พรพิวรรณ นิรมลเฉิดฉาย กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอ็พพลาย ดีบี จำกัด (มหาชน)
กรอบกติกาของผู้กำกับดูแล จุดเริ่ม ‘ESG’
บริษัทแอ็พพลาย ดีบี จำกัด (มหาชน) หรือ ADB เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อใดที่ได้เริ่มต้นนับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ย่อมมีก้าวต่อมาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากทุกคนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ความยั่งยืนขององค์กร
“พรพิวรรณ นิรมลเฉิดฉาย” กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอ็พพลาย ดีบี จำกัด (มหาชน) เล่าว่า บริษัทดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีมานานต่อเนื่อง 38 ปี ถ้าจะถามว่าได้ทำเรื่องความยั่งยืนตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งให้เดินในเส้นทาง ESG หรือไม่ ก็มีการทำอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่า ESG
“แน่นอนบริษัทก่อตั้งมา 38 ปี ต้องมีกำไร มีผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ย่อมมีการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จริงๆ ความยั่งยืนอยู่กับเรามาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่การจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มีระบบควบคุม ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส แม้ธุรกิจ ADB จะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เจ้าของกิจการก็ต้องการให้ธุรกิจเติบโต บริหารอย่างมืออาชีพ มีธรรมาภิบาลชัดเจนว่าไม่คดโกง มีความซื่อสัตย์ แม้ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา นี่คือการมี governance ที่มาก่อนนานแล้ว เมื่อ G มีความชัดเจน ด้าน E และ S ก็ตามมาเมื่อเรามีความพร้อมมากขึ้น ธุรกิจต้องคืนกลับไปยังคนรอบข้าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ESG จึงไม่ใช่เรื่องการทำซีเอสอาร์อย่างเดียว แต่ปลายทางคือความยั่งยืน”
พร้อมกล่าวถึงสภาพทั่วไปของการธุรกิจว่า บริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีกฎระเบียบที่ให้ต้องทำเรื่อง ESG นอกจากทำตามกฎหมายอื่นๆ พอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบให้เราต้องปฏิบัติ เช่น เรื่องESG ต้องบอกว่าบริษัททั่วไปจะเข้าใจว่าคือการทำซีเอสอาร์ ว่าเราทำเพื่อคนอื่นแล้วนะ พอเราเข้าตลาดหลักทรัพย์มาในปี 2019 เราเริ่มรู้แล้วว่ามันไม่ใช่แค่ซีเอสอาร์แล้ว ซึ่งบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ที่จะต้องมองเรื่อง ESG จริงๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโปรแกรมต่างๆให้เราเข้ามาเทรนนิงมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มให้เรามีการจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานความยั่งยืนขึ้นมา
“ตอนแรกบริษัทก็ยังงงๆ ว่าจำเป็นต้องมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลหรือไปแฝงอยู่ในหน่วยงานไหนได้บ้าง เราก็ต้องยอมรับว่าขนาดบริษัทที่เป็นเอสเอ็มอียังต้องโฟกัสในการทำกำไรค่อนข้างเยอะ จุดนี้เมื่อทีมงานได้มาเทรนนิ่งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เข้าใจมากขึ้น แต่การที่จะทำ ESG อย่างที่ได้ฟังบริษัทใหญ่ๆ เขาทำ สเกลเขาใหญ่มากแล้ว แต่ขนาดของเราจะทำอะไรได้บ้าง ให้ไปคู่กับธุรกิจของบริษัท และตอบโจทย์ ESG ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องด้วย นั่นคือที่มาให้ทำให้ ADB จัดตั้งคณะทำงานเรื่องอีเอสจีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา”
ADB ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู มีข้อกำหนดต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติในเรื่องระบบโซนนิง ต้องดูแลเรื่องระบบนิเวศในการบำบัดของเสียทั้งหลาย มีกฎระเบียบ เช่น ระบบการบำบัดอากาศ น้ำเสีย มีต้นทุนในการจัดการตามกติกาของการนิคมฯ ที่มีกติกาอยู่แล้ว
“ในอุตสาหกรรมเคมีที่เราทำ ไม่ใช่เคมีที่เป็นพิษ แต่อาจจะปนเปื้อนออกมาในน้ำ ฝุ่น อากาศ ที่มีผลออกมาบ้าง แต่เราอยู่ในกติกาของการนิคมฯ มาโดยตลอด รวมทั้งการขออนุญาตต่างๆ ในการพัฒนาระบบของเรามากขึ้นๆ ยิ่งโรงงานไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกันก็ยิ่งต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรามีการจัดตั้งคณะทำงานสิ่งแวดล้อมขึ้นในแต่ละโรงงาน มีเรื่องความปลอดภัย มีการทำงานอย่างชัดเจน จริงจัง ในการตรวจสอบ ตรวจตรา ล่าสุดเราได้รางวัลกรีนแฟกทอรี นั่นหมายถึงเราต้องทำอะไรที่มากกว่ากติกา ทั้งหมดเป็นต้นทุนที่เราจำเป็นต้องทำ ผู้บริหารก็เล็งเห็นและให้ความสำคัญ”
ความต้องการขั้นกว่า ยกระดับ Well Being สร้างการมีส่วนร่วม
จากข่าวโรงงานระเบิดที่ปรากฏขึ้นเสมอๆ ทำให้ผู้บริหารเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัย สุขภาพอนามัยของพนักงาน แม้จะมีกฎระเบียบตามมาตรฐาน ISO แต่เรื่องนี้ทำให้เราต้องไปในระดับมาตรฐานที่แอดวานซ์มากขึ้น ทำให้ได้ระเบียบ ตรวจตราตามรอบ และมีการทำอย่างเข้มงวด
ดังนั้น จากความต้องการขั้นกว่าในด้านมาตรฐานต่างๆ ของ ADB คือการให้พนักงานมี well being ทำงานอย่างมีความสุข ไม่มีการบ่นหรือร้องเรียนเรื่องฝุ่นหรือมลภาวะอื่นๆ ทั้งน้ำ อากาศ ในโรงงาน ไม่รวมทั้งที่ป้องกันไม่ให้ออกไปข้างนอก การปรับปรุงอุปกรณ์และระบบต่างๆ ที่ต้องทำ เช่น ปีหน้าจะเริ่มปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นระบบออโตฟีดดิง ไม่ให้พนักงานเจอกับเคมีภัณฑ์โดยตรง หรือฝุ่น ควัน จะมีท่อดักเพิ่มขึ้น โดยว่าจ้างผู้ชำนาญมาทำ
หรือระบบไฟฟ้า มาเป็นพลังงานโซลาร์เซลล์มากขึ้น ทำให้ต้นทุนแข่งขันได้ โดยจะมีการลงทุนให้ครบทั้ง 3 โรงงาน รวมทั้งต้นทุนสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเรื่องผลิตภัณฑ์และคุณภาพชีวิตพนักงานดีขึ้นเรื่อยๆ
“นี่คือรูปธรรมที่ทำไป และทุกๆ ปี ให้แต่ละฝ่ายทำแผนว่าจะ ESG ในเรื่องอะไรบ้าง ที่สอดคล้องกับฟังก์ชั่นของแต่ละฝ่าย กิจกรรม E และ S ที่ทำ จะสอดคล้องกับแต่ละฝ่ายในการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะภายในหรือโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะให้เขามีความมีส่วนร่วม หากหน่วยงานความยั่งยืนทำเองจะเป็นภาระของหน่วยงานนั้น หากสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ผลักดันให้แต่ละหน่วยงานมาช่วยกันทำใส่ในแผนงานแต่ละฝ่าย เช่น ปีหน้าบริษัทมีนโยบายเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ยกขึ้นมาทำได้เลย ทั้งนี้เพื่อมุ่งประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพื่อให้เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น”
จากโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เข้าโปรแกรม SD journey ในปี 2019 ผู้บริหาร กรรมการมาฝึกอบรม ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญ มีไกด์ไลน์ นโยบายจากบอร์ดลงมา ต้องทำจริง เรามีทีมงานความยั่งยืนที่ทำไกด์ไลน์ แต่การทำงานต้องมีตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วมเพื่อลงมือทำ มีหน่วยงานติดตามผลรายงานบอร์ด จึงต้องมีการสื่อสาร กระจายความรู้ออกไปทุกฝ่าย ทุกๆ กิจกรรมที่เขาทำมี KPI ที่สอดคล้องกับ E และ S ถ้าไม่มีจัดทำขึ้นมา แล้วมาวัดผล เก็บข้อมูล ว่าสอดคล้องกับ ESG ไหม ถ้าเก็บข้อมูลแล้ว จะปรับปรุงพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้น ตอนแรกๆ อาจจะลำบากที่ยังไม่มีกิจกรรมที่ลงมือทำ แต่หลังจากที่เราเข้มงวดมาต่อเนื่อง เริ่มได้รับรางวัล มาเป็นเครื่องบ่งชี้ผลงานที่พนักงานทุกคนร่วมกันทำ จึงมีความหนักแน่นมากขึ้น
“จริงๆ ESG ต้องระดับทอปให้ความสำคัญ เป็นงานที่ต้องสื่อสารร่วมกันทั้งองค์กรในระดับต่างๆ เพื่อการมีส่วนร่วม แต่ละพนักงานแต่ระดับอาจจะมีส่วนร่วมต่างกัน ให้เขามองว่าบวกก่อนและต้องเข้าใจ ยินดีให้ความร่วมมือว่ามีผลกระทบต่อองค์กร ต่อโลกที่อยู่ยากขึ้น และต่อเนื่องมาถึงปากท้องของพนักงาน ที่มีผลกระทบมากขึ้นจากโลกร้อน โรคภัยไข้เจ็บ การลงมือปฏิบัติจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากสื่อสารแบบนี้พนักงานเข้าใจให้ความร่วมมือ ส่วนใหญ่พนักงานยินดีปฏิบัติ และคนที่เป็นผู้นำต้องให้ความชัดเจน”
ESG journey ไม่เน้นปริมาณ-อิมแพกต์ต้องตรงเป้า
ด้วยความซับซ้อนของโลกที่มากขึ้น ESG เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้องค์กรอยู่อย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นส่วนเกินที่เป็นต้นทุนองค์กรสูงขึ้น ‘พรพิวรรณ’ ย้ำว่า ด้วยขนาดของบริษัทที่ไม่ได้ใหญ่ ที่จะทำทุกอย่างได้ ต้องเลือกเรื่องที่จะทำ ต้องมีอิมแพกต์ตรง ทำแล้วได้ผล เราไม่ต้องการปริมาณมากว่าจะต้องทำ ESG หลายเรื่อง แต่ถ้าเราทำแค่บางเรื่องที่ทำได้จริง เช่น เรื่องการแยกขยะของพนักงานในองค์กร ทำได้จริง นี่ก็คืออิมแพกต์แล้ว ว่าจะทำได้จริงและต่อเนื่องอย่างไร เริ่มจากการทิ้งขยะที่ถูกต้องจนถึงปลายทาง ว่าไม่เทรวมจริงไหม นี่คือสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำได้จริง หากทุกคนช่วยกันแม้จะเรื่องเล็กๆ แต่อิมแพกต์มากกว่า และเป็นเรื่องที่พนักงานรู้สึกว่าทำได้จริง จับต้องได้
“ดังนั้น กิจกรรมที่ลงมือทำไม่ต้องเยอะมาก เพราะโลกเจ็บปวดมานานแล้ว หลายๆ อย่าง อยากทำๆ แต่ไม่มีอิมแพกต์ จึงมาคุยกันว่าเอาเป็นธีมดีกว่า ให้ชัดเจน แต่ละปีต้องวัดผลได้”
บางกิจกรรม อย่างการจัดซื้อ มีกิจกรรมที่จะเพิ่มหรือลดปริมาณเรื่องโลกร้อนอย่างไร เราก็กำหนดเกณฑ์ผู้ซื้อ หากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะได้รับการพิจารณาพิเศษ เป็นการทำงานจริง ที่ไม่ใช่การรณรงค์ทั่วไป เพื่อให้สินค้าของเราเฟรนด์ลี มีความปลอดภัย และเป็นทางเลือกของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม เราพยายามแบ่งกลุ่มลูกค้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ลดความอันตรายจากวัตถุดิบ เช่น ตัวที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น มีใบกำกับถึงวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน เพื่อกำหนดคุณสมบัติของเวนเดอร์ อาจจะมียืดหยุ่นและให้เวลาปรับตัวตามความสำคัญในการคัดเลือก เพื่อให้เวนเดอร์ค่อยๆ เพิ่มสกอร์พัฒนา
การแบ่งคู่ค้า มีกลุ่มหลักที่ซื้อจำนวนมาก เป็นวัตถุดิบที่หายาก ไม่มีไม่ได้ กลุ่มนี้ต้องถูกคัดกรองอย่างดี อันดับแรกดูที่คุณภาพ เพื่อตอบโจทย์คุณภาพที่ลูกค้าตั้งไว้ตั้ง ส่วนคู่ค้ากลุ่มที่รองลงมามีคู่แข่งจำนวนมาก หาได้ไม่ยาก จะลดดีกรีการตรวจตราลดลง
“โดยธุรกิจ ADB เป็นทั้งลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ และอีกขาเราเป็นคู่ค้า ที่เรามีลูกค้าในการส่งออก การที่เราได้มาตรฐานสินค้าสีเขียว ที่เราต้องมี นี่คือว่าทำไม ESG ต้องมา ไม่ใช่เฉพาะสมัครใจ เราทำธุรกิจ ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับลูกค้า คู่ค้า เราต้องจัดการระดับความสำคัญให้ถูกต้อง”
ESG ทางรอดและทางเลือก
เมื่อถามว่า ESG เป็นภาระหรือทางรอด ‘พรพิวรรณ’ บอกว่า หากไม่มีความเข้าใจในการทำ ESG ทำให้การสื่อสารกับฝ่ายบริหารยาก ในการทำต่อเนื่อง แต่ ESG เป็นทางรอด แต่จะทำอย่างไรให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ เอื้อประโยชน์กับการทำธุรกิจ บางเรื่องอาจะไม่สามารถชี้วัดกำไร ขาดทุน แต่เป็นตัวเสริมที่ขาดไม่ได้ การนำ ESG มาประกอบในแผนธุรกิจได้ต้องมีความเข้าใจว่า ESG เป็นทั้งทางเลือกและทางรอด การทำ ESG เป็นเรื่องการลงทุนที่ต้องวางแผนกับฝ่ายบริหาร หากต้องใช้เงินลงทุนมากต้องวิเคราะห์ผลที่ได้ มีขั้นตอนการทำอย่างไร แต่ในส่วนกิจกรรมเสริม การจัดลำดับความสำคัญเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทต้องชัดว่าจะมุ่งไปทางไหน เพื่อให้สอดคล้องและล้อกันไปว่าไม่ใช่ภาระของพนักงาน ให้ทุกคนสอดแทรกเข้าไปอยู่แผนงานได้ งบประมาณที่ต้องใช้ค่อยๆ ทยอยทำไปเรื่อยๆ
ส่วนความท้าทายที่จะเดินไปสู่เส้นทาง ESG ‘พรพิวรรณ’ บอกว่า “เราจะโดนสกัดจากฐานะขององค์กร หากบริษัทประสบภาวะขาดทุนจากวิกฤติต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาน้ำมันพุ่ง การจะทำอะไรต่อจะชะลอไป เพราะการทำ ESG ก็ต้องใช้เงิน ในการทำงาน ทำให้การเดินทางของ ESG ที่จะทำให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ถูกชะลอลงมา แต่ต้องทำ เพราะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้ ESG พนักงานไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงของการปรับตัว ทุกคนอาจจะรู้สึกว่างานงอก แต่พอได้รับรางวัล พนักงานรู้สึกว่านี่คือผลงานที่เราทำ ดังนั้น การสื่อสารสำคัญมาก เพื่อให้เข้าใจว่ากิจกรรมที่ทำ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามระดับของแต่ละคน ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ซีอีโอนำทัพ สร้างความฮึกเหิม พนักงานลงทำ ต้องทำอย่างไร จะได้อะไรจากโครงการนั้นๆ หากชัดเจน ความร่วมมือจะตามมา อย่าง การได้ติดรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความสำร็จ อากาศดีขึ้น สภาพแวดล้อมดีขึ้น ตรวจร่างกายแล้วสุขภาพดีขึ้น ให้เขารู้สึกได้ประโยชน์จากกิจกรรม ไม่ใช่ทำเพราะหัวหน้าสั่งหรือกิจกรรมของบริษัท เราหวังจากนี้เราอยากทำให้เป็นดีเอ็นของพนักงานในเรื่องESG แม้จะไม่มีรางวัล”
อ้างอิง
[1] ThaiPublica. ‘แอ็พพลาย ดีบี’ … ESG journey ไม่เน้นปริมาณ-อิมแพกต์ต้องตรงเป้า