TGE พลังงานสะอาดครบวงจร จาก Zero Waste สู่ Double Zero Waste

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
30 มกราคม 2566
1.321k views
SET ESG Academy_TGE พลังงานสะอาดครบวงจร จาก Zero Waste สู่ Double Zero Waste
Highlights

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “TGE” ก่อตั้งในปี 2557 เป็นน้องใหม่ที่ขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เดือนสิงหาคม 2565 ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (renewable energy) ตามแนวโน้มทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน

 

ขายหุ้น IPO ชูจุดเด่น ESG

 

ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 ประเภท ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าชีวมวลจากวัตถุดิบหลักประเภท ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์มหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรกรรม เช่น ไม้ชิพ รากไม้สับ และ 2. โรงไฟฟ้าขยะ

 

กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าทำสัญญาบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างทั้งหมดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมกับโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว กลุ่มบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 51.7 เมกะวัตต์ภายในปี 2567

 

TGE ได้บอกเล่าในหนังสือชี้ชวนถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ว่าเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

 

“การที่เราชู ESG เป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจ เอา ESG มาบริหารจัดการ เพราะเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนจากทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับหุ้นที่เน้น ESG วันนี้กระแสโลกเปลี่ยนไป ความเชื่อนักลงทุนที่ต้องการรักษาโลกเอาไว้ ดังนั้น การเป็นทั้งคนเก่ง คนดี จึงจะเกิดความยั่งยืน การมีกำไรดี ผลประกอบการดี ไม่พอแล้วในวันนี้” ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ดร.ศักดิ์ดา-ศิริภัทรโสภณ-ประธานเจ้าหน้าที-3-scaled-e1661957881757-768x512
ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน)

“พลังงานสะอาด” มองทะลุเมกะเทรนด์

 

ดร.ศักดิ์ดาเล่าว่า หากย้อนไปปี 2529 บริษัทหาซื้อที่ดินสำหรับปลูกปาล์ม 4,500 ไร่ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มจากธุรกิจครอบครัว ทำธุรกิจเกษตร มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ธุรกิจกลุ่มขนส่ง ธุรกิจร่วมทุนทำปาล์มครบวงจร และพัฒนามาสู่พลังงานสะอาดครบวงจรในปัจจุบัน

 

“ในช่วงแรกของการทำโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ใช้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เราปลูก พอสกัดน้ำมันปาล์ม เหลือบายโพรดักต์ที่เป็นภาระกับเรา คือทะลายปาล์ม ในตอนนั้นทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ต้องทิ้งอย่างเดียว ช่วงแรกจำนวนไม่มาก พอทำไปนานๆ มีค่าใช้จ่ายในการกำจัด หากกำจัดไม่ดีก็จะมีความร้อน เกิดเพลิงไหม้ เน่าเสีย เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม”

 

10 ปีที่แล้ว รัฐบาลมีนโยบายซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ทางกลุ่มตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ติดกับโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ทะลายปาล์มที่เหลือก็ทำสายพานเชื่อมเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงได้เลย ช่วยแก้ปัญหาในการกำจัด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

 

“ผลจากการทำโรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และภาครัฐให้การสนับสนุน สัญญาขายไฟเป็นการขายระยะยาว และเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต เราตั้งใจให้ TGE เป็นเรือธงธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จากนั้นขยายตั้ง โรงที่ 2 และ 3 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 29.7 เมกะวัตต์”

 

ดร.ศักดิ์ดากล่าวต่อว่า เมื่อธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ชีวมวลจากทะลายปาล์มใช้ปีละ 1 แสนตันเริ่มไม่เพียงพอ ต้องหาจากข้างนอก ไปซื้อทะลายปาล์มเปล่า ซึ่งเป็นปัญหาชาวบ้านในการกำจัด มีการเอาไปทิ้ง ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เมื่อ TGE รับซื้อ ทำให้ชุมชนมีรายได้ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

Thaipublica_ปาล์มน้ำมัน_TGE_9-e1661957962160-768x511
Thaipublica_ปาล์มน้ำมัน_TGE_14-e1661958015690-768x511

ด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ผู้บริหารให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยี สามารถใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายในการผลิตไฟฟ้า นอกจากจะใช้ทะลายปาล์มเปล่าแล้ว สามารถใช้ต้นปาล์ม รากไม้ยางพารา เพราะสุราษฎร์ธานี ปลูกปาล์มและยางพารามากที่สุดในประเทศ อายุในการใช้งาน 20-25 ปี ก็ต้องปลูกทดแทน เมื่อตัดทิ้ง เดิมเกษตรกรเผา ทำให้เกิดมลภาวะ TGE รับซื้อของเหลือใช้จากการเกษตรกร สิ่งที่ไม่มีมูลค่าก็มีมูลค่าขึ้น มีรายได้

 

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตได้ สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย โดยขึ้นทะเบียน T-VER โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี จากโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทคาดว่าจะยื่นเอกสารขอรับรองคาร์บอนเครดิตของทั้งสองโครงการดังกล่าวในเดือนสิงหาคม 2565

Highlights

“วันนี้ปัญหาที่เคยเป็นปัญหาของเรา ของชุมชน ของเหลือใช้ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีมูลค่า เอามาเป็นสิ่งมูลค่าเพิ่มได้ และเมื่อเราขยายกิจการ มีการจ้างงานในพื้นที่ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แถมยังได้คาร์บอนเครดิตและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไปด้วย”

Thaipublica_ปาล์มน้ำมัน_TGE_1-768x511

Zero Waste สู่ Double Zero Waste

 

อีกกลุ่มธุรกิจคือโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน ขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่ม TGE เอาขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวมวลหรือขยะชุมชน เป็นประเภทที่มีความชื้นสูง ความร้อนต่ำ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและถนัดมากกว่า 10 ปี ทำให้มั่นใจในเทคนิค เทคโนโลยี ว่าสามารถใช้ขยะผลิตไฟฟ้าได้

 

โรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั้งหมดมีสัญญากับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ชุมพร และราชบุรี รวม 3 โรงไฟฟ้า มีกำลังผลิต 22 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าปลายปีนี้

 

ดร.ศักดากล่าวต่อว่า “ทั้งโรงไฟฟ้าทั้งชีวมวล ขยะชุมชน เราให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมและดูแลชุมชน เอาของทิ้งจากภาคเกษตร ขยะชุมชน มาทำให้ตรงกับหลักการปรัชญาทำธุรกิจที่มุ่งในเรื่อง ESG การที่เราทำเช่นนี้ เป็นการพลิกปัญหาชุมชน ให้มีรายได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้ประโยชน์จากของเหลือทิ้ง ลดก๊าซเรือนกระจก ลดมลภาวะ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”

 

ด้วยนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวล เน้น zero waste ดังนั้น แนวคิดรีไซเคิลของทิ้งของเหลือต้องเอามาใช้ใหม่ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลมีของเสีย 2 ประเภทคือ 1. น้ำเสียจากการผลิต เอาไปทำไบโอแก๊สแล้วขายไฟได้อีก 2. ขี้เถ้าจากชีวมวล ให้ชาวบ้านเอาไปทำประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ย ทำวัสดุก่อสร้าง ไม่มีเหลือทิ้ง

Highlights

“เราเอาของเสียมาสร้างรายได้ แล้วยังมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตอีก ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้อีก”

Thaipublica_ปาล์มน้ำมัน_TGE_11-e1661958124106-768x511

ชุมชนยั่งยืน โรงงานยั่งยืน

 

เนื่องจากธุรกิจเริ่มต้นของกลุ่ม ปลูกปาล์มมา 36 ปีแล้ว หากพูดถึงท่าฉางอุตสาหกรรม จะมีคนรู้จักในฐานะบริษัทปาล์มน้ำมันชั้นนำของประเทศ อยู่กับชุมชนมานาน ปลูกปาล์ม 4,500 ไร่ ผู้บริหารมุ่งสร้างธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด ต้องการสร้างการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชนได้อย่างไร เพราะโรงงานต้องอยู่กับชุมชน

 

ตัวอย่างที่กลุ่มทำ คือสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อขอการรับรองผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน มีการหาคนที่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกปาล์ม การลดต้นทุนให้เกษตรกรที่เข้าโครงการ ซึ่งทำมานานอย่างต่อเนื่อง

 

พื้นที่ 4,500 ไร่ รอบๆ โรงงาน อยู่ในพื้นที่เราเอง คนชนะในอุตสาหกรรมนี้ ต้องจัดการเรื่องต้นทุน ปัจจัยสำคัญคือค่าขนส่ง รอบๆ โรงงานมีซัพพลายเยอะ ทำให้เราประหยัดต้นทุนได้มาก ร่วมมือกับเกษตรกรที่เอาผลผลิตมาขาย เอาชีวมวลมาขาย มีการเกื้อกูลกันมาตลอด ราคาที่รับซื้อเดียวกัน ทั้งรายเล็กรายใหญ่ เป็นมาตรฐานการซื้อวัตถุดิบ มีเรื่องความชื้น มีการประกาศราคากลาง

 

นอกจากนี้ มีการตรวจเยี่ยมซัพพลายเออร์ เก็บตัวอย่างดิน ตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจสอบว่าขาดแร่ธาตุอะไรบ้างแจ้งกลับไปยังกลุ่มเกษตรกร มีการตรวจสอบสิทธิ การครอบครอง การลดสารเคมีที่มีผลต่อดินและน้ำ มีเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่าง มาตรวจสอบ เพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP เพราะเรารับซื้อผลปาล์มในราคาพรีเมียม เพื่อให้คุณภาพสินค้าที่ดี

 

ขณะที่การทำธุรกิจไฟฟ้า เราทำสัญญาขายไฟระยะยาว ดังนั้น ต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากชุมชนหรือขยะชุมชน แต่ละจังหวัดสัญญา 25 ปี หากเราไม่เข้าใจชุมชน ก็จะเป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เรื่องสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล สำคัญมาก

 

ดังนั้นการเอาจุดแข็ง ESG มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเชื่อว่า ESG เป็นแต้มต่อที่พลิกโอกาสเป็นมูลค่าเพิ่ม เป็นอนาคตที่สดใสตามเมกะเทรนด์โลก ที่ต้องมาสู่พลังงานสะอาด

Highlights

“เป้าหมายของบริษัท เราจะสร้างบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไร ซึ่ง ESG มันฟิตได้พอดี เราจะเป็นคนเก่งสร้างรายได้อย่างเดียวไม่พอ เพราะนักลงทุนที่มุ่งลงทุนหุ้น ESG มีมากขึ้น หากบริษัทไหนมี ESG ก็ยิ่งตอบโจทย์ อย่าคิดว่า ESG ทำตามกระแส หากเราไม่ทำ วันหนึ่งมันจะกลับมาดิสรัปต์เรา”

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. TGE พลังงานสะอาดครบวงจร จาก Zero Waste สู่ Double Zero Waste
แท็กที่เกี่ยวข้อง: