นักลงทุนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกับหุ้นอาจสงสัย และมีคำถามในใจว่า... “วันนี้หุ้นที่ถือไว้ ราคาจะเพิ่มขึ้นหรือจะลดลง” หรือ “ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร” การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น หรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกันก่อน ซึ่งแนวคิดที่จะช่วยให้นักลงทุนตอบคำถามดังกล่าวได้ก็คือ “การหามูลค่าที่แท้จริง” (Intrinsic Value) ของหุ้น
ราคาหุ้น... ถูกกำหนดมาจากปัจจัยใดบ้าง?
ทุกกิจการย่อมมีมูลค่าที่แท้จริงด้วยกันทั้งนั้น โดย “มูลค่าที่แท้จริง” (Intrinsic Value) ของหุ้นก็คือ ราคาที่ควรจะเป็นหรือราคาเป้าหมายของหุ้นตัวนั้นว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งสะท้อนมาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ภาพของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงผลการดำเนินงานและโอกาสการเติบโตของกิจการในอนาคต
การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเกิดจากความเชื่อที่ว่า... นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นวันนี้ ย่อมคาดหวัง “ผลประโยชน์หรือผลตอบแทน” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุนในหุ้นดังกล่าว ดังนั้น ราคาหุ้นที่นักลงทุนยอมจ่ายในวันนี้ จึงเป็นราคาสำหรับสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะได้รับในอนาคต
พูดง่ายๆ คือ มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามการคาดการณ์ของนักลงทุนถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งผลการดำเนินงานของกิจการ แล้วประเมินออกมาว่า... สิ่งที่ตนจะได้รับในอนาคต ทั้งในรูปของ “เงินปันผล” และ “ส่วนต่างราคา” จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร
หุ้นตัวไหนที่ปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเอื้ออำนวย แถมตัวบริษัทยังมีผลประกอบการดี และมีโอกาสเติบโตสูง หุ้นเหล่านั้นก็จะมีมูลค่าที่แท้จริงสูง แต่ถ้าหุ้นตัวไหนที่ภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม่ค่อยเอื้ออำนวย สักเท่าไหร่ ผลประกอบการก็ไม่สู้ดีนัก โอกาสเติบโตก็ไม่ค่อยมี มูลค่าที่แท้จริงก็จะต่ำลงตามไปด้วย ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามารถเปลี่ยนไปได้เสมอ กิจการที่เคยมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ๆ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจกลับลดลง ก็ทำให้มูลค่าที่แท้จริงลดลงได้
ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลง... เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุน
เมื่อกิจการนำหุ้นไปจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเข้าสู่กลไกตลาด คือ มีแรงซื้อและแรงขายจากนักลงทุนที่มีมุมมองต่อหุ้นนั้นที่แตกต่างกัน ทำให้ “ราคาหุ้นในตลาด” หรือราคาที่นักลงทุนต้องจ่ายเพื่อซื้อหุ้นนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแรงซื้อ-แรงขายนั้น จึงเป็นเหตุผลให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปมาในแต่ละเวลา เป็นตัวเลขสีเขียว (ราคาหุ้นขึ้น) และตัวเลขสีแดง (ราคาหุ้นลง) ดังที่เราเห็นเป็นตัววิ่งในโทรทัศน์นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ถ้านักลงทุนคาดว่า... ภาวะเศรษฐกิจดี อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาขึ้น บริษัทน่าจะมีผลประกอบการที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว หรือคาดว่าราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต มีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา จึงตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวนั้น จากมุมมองที่คาดหวังต่อตัวบริษัทเช่นนี้ จึงส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจากแรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน ถ้านักลงทุนคาดว่า... ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง ยอดขายและกำไรของบริษัทอาจจะลดลงหรืออาจขาดทุน หากลงทุนในหุ้นดังกล่าว อาจขายได้ในราคาที่น้อยกว่าตอนซื้อมา เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้นักลงทุนรู้สึกถึงความเสี่ยงจากการลงทุนและตัดสินใจไม่ลงทุนในหุ้นตัวนั้น หรือคนที่มีหุ้นอยู่จะเทขายหุ้นออกมา เมื่อมีแรงขายจำนวนมาก ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงในที่สุด
ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า “ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลง... เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุน” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะราคาตลาดของหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่า... มุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดมองหุ้นนั้นอย่างไร หากส่วนใหญ่มองว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าเข้าซื้อหุ้น มีแรงซื้อมากกว่าแรงขาย ราคาตลาดก็จะเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันถ้าส่วนใหญ่มองว่าควรขายหุ้นในปัจจุบัน เมื่อมีแรงขายมากกว่าแรงซื้อ ก็จะทำให้ราคาตลาดของหุ้นลดลงนั่นเอง การคาดการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นที่เราเห็นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งราคาหุ้นในตลาดอาจต่ำกว่า สูงกว่า หรือเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงก็ได้
มูลค่าที่แท้จริง VS ราคาตลาด... เปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น
ในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น นักลงทุนต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในระดับมหภาค ข้อมูลในระดับอุตสาหกรรม และข้อมูลของบริษัท แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประกอบในการประเมิน “มูลค่าหุ้นที่แท้จริง” ของบริษัท ซึ่งบริษัทที่มีฐานะทางการเงินและมีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดี อาจไม่ใช่บริษัทที่น่าลงทุนเสมอไป ขึ้นอยู่กับ “ราคาหุ้น” ที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในแต่ละขณะด้วยว่ามีความเหมาะสมและคุ้มค่าต่อเงินลงทุนเพียงใด
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อให้เข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาหุ้น และนำมาใช้ประกอบการประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อค้นหาหุ้นดี ราคาเหมาะสม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่