึ้นไปได้)

 

นอกจากนี้ การดู RSI ยังสามารถใช้เตือนการปรับเปลี่ยนทิศทางอย่างมีนัยสำคัญ หมายถึง จะมีการเปลี่ยนทิศทางจากทิศทางเดิมเป็นอีกทิศทางหนึ่งที่ตรงข้ามกัน เช่น เดิมเป็นขาขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นขาลง หรือเดิมเป็นขาลงก็จะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ด้วยสัญญาณที่เรียกว่า Divergence

 

5. Stochastic เป็น Indicator ที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับ RSI แต่ใช้ในการวิเคราะห์สัญญาณซื้อ และสัญญาณขายในภาวะที่หุ้นเคลื่อนไหวในโครงสร้าง Sideways โดยสามารถบอกสภาวะการซื้อมากเกินไป ด้วยค่า 80% ขึ้นไป ของเส้น %K และบอกสภาวะขายมากเกินไปด้วยค่า 20% ลงมา ของเส้น %K ขณะที่สัญญาณการซื้อจะดูจากเส้น %K ตัดขึ้นหรือยืนเหนือเส้น %D และสัญญาณขายจะดูจากเส้น %K ตัดลงหรือต่ำกว่าเส้น %D

 

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือทางเทคนิคแต่ละประเภทจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เครื่องมือตัวใดจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เลือกนำไปใช้วิเคราะห์หุ้น เช่น ถ้าเป็นขาขึ้นที่ชัดเจน การใช้เครื่องมือประเภท Trend Following ได้แก่ Trend Lind, Moving Average หรือ MACD จะให้ผลลัพธ์ที่ดี ตรงกันข้าม หากเป็นช่วงที่กำลังจะสิ้นสุดขาลงหรือขาลง เครื่องมือประเภท Counter Trend ได้แก่ RSI และ Stochastic จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังนั้น นักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลและทดลองใช้เครื่องมือแต่ละประเภทให้คล่อง หากทำได้ก็จะเลือกหุ้นลงทุนได้ถูกต้อง และหากมีจังหวะการลงทุนที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจ

 

สำหรับมือใหม่ที่สนใจเรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิค เพื่อกำหนดจังหวะการลงทุน ทั้งจุดซื้อ จุดขาย และจุดทำกำไร เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการลงทุนในสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจกราฟเทคนิค” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้หลักการและการใช้กราฟเทคนิคในการวิเคราะห์หุ้นด้วยตนเองง่าย ๆ ผ่าน Settrade Technical Chart เพื่อเป็นตัวช่วยในการลงทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “จับจังหวะลงทุน ด้วย Technical Chart” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: