หากพิจารณาความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้น พบว่ายังมีความผันผวนและส่งผลต่อการวางกลยุทธ์ลงทุน จึงเริ่มมีคำถามจากนักลงทุนว่า หากลงทุนหุ้นไทยในระยะยาวแล้ว “หุ้นปันผล” เป็นคำตอบที่น่าสนใจหรือไม่ แน่นอนว่า น่าสนใจ เพราะนอกจากหุ้นปันผลจะช่วยลดความผันผวนด้านราคาของพอร์ตลงทุนแล้ว ยังสร้างกระแสเงินสดให้กับพอร์ตลงทุนในระยะยาวอีกด้วย
โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 ปีย้อนหลัง (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคมของปี 2559 - 2563) พบว่า หุ้นทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.04%, 2.70%, 3.22%, 3.14% และ 3.32% ต่อปี ตามลำดับ ดังนั้น หุ้นปันผล คือ หุ้นที่มีกำไรและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ในอัตราผลตอบแทนที่น่าประทับใจ
สำหรับเทคนิคเบื้องต้นในการเลือกหุ้นปันผลให้ได้ผลดี สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP® ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย แนะนำว่าให้พิจารณาจากผลประกอบการและผลกำไรของบริษัท
1. ผลประกอบการลักษณะที่ดี คือ
ยอดขายดี ดูได้จากตัวเลขยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับยอดขายในอดีต ซึ่งยอดขายนี้ก็จะสะท้อนการเติบโตของรายได้และส่งผลต่อกำไรของบริษัทอีกด้วย นอกจากนี้ ยังต้องดูสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทว่ายังคงมาจากธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่องหรือไม่
กระแสเงินสดบวก หลาย ๆ ครั้ง จะได้ยินคำว่า “ขายดีแต่ขาดทุน” ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงต้องเป็นบวกอยู่เสมอ เพราะแสดงว่า กิจการมีเงินสดรับจากการดำเนินงานมากกว่าจ่าย โอกาสที่ขายดีแต่ขาดทุนก็จะลดลง
หนี้สินน้อย ดูได้จากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ซึ่งปกติแล้ว ตัวเลขอัตราส่วนนี้จะอยู่ประมาณ 1 - 2 เท่า ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้น D/E Ratio ยิ่งน้อย ยิ่งดี
2. ผลกำไรลักษณะที่ดี คือ
มีกำไรต่อเนื่อง ดูได้จากบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุน และควรดูย้อนหลัง 3 - 5 ปี เพื่อดูความต่อเนื่องของกำไร
กำไรสะสมโตและจ่ายปันผล ดูจากกำไรที่โตต่อเนื่อง เมื่อบริษัทจัดสรรกำไรสุทธิแล้วจะแบ่งเป็นจ่ายปันผลออกมา กับ เก็บไว้ในกำไรสะสม “ซึ่งแปลว่า หุ้นปันผลที่ดีควรจ่ายปันผลจากกำไรสุทธิในปีนั้น ๆ และไม่ได้จ่ายจากกำไรสะสม กล่าวคือ ปันผลที่จ่าย ควรจ่ายจากการทำมาหาได้ในปีนั้น ๆ และไม่ไปดึงกำไรสะสมมาจ่าย จึงถือว่าเป็นการจ่ายปันผลที่ดี” สุนิติ กล่าว
อัตราเงินปันผลจ่าย (Dividend Payout Ratio) เป็นอัตราเงินปันผลจ่ายเทียบกับกำไรสุทธิในปีนั้น ๆ ซึ่งควรใช้ตัวเลขในอดีตที่มีการจ่ายปันผลเกิดขึ้นจริง ไม่ได้ดูจากนโยบายการจ่ายปันผลที่จะระบุอัตราเงินปันผลจ่ายซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำ และอาจจะจ่ายเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น
“อัตราเงินปันผลจ่ายที่ดีควรจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิในปีนั้น ๆ เพื่อสะท้อนว่ากิจการเน้นจ่ายปันผล” สุนิติ กล่าว
สำหรับตัวเลขผลการดำเนินงานสามารถหาดูได้จากแบบรายการข้อมูลประจำปี ที่เรียกว่า “แบบ 56-1” ซึ่งเป็นรายงานการเปิดเผยข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นทุกปี และมีการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (www.set.or.th)
สำหรับนักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนและกำลังมองหาหุ้นปันผล สุนิติแนะนำว่าให้ใช้เครื่องมือช่วยกรองผ่านดัชนีหุ้นเน้นจ่ายเงินปันผล 30 หุ้น หรือดัชนี SETHD ซึ่งมีเงื่อนไขในการคัดกรองหุ้นปันผลเข้ามาในดัชนี ดังนี้
1. เป็นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลดี 30 ลำดับแรกของตลาดหุ้นไทย โดยดูจากค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล
“ถามว่าหุ้น 30 ตัว ที่อยู่ในดัชนี SETHD จ่ายปันผลอยู่ในระดับเท่าไหร่ ก็ต้องดูที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยของดัชนี SETHD ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 พบว่าอยู่ที่ 4.14%, 3.91%, 4.96%, 5.32% และ 6.34% ต่อปี ตามลำดับ ดังนั้น การเลือกหุ้นปันผลจากดัชนี SETHD ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการค้นหาหุ้นปันผลดีได้” สุนิติ แนะนำ
การลงทุนในหุ้น ไม่มีข้อกำหนดว่าซื้อขั้นต่ำเท่าใด ทำให้การทยอยซื้อหุ้นแบบ DCA ค่อย ๆ สะสมหุ้นปันผลไว้ เพื่อสร้างกระแสเงินสดสามารถทำได้และเริ่มได้ทันที และ “วิธีการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สร้าง Passive Income ก็มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ เพื่อเน้นกระแสเงินสดคงที่ และอีกหนึ่งในวิธีการได้ Passive Income คือ หุ้นปันผล” สุนิติ กล่าวทิ้งทาย
หากนักลงทุน ต้องการดูสถิติอัตราการจ่ายปันผลย้อนหลังหลาย ๆ ปี เป็นสิ่งที่ช่วยพิจารณาในการเลือกหุ้นปันผลได้ แต่ก็ต้อไม่ลืมว่า การจ่ายปันผลในอดีตไม่สามารถการันตีปันผลอนาคต เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน นักลงทุนสามารถศึกษาหุ้นปันผลและประมาณการอัตราการจ่ายปันผลหุ้นรายตัวจากนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับนักลงทุน >> คลิกที่นี่
และสำหรับผู้ที่สนใจอยากคัดกรอง “หุ้นปันผล” ด้วยตนเอง เพื่อไว้สร้างกระแสเงินสด สามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียง 250 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!
หรือผู้ที่สนใจ อยากรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นที่น่าสนใจลงทุนด้วยตนเอง ผ่านโปรแกรม SETSMART ตลอดจนเข้าใจลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวิเคราะห์หุ้นในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening & Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน