ไขข้อสงสัย ที่มาราคาหุ้น IPO

โดย สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
3 Min Read
26 กรกฎาคม 2564
12.662k views
TSI_Article_187_Inv_Thumbnail
Highlights

ราคาหุ้น IPO ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนตัดสินใจว่าจะจองซื้อหุ้นหรือไม่ ซึ่งการที่จะรู้ว่าราคามีความเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องศึกษา รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมถึงกำหนดออกมาเป็นราคานี้

ถ้าพูดถึงราคาหุ้น IPO ทุกวันนี้ยังมีนักลงทุนสงสัยและมีคำถามว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหุ้น IPO ด้วยหรือไม่ ซึ่งความจริงนั้นทั้งสองหน่วยงานไม่มีหน้าที่หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหุ้น IPO เลย ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหุ้น IPO มี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Lead Underwriter) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor หรือ FA) และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer)

 

สำหรับการกำหนดราคาหุ้น IPO นั้น จะมี 2 ลักษณะ คือ หากเป็นกรณีที่มีการเสนอขายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบัน ก็จะมีกระบวนการสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันหรือที่เรียกกันว่า Book Building โดยผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ จะร่วมกันกำหนดช่วงราคา IPO (IPO Price Range) ที่จะเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน เช่น กำหนดช่วงราคา 5.00 - 5.50 บาท

 

จากนั้นก็จะส่งแบบฟอร์มแสดงความสนใจที่จะจองซื้อหุ้น IPO (Book Building Form) ไปให้นักลงทุนสถาบัน โดยนักลงทุนสถาบันที่สนใจจะส่งแบบฟอร์มกลับมา พร้อมทั้งระบุระดับราคาที่สนใจและระบุจำนวนหุ้นที่ต้องการในแต่ละระดับราคามาด้วย

 

โดยผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะรวบรวมแบบฟอร์มแสดงความสนใจฯ ที่ได้รับกลับมาจากนักลงทุนสถาบัน เพื่อนำมาสรุปว่าในแต่ละระดับราคา นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจและมีความต้องการที่จะจองซื้อหุ้นจำนวนมากน้อยเพียงใด และนำผลสรุปดังกล่าวมาพิจารณากำหนดเป็นราคา IPO ร่วมกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์

 

ดังนั้น การทำ Book Building เป็นการนำกลไกตลาด (Market Mechanism) ที่มี Demand และ Supply เข้ามาช่วยในการกำหนดราคา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตั้งราคาหุ้น IPO มีความเหมาะสม เพราะนักลงทุนสถาบันจะเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าราคาใดอยู่ในระดับที่นักลงทุนสถาบันสนใจซื้อและคิดว่าเหมาะสม

 

ลักษณะที่ 2 เป็นกรณีที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเมินแล้วว่า อาจไม่มีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ เนื่องด้วยขนาดหรือด้วยลักษณะธุรกิจของบริษัทก็ตาม จึงเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไปได้เท่านั้น กระบวนการทำ Book Building ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการทำ Book Building จะทำกับนักลงทุนสถาบันเท่านั้น ดังนั้น การกำหนดราคาหุ้น IPO ของกรณีนี้ ผู้จัดการการจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ จะร่วมกันพิจารณากำหนดราคา IPO ที่เหมาะสมที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุน หรือที่เรียกว่า Fixed Price

 

นอกจากนี้ ที่มาในการกำหนดราคาหุ้น IPO ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ ค่า P/E Ratio (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น) มาพิจารณา โดยเปรียบเทียบค่า P/E Ratio ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือมีลักษณะธุรกิจเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน   

 

โดยค่า P/E Ratio จะมี 2 ประเภท ได้แก่ P/E Ratio ที่ใช้ผลการดำเนินงานของบริษัท 4 ไตรมาสย้อนหลังมาคำนวณ ซึ่งจะได้ค่าในอดีต หรือเรียกว่า Historical P/E โดยนักลงทุนสามารถดู Historical P/E ของบริษัทจดทะเบียนได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือใน Trading Application ของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ได้เป็นการทั่วไป

 

สำหรับ P/E Ratio ที่ใช้ผลการดำเนินงาน EPS ของบริษัทในอนาคตมาคำนวณ หรือที่เรียกว่า Forward P/E  จะเป็นค่าที่จะสะท้อนการเติบโตในอนาคตของบริษัท โดยในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแบบไฟลลิ่งหรือหนังสือชี้ชวนจะไม่มีค่า Forward P/E แสดงอยู่ เนื่องจากเป็นการใช้ตัวเลขผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทมาคำนวณ ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วจะเห็น Forward P/E ในบทวิเคราะห์ ซึ่งนักวิเคราะห์จะเป็นผู้ประเมินและจัดทำประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทออกมา

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ใช้ในการพิจารณา คือ ดูการเติบโตของธุรกิจโดยรวม การเติบโตของยอดขายและกำไรสุทธิจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใดในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า ความเป็นผู้นำในธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไร ไม่ว่าจะเป็นอัตรากำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น รวมถึงอัตราหนี้สินต่อทุน ที่จะรองรับการเติบโตได้ในอนาคต

 

โดยผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ก็จะนำข้อมูลข้างต้นเหล่านี้มาพิจารณาเพื่อกำหนดช่วงราคา IPO หรือราคา IPO ที่เหมาะสมต่อไป เช่น หากประเมินแล้วว่าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์มีการดำเนินธุรกิจที่เติบโตสูงกว่า ความสามารถในการทำกำไรดีกว่า ก็ควรมีค่า P/E Ratio ที่สูงกว่า

 

ในทางกลับกัน หากบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์มีการดำเนินธุรกิจที่มีการเติบโตต่ำกว่า ความสามารถในการทำกำไรน้อยกว่า ก็ควรมีค่า P/E Ratio ที่ต่ำกว่า ซึ่งมีผลต่อการกำหนดราคาหุ้น IPO โดยอยากจะให้นักลงทุนเข้าใจว่า P/E Ratio สูงไม่ได้หมายความว่าหุ้นแพงเสมอไป และ P/E Ratio ต่ำก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นถูกเสมอไปเช่นกัน นักลงทุนต้องเข้าไปพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าสาเหตุที่ P/E Ratio สูงนั้น สูงเพราะอะไร P/E Ratio ต่ำ ต่ำเพราะอะไร เมื่อทราบถึงสาเหตุแล้วก็จะสามารถสรุปผลได้ว่าหุ้นแต่ละตัวถูกหรือแพง

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมักจะได้ยินเสมอว่า ราคาหุ้น IPO ที่กำหนดขึ้นมาเป็นราคาที่มีส่วนลด (Discount) ส่วนการที่จะให้ส่วนลดมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาวะตลาดโดยรวม แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ ปริมาณและความต้องการและความสนใจของนักลงทุน เช่น ในช่วงที่ตลาดไม่ดี มีความผันผวนสูง นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ในการกำหนดราคาอาจให้ Discount มากพอสมควร เช่น 20 - 30%

 

ถ้าในภาวะที่ตลาดสดใส นักลงทุนมีความเชื่อมั่น มีความสนใจสูงก็อาจจะให้ Discount ที่ลดลง ทั้งนี้การกำหนดราคาและให้ส่วนลดไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การตั้งราคาของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ในแต่ละกรณี แต่ละสถานการณ์

 

การที่ราคา IPO มี Discount ก็เพื่อทำให้หุ้นมีความน่าสนใจและลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุน รวมทั้งเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินธุรกิจเดียวกัน มีอัตราการเติบโต มีความสามารถในการทำกำไร และมีอัตราส่วนทางการเงินที่เหมือนกันทุกประการ

 

คำถาม คือ ถ้าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ตั้งราคาเสนอขายหุ้น IPO เท่ากับ Valuation ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจองซื้อหุ้น IPO ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพราะสามารถที่จะซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เหมือนกันในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันที และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด เช่น สมมติว่า ตลาดหุ้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทำให้ตลาดปรับลดลง นักลงทุนก็สามารถขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงได้ทันที แต่ถ้าจองซื้อหุ้น IPO และมีปัจจัยลบเข้ามากระทบและส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยรวมในช่วงวันจองซื้อหุ้น ก็อาจทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้

 

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจองซื้อหุ้น IPO นักลงทุนควรศึกษาและอ่านข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน บทวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจธุรกิจ โอกาสและการเติบโตในอนาคต รวมถึงความเสี่ยงของบริษัท เพื่อดูให้แน่ใจว่าราคาหุ้น IPO เหมาะสมแล้วหรือไม่ ซึ่งบทวิเคราะห์ก็จะเป็นตัวช่วยให้กับนักลงทุน สามารถทราบราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ได้ประเมินเอาไว้ รวมถึงประเมินข้อมูลอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น P/E Ratio อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงติดตามการให้ข้อมูลจากผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เช่น การจัดโรดโชว์นำเสนอข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ รวมถึงการประเมิน Valuation ที่เหมาะสม

 

สุดท้ายนี้ อยากจะให้ข้อคิดกับนักลงทุนว่า เวลาซื้อของสักชิ้น เช่น โทรศัพท์มือถือก็ยังต้องดูแล้วดูอีกว่าจะซื้อยี่ห้อไหน แต่ละรุ่นใช้งานอะไรได้บ้าง เปรียบเทียบราคา และคุณสมบัติของแต่ละยี่ห้อ ดังนั้น เวลาจองซื้อหุ้น IPO ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนเหมือนซื้อของด้วยเช่นกัน

 

และอย่าลืมว่า การลงทุนในหุ้นเป็นการซื้ออนาคต ดังนั้น ทุกข้อมูลจึงมีความสำคัญในการประเมินการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าประเมินถูกต้องก็จะรู้ว่าราคาหุ้น IPO นั้นถูกหรือแพง

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจลงทุนหุ้น IPO การศึกษาข้อมูลและรายละเอียดก่อนลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่อยู่ระหว่างคำขอเข้าจดทะเบียน (Upcoming IPO) รอเสนอขาย และสามารถดาวน์โหลดหนังสือชี้ชวน รวมถึงบทวิเคราะห์ ได้ฟรี!!! ที่ >> คลิกที่นี่

 

และสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ตลอดจนการนำแนวคิดและขั้นตอนในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาใช้เพื่อคัดกรองบริษัทที่มีพื้นฐานดีเหมาะแก่การลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: