ในการดำเนินโครงการ CGR นั้น ทาง IOD ได้ แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการ (Steering Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน เพื่อให้ข้อเสนอแนะและพิจารณาหลักเกณฑ์การสำรวจ แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลสำรวจและการจัดทำรายงาน ตลอดจนแนวทางการประกาศผลสำรวจในภาพรวม เพื่อให้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในการสำรวจมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะที่ผ่านมา ได้มีการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการกำกับดูแลกิจการอยู่เป็นระยะ
ในการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนนั้น มุ่งหวังเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ในขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนก็สามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นแนวทางสำหรับปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาลของบริษัทต่อไป นอกจากนี้ข้อมูลผลประเมิน CGR ยังเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่จะใช้ประกอบการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการตัดสินใจลงทุนอีกด้วย
1. การเข้าประเมิน
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จะได้รับการประเมินตาม หลักเกณฑ์การสำรวจโครงการ CGR โดยไม่ต้องสมัครเข้าร่วม ยกเว้น บริษัทที่เข้าเงื่อนไขต่อไปนี้จะไม่ได้รับการประเมิน
2. เกณฑ์การพิจารณา
หลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนของ CGR ได้รับการพัฒนามาจาก หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Corporate Governance Code ของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. รวมทั้งเกณฑ์การประเมินของ ASEAN CG Scorecard เพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและสามารถใช้ชี้วัดการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรอบการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนแบ่งออกเป็น 5 หมวด โดยแต่ละหมวดจะมีเกณฑ์ชี้วัดและประเมินการปฏิบัติตามหลักการของหมวดนั้นๆ ซึ่งเน้นเครื่องมือชี้วัดที่เป็นรูปธรรมและสามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ โดย IOD ได้จัดทำ หลักเกณฑ์การสำรวจ CGR ที่ระบุรายละเอียดประเด็นที่ประเมินพร้อมกับแนวพิจารณาเอาไว้อย่างครบถ้วน
3. ข้อมูลที่ใช้ประเมิน
การสำรวจและให้คะแนนของ CGR จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น รายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีที่นำส่งสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อมูลอื่นๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น เว็บไซต์บริษัท เป็นต้น โดยจะพิจารณาเฉพาะข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมของปีก่อนปีที่ทำการสำรวจ จนถึงวันที่ประกาศผลของปีที่ทำการสำรวจเท่านั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยอย่างชัดเจนมากที่สุด ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนจึงควรเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการสู่สาธาณชนในเอกสารเผยแพร่ของบริษัทหรือเว็บไซต์ รวมทั้งช่องทางต่างๆ ให้มากที่สุด และควรจัดทำเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัททั้งในแง่ของการมีผลการประเมินที่ดีขึ้น และเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน นักวิเคราะห์ และผู้สนใจ อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทมากยิ่งขึ้นด้วย
4. การประกาศผลประเมิน
การแสดงผลประเมิน CGR แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มตามช่วงคะแนนที่ได้รับ โดยใช้จำนวน “ตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ” แสดงผลคะแนนในแต่ละระดับ โดยบริษัทจดทะเบียนจะได้รับผลประเมินเบื้องต้นของตนเองพร้อมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานทุกปี
ช่วงคะแนน | สัญลักษณ์ | ความหมาย |
---|---|---|
90-100 | ![]() | ดีเลิศ (Excellent) |
80-89 | ![]() | ดีมาก (Very Good) |
70-79 | ![]() | ดี (Good) |
60-69 | ![]() | ดีพอใช้ (Satisfactory) |
50-59 | ![]() | ผ่าน (Pass) |
ต่ำกว่า 50 | - | N/A |