บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 714 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2564) และให้บริการลูกค้า 51 ล้านคนทั่วโลก ครอบคลุมบริกาารด้านการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ การประกันชีวิตและการบริหารสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผ่านนวัตกรรมและเครื่องมือการลงทุนขององค์กร
ในเดือนพฤษภาคมปี 2565 พรินซิเพิล ได้นำธีม ESG (Environment Social, Governance) เข้ามาผสานกับกองทุน และออกเป็นกองทุน “Principal Global Equity ESG Fund” หรือ PRINCIPAL GESG เพื่อลงทุนในกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund Global Sustainable Growth โดยมีเป้าหมายหลักคือ โอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว และสนับสนุนการแก้ปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความท้าทายระดับโลก
นายอะนะ แพร่พิพัฒน์มงคล Head of Investment Strategy บลจ. พรินซิเพิล จำกัด กล่าวถึงเทรนด์การลงทุนในธีม ESG ว่า “ESG คือเทรนด์ที่โลกหมุนเข้าหา ไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไทยก็หนีไม่พ้นเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโลก และคนรุ่นใหม่จะเป็นแรงผลักดันในการลงทุน ESG เพื่อให้โลกเราดีขึ้น”
นายอะนะมองว่าเทรนด์ ESG ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลกมากขึ้น ทำให้ บลจ.พรินซิเพิลก็ต้องพุ่งไปในเป้าหมายเดียวกัน
‘ESG Investing’ กลไกปรับธุรกิจโตอย่างยั่งยืน
นายอะนะกล่าวถึงความหมายของ ESG Investing ว่า เป็นการลงทุนประเภทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ใส่ใจและดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นการทำธุรกิจที่ส่งผลบวกต่อโลก เช่น การทำธุรกิจที่ทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน หรือธุรกิจที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบ
นายอะนะ กล่าวว่าการลงทุน “ESG Investing” คำลักษณะนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ‘Social Responsible Investing’ หรือ ‘Impact Investing’ หรือ ‘Sustainable Investing’
“ESG ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นในช่วงปี 2020 จากจุดเปลี่ยนของโควิด-19 ทำให้คนเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งต่างๆ รอบตัว และมีเรื่องความเท่าเทียมของผู้คน สิ่งแวดล้อม คนเริ่มเห็นภาพว่าผลกระทบถึงตัวเอง และคิดต่อว่าถ้าลงทุนในกรอบ ESG จะส่งผลต่อภาพรวมเชิงบวกยังไง โดยเฉพาะคนเจน Z จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้เป็นเทรนด์การลงทุน ESG มากขึ้น”
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุน ESG คือเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนได้รับผลกระทบโดยตรง นายอะนะยกตัวอย่าง การรั่วไหลของข้อมูลจากธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้คนรู้สึกว่า ต้องการให้ธุรกิจมีการเก็บรักษาข้อมูลลูกค้าอย่างดี ดังนั้นธุรกิจจะต้องมุ่งการทำ ESG เป็นส่วนสำคัญขององค์กร
ขณะเดียวกัน นายอะนะ กล่าวว่า ผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นที่มุ่ง ESG สุดท้ายส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่เชื่อมั่น มีส่วนแบ่งการตลาดได้ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และส่งผลต่อธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“งานวิจัยของ Bloomberg คาดการณ์ว่าปี 2025 การลงทุน ESG จะเพิ่มในระดับ 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของ AUM ทั่วโลก (asset under management) ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า นักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG อย่างไร และมองว่าการลงทุนก็สร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วย”
บลจ.พรินซิเพิลจึงเลือกลงทุนในธุรกิจที่โฟกัส ESG ตั้งแต่เกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การป้องกันผลกระทบ การเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหากธุรกิจใดส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมแต่มีมาตรการเยียวยาหรือชดเชย ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ยอมรับได้
ในมิติสังคม บลจ.พรินซิเพิลจะประเมินเรื่องคู่ค้าและลูกค้า รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพนักงานว่ามีการทำงานอย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตรายและไม่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ส่วนมิติธรรมาภิบาล บลจ.พรินซิเพิลจะตรวจสอบความโปร่งใสภายในองค์กร ตั้งแต่เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ผู้บริหาร รวมถึงตรวจสอบความเป็นธรรมที่ธุรกิจมีต่อผู้ถือหุ้นรายเล็ก
นายอะนะกล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่มีการประชุม หรือ company visit จะมีการยกประเด็น ESG ขึ้นมาถามผู้บริหารถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และติดตามผลว่า ได้ทำตามเป้าหมาย ESG จริงๆ นอกจากนี้ยังมีการส่งจดหมายไปถึงผู้บริหารและโทรศัพท์ไปสอบถามเป็นการส่วนตัวด้วย
องค์ประกอบการลงทุนในหุ้นที่ดี
นายอะนะกล่าวถึงกองทุน PRINCIPAL GESG ที่บลจ.พรินซิเพิลเข้าไปลงทุนในกองทุน Schroder ว่า โดยปกติ Schroder จะแบ่งการลงทุนเป็น 4 ระดับ คือ
“เวลาเราเสนอกองทุน ESG ผมถือโอกาสอธิบายให้นักลงทุนทั้งรุ่นใหม่และเก่าเห็นภาพว่า ESG ยั่งยืนและสำคัญอย่างไรต่อชีวิตและลูกหลานของเราในอนาคต และให้ดูว่าผลตอบแทนดีจริงๆ แล้ววกเข้ามาจุดเด่นว่าเป็นการลงทุนในหุ้นคุณภาพและหุ้นขนาดใหญ่ และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน สร้างผลกระทบเชิงบวกในมุมกว้าง มีธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
“อย่างหุ้นในกอง Schroder จะลงทุนในประเทศแถบสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสายเทคโนโลยี เช่น Microsoft Google Amazon Tesla ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้เติบโตดี ให้ผลตอบแทนระยะยาวของกองทุนนี้ดีด้วย”
นายอะนะ ยกตัวอย่าง Microsoft ที่มีธุรกิจคลาวน์ ซึ่งเป็น data center ว่าการเก็บข้อมูลจะมีความร้อนจากเซิฟเวอร์ ทำให้ไมโครซอฟต์ต้องพัฒนาระบบรักษาความเย็น และตั้งเป้าว่าต้องเป็น water positive company ภายในปี 2030 หมายความว่าการใช้น้ำอย่างเพียงพอในอุณหภูมิที่เหมาะสม และล่าสุดก็มีการใช้เทคโนโลยี air cooling เพื่อไม่ต้องใช้น้ำอีกต่อไป
นายอะนะ ยังยกตัวอย่างบริษัทจากประเทศอังกฤษอย่าง เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค มีแบรนด์เป็นที่รู้จักเช่น เดทตอล ดูเร็กซ์ กาวิสคอน สเตปซิล ฯลฯ โดยบริษัทตั้งเป้าว่าสินค้าทั้งหมดต้องไม่เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการใช้งาน รวมถึงตั้งเป้าว่าแพคเกจจิ้งจะต้องย่อยสลายได้และนำไปรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจาก TSMC บริษัทผลิตชิปรายใหญ่จากไต้หวัน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก 25% โดย TSMC ใช้นวัตกรรมในการผลิต ทำให้ใช้วัสดุอิเล็กทรอนิกส์น้อยลง ประหยัดพลังงานมากขึ้น สุดท้ายก็กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยลง
นายอะนะ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรม healthcare เป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตาลงทุนในอนาคต เพราะเรื่องยาเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน และในอนาคตจะมีการใช้นวัตกรรมทำให้ผู้คนได้รับผลข้างเคียงน้อยลง คนเข้าถึงได้ในต้นทุนที่ต่ำลง
“พอโลกเราเริ่มเปลี่ยน เกิดคลื่นความร้อนที่จีน ยุโรป และโรคระบาด กระทั่งไทยก็เจอกับปรากฏการณ์ลานีญา มลภาวะ สุดท้ายเด็กรุ่นใหม่เจน Z จะให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงสิทธิมนุษยชนด้วย”
ESG Investing ยังไม่นิยมในไทย แต่บจ.ปรับตัวมากขึ้น
แม้โลกจะให้ความสนใจกับการลงทุนธีม ESG อย่างก้าวกระโดด แต่นายอะนะ มองว่าในไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องกำไรและการเติบโตเป็นหลัก
ในมุมของบลจ.เองมองว่า บริษัทในไทยเริ่มปรับตัวมากขึ้น สังเกตได้จากรายงานต่างๆ ที่เริ่มพูดถึง ESG รวมถึงแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ผลักดันเรื่องนี้ในวงกว้าง
“ผมว่าสุดท้ายขึ้นกับนโยบายคือภาครัฐ ค่อยๆ ไล่มาระดับกลาง นักลงทุนสถาบัน และระดับรายย่อย แล้วคนไทยจะเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น”
อ้างอิง
[1] ThaiPublica. “อะนะ แพร่พิพัฒน์มงคล” บลจ.พรินซิเพิล ชี้นักลงทุนสถาบันปลุกกระแส ‘ESG’ แรงผลักให้ปรับตัวในทุกมิติ