หุ้นปันผล ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนจะต้องมีติดพอร์ตไว้เสมอ ด้วยจุดเด่นในเรื่องการจ่ายผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เปรียบเสมือน "ไข่ห่านทองคำ" ที่เป็นขุมทรัพย์ชั้นดีให้เราทยอยเก็บดอกผลในระยะยาวไปเรื่อย ๆ
ยิ่งช่วงไหนที่ตลาดมีความเสี่ยงสูง และผันผวนจนยากจะคาดการณ์ทิศทางอนาคต ขณะที่อัตราผลตอบแทนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝาก หรือ พันธบัตรรัฐบาล ก็น้อยจนไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหุ้นปันผลถึงได้รับความสนใจอยู่เสมอ เพราะช่วยลดทั้งความผันผวนของตลาดหุ้น และสร้างเงินสดในรูปแบบ Passive Income ทุก ๆ ปี
คัดหุ้นปันผลจาก Dividend Yield
Dividend Yield หรือ อัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ย คือ อัตราส่วนทางการเงินที่บอกให้ทราบว่า หากซื้อหุ้น ณ ราคาปัจจุบัน จะมีโอกาสได้รับเงินปันผลคิดเป็นอัตราร้อยละเท่าไรจากราคาหุ้นที่ซื้อ โดยหุ้นปันผลที่ดีควรมี Dividend Yield สูงกว่าหุ้นอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้บริษัทจดทะเบียนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติ COVID-19 ทำให้ผลการดำเนินงานชะลอการเติบโตไปบ้าง แต่เมื่อมองดูตัวเลขสถิติการจ่ายเงินปันผล พบว่า หลักทรัพย์ทั้งหมดใน SET มี Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ที่ 3.32% ส่วนหลักทรัพย์ใน mai มี Dividend Yield เฉลี่ยที่ 2.56%
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยสูงที่สุด 3 อันดับแรกใน SET ได้แก่ ธุรกิจการเงิน (FINCIAL), อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) และเทคโนโลยี (TECH) โดยมี Dividend Yield เฉลี่ยปี 2563 ที่ 4.63%, 4.37% และ 4.22% ตามลำดับ
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยสูงที่สุด 3 อันดับแรกใน mai ได้แก่ ธุรกิจการเงิน (FINCIAL), สินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) และสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) โดยมี Dividend Yield เฉลี่ยปี 2563 ที่ 3.82%, 3.33% และ 2.70% ตามลำดับ
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถคัดกรอง “หุ้นปันผล” รายตัวด้วยตัวเองได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com โดยใช้เครื่องมือพิจารณาหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูง ประวัติการจ่ายเงินปันผลย้อนหลังต่อเนื่อง รวมถึงมีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่ดี
อยากลงทุนหุ้นปันผล ต้องรู้อะไรอีกบ้าง?
นอกจากจะคัดกรองหุ้นปันผลจาก Dividend Yield แล้ว การเลือกหุ้นสักตัวเพื่อถือลงทุนในระยะยาว ควรที่จะใช้ปัจจัยอื่น ๆ พิจารณาควบคู่ให้ครบทุกมิติด้วย
มิติแรกของการหาหุ้นปันผล ควรสำรวจโครงสร้างทางการเงินว่าแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะการจะจ่ายปันผลได้นั้น ธุรกิจต้องมีกำไร รวมถึงมีกระแสเงินสดเพียงพอในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งปัจจัยทางการเงินที่นิยมใช้พิจารณา อย่างเช่น
- บริษัทมีกำไรสะสม: ปกติแล้วบริษัทที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นนั้น กำไรสะสมควรเป็นบวก และแม้จะมีกำไรสุทธิระหว่างงวดที่สูง แต่หากยังขาดทุนสะสมอยู่ บริษัทก็มักที่จะเลือกนำกำไรดังกล่าวไปชดเชยส่วนที่ยังขาดทุนสะสม เพื่อความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคต โดยนักลงทุนสามารถดูกำไรสะสมได้จากงบแสดงฐานะการเงิน
- หนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ในระดับเหมาะสม: โครงสร้างหนี้สินเป็นตัวที่บ่งบอกความเสี่ยงของธุรกิจ โดย D/E Ratio คืออัตราส่วนทางการเงินที่นิยมใช้วัดความเสี่ยง ยิ่งค่านี้น้อยยิ่งดี สะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่มั่นคง
- งบกระแสเงินสดเป็นบวก: เราสามารถเช็กสภาพคล่องของธุรกิจจากงบกระแสเงินสด ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงเงินสดของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หากบริษัทไหนเงินสดติดลบ นั่นแปลว่าการดำเนินงานส่อแววไม่ดีแล้ว ดังนั้นเงินสดจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ห้ามมองข้าม
หุ้นที่มีสภาพคล่องสูง ๆ พอเวลาจะซื้อจะขายก็ทำได้ง่ายกว่าหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ โดยเราสามารถดูสภาพคล่องได้จากปริมาณการซื้อขายต่อวัน นอกจากนี้ อาจจะใช้วิธีเลือกหุ้นกลุ่มที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ เช่น หุ้นในดัชนี SET High Dividend 30 Index เป็นต้น
สิ่งสำคัญของการซื้อหุ้นปันผล คือ เน้นถือลงทุนในระยะยาว ดังนั้น จึงควรพิจารณาบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ และเงินปันผลที่สูง ๆ นั้น ไม่ได้มาจาก “กำไรพิเศษ” ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
ตัวอย่างเช่น บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์บางอย่างออกไป อาทิ ที่ดิน อาคาร หน่วยลงทุน หรือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ที่ถืออยู่ รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และกำไรจากสต๊อกน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งกำไรเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของธุรกิจจริง ๆ แต่เป็นรายการพิเศษที่คาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ การย้อนดูสถิติอัตราการจ่ายปันผลย้อนหลังหลาย ๆ ปี เป็นสิ่งที่ช่วยพิจารณาได้ แต่ก็ต้องนึกอยู่เสมอว่าการจ่ายปันผลในอดีตไม่สามารถการันตีอนาคต และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน ผู้ลงทุนสามารถศึกษาหุ้นปันผลและประมาณการณ์อัตราการจ่ายปันผลหุ้นรายตัวจากนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน >> คลิกที่นี่
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน