สับเปลี่ยนกลุ่มลงทุน ด้วยกลยุทธ์ Sector Rotation

โดย รัฐการ เปี่ยมพงศ์สานต์ Chief Marketing Officer ฝ่ายค้าหลักทรัพย์ 3 บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)
3 Min Read
9 กรกฎาคม 2564
7.828k views
Inv_สับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนด้วยกลยุทธ์Sect_Thumbnail
Highlights
  • Secor Rotation คือ การปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจหนึ่งไปยังอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ การขายหุ้นในกลุ่มนั้นออกมา เพื่อไปซื้อหุ้นอีกกลุ่มที่มี Sentiment ไปในทางบวก และมีโอกาสที่จะเห็นระดับราคาของหุ้นปรับขึ้นได้ง่ายกว่าหุ้นใน Sector เดิมที่เราถืออยู่นั่นเอง

  • สัญญาณที่จะบอกว่า... ถึงเวลาที่นักลงทุนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวหุ้นใน Sector ที่ถืออยู่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สัญญาณที่มาจากตัวบริษัท และสัญญาณที่มาประเด็นทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยภายนอก

ปัจจุบันหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถูกจัดกลุ่มเป็น 8 อุตสาหกรรม (Industry) และ 28 หมวดธุรกิจ (Sector) เพื่อให้บริษัทที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทำให้นักลงทุนสามารถคัดเลือก เปรียบเทียบ และตัดสินใจลงทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าอยากลงทุนในหุ้นธุรกิจการเงิน (FINANCIAL) เราก็สามารถเลือกดูได้ว่าใน Sector BANK FIN หรือ INSUR มีตัวไหนที่น่าสนใจบ้าง จากนั้นเราก็สามารถใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ มาเป็น Benchmark ในการเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ

 

ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าเราลงทุนในหุ้นของบริษัทหนึ่ง ซึ่งอยู่ใน Sector ที่เราชอบ แต่พอเวลาผ่านไป หุ้นตัวที่เราซื้อกลับมีการเคลื่อนไหวของระดับราคาที่ไม่ค่อยน่าพอใจสักเท่าไหร่ เช่น ปรับตัวลดลง หรือขึ้นช้ามากๆ (Underperform) ขณะที่หุ้นใน Sector อื่น กลับมีระดับราคาที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างโดดเด่น ถ้าเรายังถือหุ้นตัวเดิมอยู่ในพอร์ตต่อไป อาจสร้างผลเสียหายต่อพอร์ตและภาพรวมของการลงทุนในหุ้นของเรา ซึ่งสัญญาณแบบนี้ Sector Rotation” ช่วยได้!!!

 

Sector Rotation คืออะไร?

 

Secor Rotation คือ การปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจหนึ่งไปยังอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ การขายหุ้นในกลุ่มนั้นออกมา เพื่อไปซื้อหุ้นอีกกลุ่มที่มี Sentiment ไปในทางบวก และมีโอกาสที่จะเห็นระดับราคาของหุ้นปรับขึ้นได้ง่ายกว่าหุ้นใน Sector เดิมที่เราถืออยู่นั่นเอง

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในแต่ละ Sector

 

การเลือกลงทุนในแต่ละ Sector นั้น จะมีปัจจัยบางอย่างที่เราต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหรือขาย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละ Sector ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากลงทุนใน “หุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร” เราอาจต้องพิจารณาประเด็นเรื่องการเติบโตของกำไร อุปสงค์ (Demand) ของสินค้าที่ผลิตได้ โอกาสของการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

 

หรือถ้าสนใจลงทุนใน “หุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง” เราอาจต้องติดตามเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้าง Infrastructure ความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด

 

หรือกรณีที่สนใจลงทุนใน “หุ้นกลุ่มพลังงาน” เราก็จำเป็นต้องติดตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ราคาถ่านหิน ความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ รวมไปถึงนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนแห่งชาติ เป็นต้น

 

สัญญาณสำคัญ... ถึงเวลาเปลี่ยนกลุ่มลงทุน

 

หากเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว (1-3-6 เดือน) ผลตอบแทนจากการลงทุนของพอร์ตไม่ได้เป็นตามที่เราคาดไว้ แปลว่าหุ้นที่เราเลือกลงทุนนั้น ระดับราคามีการปรับตัวลง หรือแม้ว่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ช้ามาก (Laggard) เมื่อเทียบกับผลตอบแทนใน Sector อื่น เราควรต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวหุ้น หรือเปลี่ยน Sector  เพราะถ้ายังคงถือหุ้นตัวเดิมใน Sector เดิมที่มีลักษณะ Underperform ต่อไป อาจทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตเสียหายได้ในระยะยาว

 

สัญญาณ (Signal) ที่จะบอกเราได้ว่าถึงเวลาแล้ว... ที่เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวหุ้นใน Sector ที่เราถืออยู่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

 

  • สัญญาณของปัญหาที่มาจากตัวบริษัท (Company or Internal)
  • สัญญาณของปัญหาที่มาจากประเด็นทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยภายนอก (Macro or External)

 

บางครั้งบริษัทที่เราตัดสินใจลงทุน ประสบกับปัญหาใหญ่บางอย่างที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท เช่น ปัญหาเรื่องที่มาของวัตถุดิบ หรือปัญหาของเรื่องยอดขายที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก หรืออาจเป็นปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหาร ถือว่าเป็นสัญญาณที่สำคัญที่เราต้องประเมินและตัดสินใจว่าจะลงทุนต่อบริษัทนั้นหรือไม่

 

ขณะเดียวกันแม้ว่าปัจจัยต่างๆ ในตัวบริษัทยังดูดีอยู่ แต่ภาพรวมของ Sector นั้น กลับได้รับผลกระทบด้านลบจากประเด็นปัญหาที่เกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยภายนอก เช่น ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ปรับตัวลดลง นโยบายของภาครัฐ ปัญหาด้านการเมือง หรือแนวโน้ม (Trend) ของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ประเด็นเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญมากในการส่งสัญญาณว่า... เราควรต้องมีการปรับเปลี่ยนหุ้นใน Sector ที่เราถืออยู่

 

ในทางปฏิบัติ หากปัญหามาจากตัวบริษัท (Company or Internal) เราอาจแค่เปลี่ยนตัวหุ้นที่ถือ แต่ยังไม่เปลี่ยน Sector ได้ แต่หากปัญหามาจากภาพรวม (Macro or External) การเปลี่ยนหุ้นจาก Sector ที่เราถืออยู่ไปยัง Sector อื่น น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า


นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถใช้สัญญาณจาก “ปัจจัยทางเทคนิค” มาช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจเปลี่ยนกลุ่มลงทุนได้ด้วย โดยกรณีที่ราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 5-10-25-75 วัน จะถือเป็นจุดเริ่มของการบอกสัญญาณว่าตัวหุ้นหรือ Sector ที่ถืออยู่เริ่มมีปัญหา แต่หากราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ถือเป็นการ Confirm การเปลี่ยนเทรนด์ ควรตัดสินใจเปลี่ยนตัวหุ้น หรือ Sector ได้เลย

 

กรณีศึกษาในการปรับเปลี่ยน Sector

 

ช่วงต้นปี 2559 ถ้าเรามีหุ้นกลุ่มสื่อสาร (ICT) อยู่ในพอร์ต จะเห็นว่า... ประเด็นการประมูล 4G ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ชนะการประมูลต้องใช้เงินลงทุนสูงมากๆ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในแต่ละไตรมาสในช่วง 1 - 2 ปีต่อจากนั้น มีแนวโน้มที่จะออกมาต่ำกว่าที่เคยทำได้อย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม เราก็จะเห็นว่า... ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 26 – 30 เหรียญขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานอย่างชัดเจน

 

ดังนั้น ถ้าเรามองว่าแนวโน้มกลุ่มสื่อสารจะยัง Underperform ตลาดไปอีกระยะ เราก็ควรเอาปัจจัยเหล่านี้มาเป็นสัญญาณที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน Sector จากกลุ่มสื่อสาร (ICT) มาเป็นกลุ่มพลังงาน (ENERG) ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน และทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากกว่าเดิม

 

ตัวช่วยในการพิจารณาเปลี่ยน Sector และสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากเปลี่ยน Sector

 

ก่อนที่จะตัดสินใจในการปรับเปลี่ยน Sector ของหุ้นในพอร์ต นักลงทุนควรมีข้อพึงปฏิบัติบางอย่าง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น หมั่นติดตามอ่านบทวิเคราะห์ Preview ล่วงหน้ารายปี หรือรายไตรมาส เพื่อให้เห็นภาพรวมล่วงหน้าของแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ วิเคราะห์ข้อมูลให้ออกว่าปัญหาต่างๆ จะส่งผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบยาวนานแค่ไหน รวมทั้งอาจสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การตลาด (IC) หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

 

หลังจากตัดสินใจจะเปลี่ยน Sector แล้ว นักลงทุนควรศึกษาและทำการบ้านเป็นอย่างดีว่า Sector ที่เราจะ Switch ไปเข้านั้นต้องดีกว่าเดิม และการปรับเปลี่ยนนั้นอาจทยอยปรับบางส่วน หรือปรับทั้งหมดของพอร์ตก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม โดยเราต้องมีการสำรวจติดตาม (Keep Monitor) ประเด็นการลงทุนต่างๆ ของหุ้นใน Sector ที่เรา Switch มาถือว่า ในแต่ละช่วงเวลาจะมีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบในด้านลบหรือไม่ ถ้ามีประเด็นหรือสัญญาณเตือนบางอย่างที่ไม่ดี เราก็ควรรีบพิจารณาและตัดสินใจว่าควรจะต้องมีการปรับ Sector อีกครั้งหรือไม่

 

สุดท้ายนี้... หากเราเป็นนักลงทุนที่หมั่นศึกษา ติดตามประเด็นการลงทุน รวมทั้งใช้ความรู้เรื่อง Sector Rotation มาเป็นตัวเสริมในการพิจารณาปรับ Sector เมื่อมีความจำเป็น เราก็จะเป็นนักลงทุนที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาส
ในการสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง: