สิงห์ เอสเตท กับ ‘วิถี PRIDE’ สร้างสมดุล ‘ต้นทุน-ESG Smart Way’

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
30 มกราคม 2566
1.452k views
Thaipublica_สิงห์-เอสเตท-กับ-‘วิถี-PRIDE-03-768x511
Highlights

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ปัจจุบัน ESG เป็นประเด็นหลักในอันดับต้นๆที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะผลกระทบต่อผู้เล่นด้านอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญและมีหลายแง่มุม ส่งผลให้ ESG มีบทบาทสำคัญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานประจำวัน เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

Highlights

แนวทาง ESG ของ ‘สิงห์ เอสเตท’ มุ่งเน้นไปที่การฝังความยั่งยืนลงในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ขั้นวางกลยุทธ์ธุรกิจ วางพิมพ์เขียว การก่อสร้าง ไปจนถึงขั้นตอนบริการต่างๆ ผ่าน 4 ธุรกิจ คือ (1) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัย (2) ธุรกิจโรงแรม (3) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าและอาคารสำนักงาน และ (4) ธุรกิจเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (infrastructure)

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า บริษัทพัฒนาธุรกิจบนพื้นฐานของปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืนเมื่อช่วงปี 2557 หรือประมาณ 8 ปีก่อน เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยนำความยั่งยืนมาปรับใช้กับการก่อสร้าง เพราะโดยธรรมชาติของกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องพึ่งพิงสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันธุรกิจโรงแรมก็ใช้ประโยชน์จากความสวยงามของธรรมชาติ ดังนั้น การก่อสร้างทุกครั้งจะมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสมอ

 

“วันนี้ ESG ไม่ใช่ทางเลือกว่าใครจะทำหรือไม่ทำ แต่สำหรับภาคธุรกิจ ESG ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ 3 แกน เป็น commitment ที่ทุกภาคส่วนต้องทำและร่วมมือกันตั้งแต่ภายในถึงพนักงาน คือพนักงาน ผู้บริหาร คณะกรรมการต่างๆ จนถึงผู้ถือหุ้นและ stakeholder ไม่ว่าธนาคาร ลูกค้า คู่ค้า ในทุกหน่วยธุรกิจ”

 

ขณะที่เป้าหมายใหญ่คือการร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) แต่ระหว่างทางก็วางแผนกลยุทธ์การพํฒนาอย่างยั่งยืนระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) และได้จัดทำ “จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ” หรือ “supplier code of conduct” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้คู่ค้าใช้เป็นแนวปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานสิงห์ เอสเตท

 

ผลลัพธ์คือบริษัทได้รับเลือกให้เป็น “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และยังรักษาระดับคะแนนการประเมินรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report — CGR) ที่ระดับ 5 ดาว สิงห์ เอสเตท ผนวกแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไว้ในทุกธุรกิจหลักและตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของ วิธีการฝัง ESG (environment, social, governance) ให้อยู่ในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มนับว่าน่าสนใจและจะเป็นบทเรียนให้แก่ธุรกิจอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติตาม

Thaipublica_ฐิติมา-รุ่งขวัญศิริโรจน์-01-768x511
นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท

ปลุกจิตสำนึกรักทะเล สร้างอสังหาฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นางฐิติมาเล่าว่า สิ่งแวดล้อม (environment) เป็นประเด็นสำคัญของการดำเนินธุรกิจ เห็นได้ชัดจาก ‘ธุรกิจโรงแรม’ ของบริษัทที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในรูปแบบ resort desination ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล’ ผ่านโครงการ “SeaYouTomorrow : ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ” โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และร่วมมือกับบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บริษัทในเครือ

Highlights

“ดร.ชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริหารของเรา เคยพูดหลายครั้งว่าเราจะสร้างโรงแรมให้สวยอย่างไรก็ได้ ใช้เวลาสร้างให้เสร็จเมื่อไรก็ได้ แต่เราสร้างธรรมชาติที่สวยงามเองไม่ได้ เราจึงให้ความสำคัญกับการรักษาความสวยงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใส่ใจต่อผลกระทบต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจากเราเอง ผู้รับเหมา และเมื่อก่อสร้างเสร็จก็ต้องมีมาตรฐานที่ได้รับการรองรับจากหน่วยงานต่างๆ”

ยกตัวอย่างการสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล (MDC — Marine Discovery Centre) ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยปัจจุบัน MDC มีอยู่ 2 แห่งคือที่ ‘ครอสส์โรดส์’ (CROSSROADS) ในมัลดีฟส์ และ ‘SAii Phi Phi Island Village’ ที่เกาะพีพี จังหวัดภูเก็ต

 

ในปี 2565 บริษัทได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก กลุ่มปลาฉลาม ใช้ MDC ณ โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ เป็นพื้นที่ในการศึกษาและอนุบาล “ฉลามกบ” 

 

“การถ่ายทอดความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราอยู่ในพื้นที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือเรื่องสิ่งแวดล้อมจากนักท่องเที่ยวหรือแขก เราก็พยายามฝังเรื่องนี้เข้าไปให้เขาเข้าใจ”

 

นอกจากนี้ การสร้าง MDC ยังสร้างประโยชน์ถึงสาธารณชนและชุมชน ในฐานะกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) อีกด้วย

 

ส่วนการบริหารจัดการขยะของธุรกิจโรงแรมและอาคารสำนักงานว่า บริษัทใช้แนวทาง 3R คือ reduce reuse recycle ตั้งแต่การลดการใช้วัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำไปรีไซเคิล

 

“ถ้าเดินเข้าโรงแรมทั้งหมดของสิงห์ เอสเตท คุณจะไม่เห็นขวดพลาสติก-หลอดพลาสติก พูดแค่นี้เหมือนง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่าย เพราะเราต้องสร้างโรงผลิตน้ำในโรงแรม เริ่มตั้งแต่การวางแผนการก่อสร้างต้องสร้างโรงผลิตน้ำดื่มและบรรจุน้ำดื่ม”

 

ส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า บริษัทก็ต้องเน้นเรื่องการใช้พลังงานสะอาดและใช้พลังงานแบบมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอาคารเพื่อเป็น smart building ไม่ว่าจะเป็น การใช้พลังงานในลิฟต์ การใช้ไฟฟ้าเป็นระบบออโต้เปิดปิดอัตโนมัติ กระทั่งเปลี่ยนก๊อกน้ำทั้งหมดเป็นแบบออโต้ ตลอดจนเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19

 

“ทุกครั้งที่ก่อสร้างบ้านจะมีหัวเสาเข็มที่ถูกตัดออก เราเก็บหัวเสาเข็มกลับไปย่อย และทำงานร่วมกันบริษัทใหญ่ที่มีแล็บ และเราก็เอาผลิตภัณฑ์นั้นกลับมาใช้มารีไซเคิล ไม่ใช่วิธีการฝังดินเพราะทำให้เกิดการปนเปื้อน และไม่ซื้อเศษหินหักจากไซต์ก่อสร้างมาถมดิน เราพยายามสร้างที่ดินข้างใต้ให้อุดมสมบูรณ์ เมื่อเกิดขยะก็เอาออกไปสู่กระบวนการที่ถูกต้อง”

Sing_Estate-2-768x512

การตัดหัวเสาเข็มส่วนเหลือ ณ โครงการก่อสร้าง The EXTRO Phayathai-Rangnam เพื่อนำไป upcycling เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับโครงการในอนาคต

นางฐิติมากล่าวถึงธุรกิจที่พักอาศัยว่า ปัจจุบัน ESG เริ่มเป็นกระแสมากขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องการที่พักอาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ที่พักอาศัยที่พัฒนาโดยบริษัทจะเป็น smart home และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อหลักชีวอนามัย เช่น อากาศถ่ายเทดี เน้นการใช้แสงธรรมชาติ หรือใช้นวัตกรรมนำความร้อนจากเครื่องปรับอากาศมาทำเป็นน้ำร้อน กระทั่งการรักษาต้นไม้ใหญ่ยืนต้นในพื้นที่ให้ยังคงอยู่ โดยได้ออกแบบโครงการให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ได้มากที่สุด หรือขุดล้อมย้ายแล้วนำไปดูแลในพื้นที่ที่เหมาะสม

 

สุดท้ายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวคิดว่าต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ ยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมชื่อ ‘เอส อ่างทอง’ ที่จังหวัดอ่างทอง ตามปรัชญา harmonious coexistence กับเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (eco-industrial estate) ด้านอาหารระดับโลก (world food valley) บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ โดยบริษัททำงานร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงเกษตรฯ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก เริ่มจากการเลือกพื้นที่ที่อยู่ศูนย์กลางแหล่งเกษตรกรรม ถัดมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม รวมถึงการมีแหล่งเก็บน้ำถึง 400 ไร่

Highlights

“แหล่งน้ำขนาดใหญ่เอื้อให้เราใช้พลังงานทดแทน solar floating ตอบโจทย์คนทำธุรกิจอาหาร”

ที่สำคัญ นิคมที่อ่างทองยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้จังหวัดและชุมชน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านอาหาร ให้สามารถยกระดับอาหารไทยไปแข่งขันในเวทีโลก นับเป็นการพัฒนานิคมฯ ในเชิงธุรกิจ ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์สังคมไปพร้อมกัน

 

ยกระดับสังคม สร้างงาน-รายได้

 

ESG ในมิติสังคม (social) ของสิงห์ เอสเตท เน้นไปที่การยกระดับ ‘ชุมชน’ โดยรอบโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ทั้งในรูปแบบการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สร้างรายได้ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

หลักคิดคือ ‘ทำอย่างไรให้โครงการของสิงห์ เอสเตท ส่งมอบความยั่งยืน’ ดังนั้น ต้องคำนึงว่าโครงการจะเป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยดูแลผลกระทบต่อชุมชนทั้งระหว่างและภายหลังการก่อสร้าง

 

นางฐิติมา ยกตัวอย่างการทำประโยชน์ให้สังคมจากโรงแรมครอสส์โรดส์ที่มัลดีฟส์ว่า โรงแรมตั้งอยู่ที่เกาะเอ็มบูดู ลากูน ใกล้กับสนามบิน มาเล่ (MLE) ประมาณ 15 นาที ช่วยสร้างงาน-อาชีพให้คนท้องถิ่นได้มาทำงานแบบไปกลับได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของมัลดีฟส์เป็นเกาะ คนท้องถิ่นบางกลุ่มไม่สามารถเดินทางไกลหรือพักที่เกาะอื่นเป็นเวลานานโดยไม่ได้กลับบ้านได้ 

Highlights

“เราห่างจากเมืองหลวง 15 นาที คนอื่นห่าง 2 ถึง 3 ชั่วโมง เป็นเกาะแบบแยกตัวจากโลกภายนอก ต้องเข้าไปที่เกาะเกือบเดือน สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้หญิงไม่สามารถไปทำงานได้ ทำให้มีโอกาสทำงานน้อยลง แต่เมื่อโครงการเราเปิด เราเปิดโอกาสให้ผู้หญิงท้องถิ่นมาทำงานกับเรา เช้านั่งเรือเย็นเลิกงานกลับบ้าน สร้างรายได้และการพัฒนาตัวเองตามมาตรฐานสากล”

นอกจากนี้ภายในครอสส์โรดส์ยังมี ‘Cultural Study Centre’ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องที่มาของสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ให้ข้อมูลความเป็นมาและวัฒนธรรมที่สำคัญ

Sing_Estate-14-768x511

Maldives Discovery Centre ศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรม ณ โครงการ CROSSROADS สาธารณรัฐมัลดีฟส์

อีกตัวอย่างคือการจัดซื้อสินค้าผ่านกระบวนการจัดซื้อสีเขียว (green procurement) จัดซื้อสินค้าท้องถิ่น สนับสนุนสินค้าจากชาวประมง และจัดเมนูอาหารแบบ farm-to-table (ส่งตรงจากไร่สู่โต๊ะอาหาร) ให้เข้ามาอยู่ในโรงแรม

 

นางฐิติมากล่าวถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าว่า บริษัทให้ความสำคัญกับเชิงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัยในอาคารสำนักงานตามมาตรฐาน “suatainable building” โดยเน้นเรื่องการสร้างสังคมคุณภาพ (quality society) และพื้นที่ส่วนกลาง (public space)

 

นางฐิติมากล่าวเสริมว่า “ด้านสังคมเราปรับปรุงทุกอย่างเพื่อตอบโจทย์สังคมรอบข้าง มีทั้งพ่อค้าแม่ค้าแถวออฟฟิศ มีรถเข้าออกเยอะมาก เราพยายามจัดการจราจรรถให้เข้าออกเร็วขึ้น ไม่ใช่จอดไว้แน่นและพ่นควันเสีย ดูแลความสะอาดและอาชีวะอนามัย หรือช่วงโควิดที่ผ่านมา เราประสานกับหน่วยงานราชการให้ใช้อาคารสำนักงานเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน เพื่อให้ชุมชนโดยรอบได้รับการดูแลอย่างดี ตามมาด้วยความพึงพอใจของชุมชน

 

“สิ่งสำคัญที่สุดเวลาพูดเรื่อง social คือเราไม่ได้คิดแค่ตัวเราคนเดียว เราคิดแบบยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ แต่ไม่ใช่เราพูดคนเดียวว่าเรายั่งยืน เราต้องการให้คนอื่นมาบอกเรา ต้องการคำยืนยันจาก third party เพื่อยืนยันว่าเราเดินมาถูกทางและสามารถสร้างอาคารสำนักงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างคุณค่าให้ธุรกิจ นำมาซึ่งความยั่งยืนทางรายได้และผลประกอบการ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็โตไปพร้อมกัน”

 

สร้างค่านิยม PRIDE – ตอกย้ำธรรมาภิบาลให้ stakeholder

 

ในด้านธรรมาภิบาล (governance) บริษัทเน้นย้ำเรื่อง ‘มาตรฐาน’ ระดับโลก เพราะมาตรฐานเปรียบเหมือนการมี license to operate สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

“ธุรกิจอาคารสำนักงานหรือโรงแรมต้องมีมาตรฐานต่างๆ เช่น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมในแต่ละประเทศหรือจังหวัด ธุรกิจเราอยู่บน cerificate license บนความน่าเชื่อถือ การเป็นพลเมืองที่ดี การให้ความร่วมมือกับภาครัฐ การช่วยเหลือสังคมและธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญ”

 

“เราในฐานะบริษัทแม่ของกลุ่มนี้ก็ทำอย่างเต็มกำลังผ่านคณะกรรมการ ผู้บริหาร ผ่านคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อควบคุมมุมมองเรื่องนี้ให้เป็นไปตามทางเดียวกัน อาจจะต่างกันในธุรกิจ แต่มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าแนวคิด ESG ท้ายที่สุดทั้งสามองค์ประกอบจะสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ สะท้อนความรับผิดชอบการทำธุรกิจที่รับผิดชอบกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด” 

 

นางฐิติมากล่าวต่อว่า สิงห์ เอสเตท ยังมีสถานะเป็น holding company ที่ลงทุนในธุรกิจอื่นผ่านการถือหุ้น ดังนั้น บริษัทต้องถ่ายทอดเรื่องธรรมาภิบาลให้กับบริษัทในเครือเพื่อขับเคลื่อนให้เดินไปทิศทางเดียวกัน

 

ที่สำคัญคือการทำให้ ‘พนักงาน’ ตระหนักและเข้าใจเรื่องความยั่งยืน โดยฝังเข้าไปใน business model แต่ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนจริงบริษัทเริ่มจากพูดเรื่องความยั่งยืนที่จับต้องได้ (sustainable development) ไม่พูดถึงมาตรฐานที่ยังเข้าใจยาก และทำให้พนักงานเห็นว่าว่าทำไมต้องยั่งยืน ผลของการทำคืออะไร และไม่ได้ทำเพราะเป็นแฟชั่น พร้อมสรุปว่าความยั่งยืนคือคุณค่าให้ชีวิต

Highlights

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทุกคนอยากมีชีวิตที่มีคุณค่า นี่เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังเข้าไปในองค์กรสิงห์ เอสเตท”

ทั้งหมดดำเนินการผ่านค่านิยมหลักขององค์กร (core value) คือ PRIDE ประกอบด้วย พันธมิตร (partnership) การทำธุรกิจบนพื้นฐานของความประณีตและงดงาม (refined) ความซื่อตรง ยึดมั่นและรับผิดชอบ (integrity) การเตรียมความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง (dynamic) และการทำงานด้วยใจรักและทุ่มเทเพื่อบรรลุผล (entrepreneurship)

 

“การทำธุรกิจต้องคิดแบบยั่งยืน มีการกระจายความเสี่ยง เพราะจะได้รับผลกระทบไม่สูงมาก สร้างความยั่งยืนต่อ stakeholder สร้างสังคมในองค์กรให้อยู่กันแบบรักใคร่ เราดูแลพนักงานเขาจะได้อยู่แบบยั่งยืน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”

 

นางฐิติมากล่าวต่อว่า ผู้บริหารต้องมีแนวคิดที่เป็นแบบอย่างและนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อทำให้พนักงานร่วมมือด้วย ยกตัวอย่างแคมเปญ ‘no plastic bag’ บริษัทในฐานะเจ้าของอาคารต้องมีวิธีการสนับสนุนในการเลิกพลาสติก จึงไม่ใช้แค่วิธีแจกถุงผ้าเท่านั้น แต่บริษัทจะมีที่แขวนถุงผ้าให้พนักงานใช้ร่วมกันเพื่อให้ไม่ลืมนำถุงผ้าไปใช้ เมื่อผู้เช่าภายในอาคารเห็นก็จะเริ่มปฏิบัติตามมากขึ้น

Sing_Estate-9-768x511

การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ณ โครงการก่อสร้างทุกโครงการของสิงห์ เอสเตท และจัดทำบัญชีพันธุ์ไม้เพื่อติดตามการดูแลภายหลังการเคลื่อนย้าย

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีเรื่องที่จะไม่ประนีประนอมคือ ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานเด็ก การคอร์รัปชัน ตลอดจนการทำธุรกิจที่ไม่โปร่งใส ขณะเดียวกันในบางเรื่องที่สามารถแก้ปัญหาได้ก็ ‘ขึงตึง’ ทันที

Highlights

“เราดู sustainable supply chain เป็นหลัก บางเรื่องขึงตึงได้ เราขึงก่อนเลย เช่น เราไม่สนับสนุนการค้ามนุษย์ แต่บางเรื่องต้องปรับกระบวนการก็มาทำงานร่วมกัน อย่างเราไม่สามารถบอกว่าจะไม่ซื้อสินค้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล เพราะซัพพลายเชนก็ต้องปรับกระบวนการของเขา เราก็ต้องตระหนักเรื่องนี้ อะไรขึงได้ขึงก่อนเลย”

หาจุดสมดุลกับต้นทุนของ ESG

 

นางฐิติมากล่าวต่อว่า การทำ ESG และสร้างความยั่งยืนให้องค์กรไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน และสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล แต่ถ้าไม่มี ESG จะทำธุรกิจลำบาก เพราะโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นไปความต้องการของผู้ประกอบการเท่านั้น และไม่ใช่แบบ B2B (business to business) แต่เป็นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก (customer requirement)

 

นางฐิติมากล่าวต่อว่า แม้แต่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากฝั่งยุโรปที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ก็เริ่มใช้เวลาพูดคุยเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น แล้วขณะที่คุยก็ทำเป็นเช็กลิสต์ว่าบริษัททำอะไรได้ดี และยังขาดเหลืออะไร

Highlights

“ความท้าทายของเราคือ ความต้องการด้าน ESG มาพร้อมกับต้นทุนที่มากขึ้น เรามีหน้าที่ operate บริษัทตามแผนกลยุทธ์และนโยบายที่เราตั้งไว้ตามความคาดหวัง เป็นความท้าทายเรื่องการบริหารจุดสมดุลระหว่างการจัดการรายได้และต้นทุนที่จะเกิดขึ้น”

ทว่า ESG ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่จ่ายเงินแล้วจบ แต่เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม สังคม และพัฒนาองค์กรในระยะยาว ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมในการสร้างความยั่งยืน

 

นางฐิติมากล่าวต่อว่า การทำ ESG ในปัจจุบันต้องเป็น smart way และต้องเข้าใจว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป เพราะปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้คือหน้าที่ที่ต้องทำด้วยความตั้งใจ จริงจังและต่อเนื่อง และหากองค์กรทำได้แล้วก็จะได้รับความน่าเชื่อถือ (creditability) จากสาธารณชน

 

“ทุกคนอาจไม่ได้เข้าใจคำว่า ESG แต่อย่างน้อยคนไทยทั่วประเทศเริ่มเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง 10 ปีที่ผ่านมามันวิ่งไปสู่ความยั่งยืนและการอยู่อย่างพอเพียง สุดท้ายมันเชื่อมโยงกับ ESG”

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. สิงห์ เอสเตท กับ ‘วิถี PRIDE’ สร้างสมดุล ‘ต้นทุน-ESG Smart Way’

แท็กที่เกี่ยวข้อง: