“ซื้อได้ - ขายไม่เป็น”...กลยุทธ์จัดพอร์ตแบบ “SAA-TAA” ช่วยคุณได้

โดย SET X ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
3 Min Read
19 กรกฎาคม 2564
6.77k views
Thematic5_logo
In Focus

ใช่คุณหรือเปล่า? ซื้อกองทุนมาแล้วแต่ไม่รู้จะขายตอนไหน พอเห็นกำไรก็ไม่กล้าขาย กลัวราคาจะขึ้นไปต่อ สุดท้ายจากกำไรกลายเป็นขาดทุน...มาจบปัญหานี้ ด้วยกลยุทธ์จัดพอร์ตแบบ SAA-TAA กันเถอะ!!

เบื่อมั้ย?...ลงทุนไปแล้วดูจะไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจไว้สักที ปีที่แล้ว “หุ้นเทคโนโลยี” มาแรง พอเข้าซื้อปุ๊บ...ปีนี้ผลงานตรงข้ามเลย ในขณะที่ “น้ำมัน” ปีที่แล้วแย่...ปีนี้กลับมีผลงานดีซะอย่างนั้น

การ “วิ่งไล่ตามผลตอบแทน” ไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะบ่อยครั้ง คุณมักจะพบว่า...ลงทุนผิดสินทรัพย์อยู่บ่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับการแทงหวย ปัญหานี้..แก้ไขได้ด้วย “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” นั่นเอง

เพราะไม่มีสินทรัพย์ใด จะดียืนหนึ่งได้ทุกปี หากแต่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสลับขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นในแต่ละปีเปลี่ยนกันไป หากใครเลือกถูก ลงทุนต้นปี ไปขายสิ้นปี ได้ทุกครั้ง...คุณก็จะเป็นบุคคลที่สามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในความเป็นจริง...ไม่ง่ายเช่นนั้น นักลงทุนทั่วไปส่วนใหญ่ “ทำไม่ได้” นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่า “ทำไม...ยิ่งลงทุนไป ยิ่งรู้สึกห่างไกลเป้าหมาย" ไม่เห็นได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังเอาไว้เลย!!!

รู้หรือไม่ว่า?...องค์ประกอบของผลตอบแทนระยะยาวมาจาก “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” 91.5%, “การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ลงทุน (Stock Selection)” 4.6%, “การจับจังหวะตลาด (Market Timing)” 1.8% และที่เหลือมาจากปัจจัยอื่นๆ อีก 2.1% (ที่มา: “Determinants of Portfolio Performance” Gary Brinson, Randolph Hood and Gilbert Beebower)

เห็นอะไรมั้ย? นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกทุ่มเทแรงกายแรงใจไปทำในสิ่งที่ยากแต่มีผลกับผลตอบแทนน้อยนั่นก็คือ Stock Selection และ Market Timing นั่นเอง (ปีนี้กองทุนไหนดี แล้วซื้อได้ยัง ขายได้ยัง) แทนที่จะเลือกทำในสิ่งที่ง่ายกว่าแต่ส่งผลกับผลตอบแทนมากกว่าอย่าง Asset Allocation

“และนี่คือแนวทางที่นักลงทุนสถาบันชั้นนำระดับโลกใช้กัน รวมถึงนักลงทุนสถาบันในไทย ตลอดจนบริการ Private Banking หรือ Private Fund สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ก็ใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางหลักในการลงทุน ซึ่งกำลังเป็นแนวทางที่ ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)’ และ ‘ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)’ ก็ส่งเสริมให้นักลงทุนทั่วไปใช้แนวทางการลงทุนแบบ Asset Allocation ในการตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของตัวเองเช่นเดียวกัน”

ดังนั้น ใครที่กำลังทุ่มเทแรงกาย-แรงใจไปผิดที่ผิดทาง แนะนำให้หันกลับมาเริ่มต้นด้วยการทำ Asset Allocation กันก่อนดีกว่า (เรื่องที่ฟังดูง่าย...แต่เป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้น) ใครที่แบ่งเงินลงทุนของตัวเองและยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ก็ลุยได้ทันที แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง? ให้คุณทำ “แบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test)” ซึ่งใครที่มีการลงทุนในกองทุนรวมกับบลจ. ไม่ว่าจะเป็น บลจ.ไหนก็ตาม จะต้องทำแบบประเมินนี้อยู่แล้ว ขอให้ตอบคำถามตามความเป็นจริง จะมีการประเมินผลคะแนนในการทำออกมาให้พร้อมกับคำแนะนำการลงทุนในลักษณะของ Asset Allocation แบบทั่วไป” มาให้กับคุณในเบื้องต้นได้ทันที

หรือจะลองใช้เครื่องมือที่ช่วยเช็คความพร้อมทางการเงิน และประเมินความเสี่ยงก่อนเริ่มลงทุน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน คลิกไปที่โปรแกรม  Investnow Starter

“และนี่..ก็เหมือนวัตถุดิบตั้งต้นที่คุณต้องการที่สุด นั่นคือ Asset Allocation เพราะจะช่วยไกด์คุณให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง (ตามคะแนนที่คุณทำได้จากแบบประเมิน) ต้องไม่ลืมว่า...นี่เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทนในการลงทุนมากที่สุดด้วยนะ”

หลังจากทำ Asset Allocation เรียบร้อยแล้ว...และถ้าตอนนี้คุณมีเงินลงทุนอยู่ 100 บาท คุณก็จะรู้แล้วว่า คุณจะแบ่งเงิน 100 บาท ไปลงทุนใน “หุ้น” กี่เปอร์เซ็นต์ และลงทุนใน “ตราสารหนี้” กี่เปอร์เซ็นต์  จากนั้น..ค่อยมาถึงเวลาของการทำ Stock Selection ต่อไปล่ะ

ว่าใน “หุ้น” X% ที่แบ่งไว้นั้น จะลงทุนในกองทุนหุ้นอะไร กองทุนหุ้นประเภทไหน ในประเทศหรือต่างประเทศดี สัดส่วนเท่าไรดี เช่นกันในฝั่งของ “ตราสารหนี้” ก็ทำเช่นเดียวกัน เป็นต้น

แล้วก็จะมาถึงเรื่องสุดท้ายที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญที่สุด นั่นก็คือ ‘Market Timing’ ว่าเมื่อไรจะซื้อ เมื่อไรจะขายดี? ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยที่สุด !!! นี่จึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากคุณทำ Stock Selection เรียบร้อยแล้ว (นั่นคือแบ่งประเภทลงรายละเอียดของสินทรัพย์เรียบร้อยแล้วนั่นเอง) ก็จะมาถึงเรื่องจังหวะในการซื้อ-ขาย หรือ Market Timing ว่า...ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนหรือยัง? หรือเป็นจังหวะในการขายหรือยัง?

Thematic EP5_02

แนวคิดในเรื่องของการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวที่น่าสนใจรูปแบบหนึ่งก็คือ “Strategic Asset Allocation (SAA)”  ซึ่งเป็นการจัดสัดส่วนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ การลงทุนทางเลือก เป็นต้น ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินและความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนเป็นสำคัญ

ตัวอย่าง: กำหนด SAA ด้วยการลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% เป็นต้น ตรงนี้ถือเป็นกรอบการลงทุนระยะยาวที่มีการเอาไว้เพื่อให้เราเดินทางไปสู่เป้าหมายการเงินที่ตั้งไว้ได้อย่างถูกต้อง ไม่ออกจากเส้นทางไปนั่นเอง (นี่เป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลตอบแทนในการลงทุนระยะยาวของคุณ)

สมมุติให้พอร์ตการลงทุนต้นปีของคุณมีเงิน 100,000 บาท แบ่งเป็นลงทุนในหุ้น 50% และลงทุนในตราสารหนี้ 50% ให้หุ้นปรับตัวขึ้นมา 15% ในขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้อยู่ที่ 1% ทำให้สิ้นปีหุ้นในพอร์ตคุณเพิ่มขึ้นเป็น 57,500 บาท ในขณะที่ตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50,500 บาท ทำให้พอร์ตรวมคุณโตขึ้นเป็น 108,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งปี 8% โดยสัดส่วนของหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 53.24% ในขณะที่สัดส่วนของตราสารหนี้ลดลงเหลือ 46.76%

“เมื่อคุณทบทวนแผนการลงทุนสิ้นปีพบว่า สัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปจาก SAA ที่วางเอาไว้ ก็ควรจะขายหุ้น 3,500 บาท เพื่อไปซื้อตราสารหนี้ 3,500 บาท จะทำให้เงินส่วนหุ้นลดลงเหลือ 54,000 บาท ในขณะที่ตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 54,000 บาท เป็นการปรับสัดส่วนใหม่ให้เป็นไปตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ คือ หุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% อีกครั้ง ในทางตรงข้ามหากหุ้นปรับตัวลง จนทำให้สัดส่วนของหุ้นลดลงกว่าแผนเดิมที่วางเอาไว้ ก็อย่าเพิ่งถอดใจให้ปรับสัดส่วนโดยขายตราสารหนี้ไปซื้อหุ้นเพื่อให้แผนการลงทุนของคุณยังเดินไปตามแผนที่ได้วางเอาไว้นั่นเอง”

การที่คุณมีการทบทวนการลงทุนประจำปีเพื่อ “ปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalancing)” ให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์หลัก SAA ที่วางไว้นั้น จะทำให้คุณ ‘ขายของที่แพง’ และ ‘ซื้อของที่ถูก’ อยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องสนใจว่าสภาวะตลาดจะเป็นเช่นไร แต่จะเอากรอบกลยุทธ์การลงทุนที่วางไว้เป็นหลักเป้าหมายที่สำคัญที่จะเดินไป นี่ก็เป็นอีกเหตุผลเบื้องหลัง..ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จของการลงทุนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามโลกของการลงทุนในระยะที่สั้นลงมา หรือในระหว่างการเดินทางของคุณนั้น อาจจะมีจังหวะให้กับการลงทุนที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน ซึ่งการปรับสัดส่วนการลงทุน “ระยะสั้น” ที่เน้นการปรับพอร์ตลงทุน เพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ (Event Risk) เกิดขึ้นนั้น เราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “Tactical Asset Allocation (TAA)” จะเป็นภาพที่ย่อยลงมาในภาพใหญ่ที่ได้มีการวางกรอบเอาไว้ก่อนแล้ว

ตัวอย่าง สมมติเดิม SAA ของคุณมีเงินลงทุน 100,000 บาท แบ่งลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% อย่างไรก็ตามคุณมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นในปี2021 นี้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงอยากจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นขึ้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสการลงทุนไป ในกรณีเช่นนี้สามารถทำ TAA ได้ โดยปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นขึ้นจากเดิมเป็น 60% ในขณะที่ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ลงเหลือ 40%

หากปี2021 นี้ ตลาดหุ้นดีตามที่มองไว้ สมมติทั้งปีบวกไป 20% เงินลงทุนในหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 72,000 บาท มีกำไร 12,000 บาท แต่หากคุณไม่ได้ทำ TAA เงินลงทุนในหุ้นของคุณก็ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท มีกำไร 10,000 บาท

“จะเห็นว่า TAA นี้ เป็นการปรับน้ำหนักในระยะสั้นออกจาก SAA ที่เป็นเป้าหมายหลักในระยะกลางถึงยาวออกมานั่นเอง แต่ก็เป็นการออกนอกกรอบที่ไม่ได้มากเกินไปอาจจะประมาณ 5 – 10% เป็นต้น เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุนในระยะสั้นไป  และในทางตรงข้าม..หากคุณมีมุมมองในเชิงลบต่อการลงทุนในหุ้นปี2021 ก็สามารถทำ TAA เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมได้โดยปรับลดน้ำหนักหุ้นลงเหลือ  40% และเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้เป็น 60% เป็นต้น ซึ่งหากตลาดหุ้นไม่ดีและมีการปรับลงจริง ความเสียหายจากสัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็จะไม่มากและเป็นผลดีต่อพอร์ตการลงทุนโดยรวมของคุณเองด้วย”

การทำ TAA ยังทำให้เราอยู่บนเส้นทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินหลักของตัวเอง โดยไม่พลาดโอกาสการลงทุนระยะสั้นที่มีเข้ามาด้วยเช่นกัน!!!

ด้วยกลยุทธ์ SAA และ TAA นี้ จะทำให้คุณลงทุนอยู่บนเส้นทางหลักที่ได้วางเอาไว้และไม่ต้องกังวลกับภาวะตลาดที่ส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตแต่ประการใด เพราะมีวิธีการบริหารจัดการที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ใช้ “อารมณ์” แต่ใช้ “วินัย” เป็นตัวเข้ามาจับแทน และกลยุทธ์นี้ก็เป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม “กองทุนผสม (Allocation Fund)” ซึ่งวางสัดส่วนการลงทุน เลือกสินทรัพย์ และจับจังหวะลงทุน ซึ่งจะทำให้คุณ ‘ซื้อของถูก’ และ ‘ขายของแพง’ อยู่ตลอดเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

การทบทวนเพื่อ “ปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ (Rebalancing)” เช่นนี้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะทำให้คุณมีโอกาสบรรลุเป้าหมายในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้นด้วย เพราะคุณจะอยู่ในตลาดการลงทุนตลอดเวลา ไม่ว่าตลาด “จะดี” หรือ “จะแย่” ก็ตาม เสมือนการ “ปรับสมดุล” ให้กับพอร์ตของตัวเองเหมือนสัญลักษณ์ ‘หยิน-หยาง’ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่จะสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวให้กับพอร์ตการลงทุนของตัวคุณนั่นเอง ไม่ต้องมานั่งห่วงว่าจะ ‘ซื้อได้หรือยัง’ หรือ ‘ขายได้หรือยัง’ อีกต่อไป

>> สนใจเปิดบัญชีกองทุนรวม: คลิกเลย !!



คำเตือน: ผลตอบแทนในอดีต มิได้รับประกันถึงผลตอบแทนในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: