เทคนิคแกะรอยหุ้น IPO จากหนังสือชี้ชวน

โดย เอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด
3 Min Read
2 สิงหาคม 2564
2.633k views
Inv_เทคนิคแกะรอยหุ้น IPO จากหนังสือชี้ชวน_Thumbnail
Highlights

ความสำเร็จจากการลงทุนประการหนึ่ง คือ เลือกลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองรู้จักเป็นอย่างดี โดยต้องรู้ทุกซอกทุกมุมก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งหนังสือชี้ชวน คือ แหล่งข้อมูลชั้นดีที่บอกรายละเอียดของบริษัทอย่างละเอียด ดังนั้น การศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนถือเป็นขั้นตอนสำคัญของนักลงทุนก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO

หนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน หรือที่รู้จักกันดีว่าเสนอขาย หุ้น IPO จัดทำขึ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทให้นักลงทุนทราบทุกครั้งที่มีการเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรก โดยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนสามารถตอบข้อสงสัยที่คิดไว้ก่อนลงทุนได้เกือบทั้งหมด เพราะหนังสือชี้ชวนเปรียบเสมือนคลังข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบริษัทนั้น ๆ ดังนั้น นักลงทุนควรใช้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

  • ข้อมูลสรุป

เป็นปราการด่านแรกที่นักลงทุนควรศึกษา เพราะจะแสดงข้อมูลสรุปรายละเอียดสำคัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้น โดยมีเนื้อหาที่กระชับ อ่านง่าย และระบุเฉพาะข้อมูลหลักที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเปรียบเสมือนหนังตัวอย่างที่มีการสรุปเนื้อหาสำคัญของเรื่องและใช้เวลาดูเพียง 2 – 5 นาที ก็เข้าใจภาพรวมทั้งหมด เช่นเดียวกับข้อมูลสรุปของหนังสือชี้ชวน เมื่ออ่านแล้วก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าต้องการซื้อหุ้น IPO ตัวนี้หรือไม่ ถ้าใช่ก็ต้องศึกษาต่ออย่างละเอียด

 

  • ลักษณะการประกอบธุรกิจ

เมื่ออ่านข้อมูลสรุปแล้ว หากต้องการเข้าใจการดำเนินธุรกิจของบริษัท ก็ต้องอ่านที่ลักษณะการประกอบธุรกิจ เพราะอธิบายภาพรวม ที่มา และลักษณะการประกอบธุรกิจ หรือกลุ่มบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยจะบอกว่าบริษัทนั้นดำเนินธุรกิจอะไร มีรายละเอียดผลิตภัณฑ์และบริการเป็นอย่างไร ลักษณะอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ รวมถึงข้อมูลด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และแนวโน้มของธุรกิจในอนาคต ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะช่วยให้นักลงทุนทราบว่า ตัวเองมีความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหนและต้องการลงทุนจริงหรือไม่ เพราะหลักการลงทุนที่ดีประการหนึ่ง คือ การทำความรู้จักหรือเข้าใจธุรกิจนั้นให้ถ่องแท้ และใช้เป็นแนวทางในการติดตามทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่สำคัญไม่เพียงแค่ศึกษาข้อมูลของบริษัทที่สนใจเท่านั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

  • ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

ข้อมูลนี้จะดูได้จากลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนทราบว่าบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเท่าไหร่ มีนโยบายการดำเนินงานเป็นอย่างไร คู่แข่งคือใครและมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการประกอบการตัดสินใจ

 

  • โครงการในอนาคตและวัตถุประสงค์การใช้เงิน

ข้อมูลส่วนนี้จะชี้ให้เห็นว่าเมื่อระดมทุนแล้ว บริษัทจะนำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร โดยหลัก ๆ แล้วบริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น ระดมทุนเพื่อขยายกิจการ พัฒนาโครงการทั้งปัจจุบันและโครงการในอนาคต ระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องจักร ระดมทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือเพื่อชำระหนี้ ซึ่งนักลงทุนต้องทราบและศึกษารายละเอียดส่วนนี้ให้ดี เพราะจะสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจและการสร้างผลตอบแทนกลับมายังผู้ถือหุ้น

 

  • โครงสร้างผู้ถือหุ้น

เพื่อวิเคราะห์ว่าเมื่อเป็นบริษัทมหาชนแล้ว เจ้าของที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่ เช่น เมื่อขายหุ้น IPO แล้ว เจ้าของที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก เช่น ถือหุ้นมากกว่า 50% ก็น่าจะพอเบาใจได้ว่าเจ้าของที่ก่อตั้งกิจการจะยังคงอยู่กับบริษัทต่อไป แต่หากถือหุ้นแบบกระจายและถือในสัดส่วนไม่มาก เมื่อเข้าตลาดแล้วอาจมีการขายหุ้นออกมาเมื่อพ้นระยะเวลาห้ามซื้อขายและจะส่งผลต่อราคาหุ้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคต เป็นต้น

 

  • ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

เนื่องจากข้อมูลในงบการเงินของหุ้น IPO จะมีความละเอียดไม่เท่ากับหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ต้องประเมินให้รอบคอบทุกมุมก่อนตัดสินใจซื้อ โดยข้อมูลส่วนนี้จะสรุปฐานะการเงินและผลการดําเนินงานของบริษัทในรอบระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หรือเท่าที่มีการดําเนินงานจริง และปีปัจจุบันจนถึงไตรมาสล่าสุด ซึ่งการวิเคราะห์งบการเงิน จะต้องตรวจสอบสถานะการเงิน หนี้สิน โครงสร้างเงินทุน และอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงหรือไม่

 

นอกจากนี้ เมื่อนักลงทุนได้ทำความเข้าใจผลการดําเนินงานและฐานะการเงินของบริษัท รวมถึงภาพรวมของการดําเนินงานแล้ว ต้องดูข้อมูลที่มีผลกระทบจากเหตุการณ์สําคัญหรือปัจจัยสําคัญด้วย เช่น การควบรวมกิจการ การยกเลิกหรือหยุดการดําเนินธุรกิจ การได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสําคัญ สภาพคล่องและแหล่งเงินทุนของบริษัท และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท เป็นต้น

 

  • ข้อมูลการเสนอขายหุ้น

ถึงแม้ว่าข้อมูลการเสนอขายหุ้นจะอยู่ในหน้าแรก ๆ ของหนังสือชี้ชวน แต่เป็นข้อมูลสรุปเท่านั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน จึงควรดูที่มาของการกําหนดราคาเสนอขาย สถิติหรืออัตราส่วนทางการเงินที่สามารถสะท้อนราคาของหุ้นที่ออกใหม่ด้วย เช่น อัตราส่วนราคาต่อกําไรต่อหุ้น (P/E Ratio) อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน หรืออัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ที่สามารถสะท้อนราคาหุ้นตามความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยให้เปรียบเทียบกับข้อมูลของบริษัทอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีลักษณะของการประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ให้ดูวิธีการจอง การจัดสรร วันจอง รวมถึงวิธีการชำระเงินค่าจองหุ้น IPO ด้วย

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนหุ้น IPO สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่อยู่ระหว่างคำขอเข้าจดทะเบียน (Upcoming IPO) รอเสนอขาย และสามารถดาวน์โหลดหนังสือชี้ชวน รวมถึงบทวิเคราะห์ เพื่อศึกษาข้อมูลและรายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน ได้ฟรี!!! ที่ >> คลิกที่นี่

 

แน่นอนว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้น นั่นคือ การอ่านและวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท โดยนักลงทุนที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการอ่านและตีความข้อมูลสำคัญในงบการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสค้นหาหุ้นพื้นฐานดีน่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจงบการเงิน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: