ปรับพอร์ตกองทุนรวม... เมื่อไหร่ดี?

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
16 กรกฎาคม 2564
4.801k views
Inv_ปรับพอร์ตกองทุนรวม เมื่อไหร่ดี_Thumbnail
Highlights
  • ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน คือ การติดตามข่าวสารและสถานการณ์รอบด้านอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็ ‘ปรับพอร์ตลงทุน’ ให้เข้ากับจังหวะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

  • หากนักลงทุนมือใหม่ยังไม่รู้ว่าจะต้องปรับพอร์ตลงทุนเมื่อไหร่ ลองใช้หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม ได้แก่ ระยะเวลาลงทุน เป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการ และสถานการณ์ของตลาด

ปรับพอร์ตกองทุนรวม... เมื่อไหร่ดี?

Inv_ปรับพอร์ตกองทุนรวม เมื่อไหร่ดี_01


“การปรับพอร์ตลงทุน”
เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการลงทุน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตอาจผิดเพี้ยนไปจากสัดส่วนตั้งต้น ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตเพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

การปรับพอร์ตลงทุนจึงทำให้มั่นใจได้ว่า พอร์ตลงทุนจะยังตอบโจทย์เป้าหมายในอนาคต แถมยังอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการวางแผนการปรับพอร์ตลงทุนมีดังนี้

 

1. กำหนดตามช่วงระยะเวลา เช่น จะปรับพอร์ตทุกไตรมาส ทุก 6 เดือน หรือทุกปี
2. กำหนดเป้าหมายผลตอบแทนในการปรับพอร์ต เช่น ถ้าพอร์ตมีกำไร 5% 10% หรือ 15% จะปรับพอร์ต 1 ครั้ง
3. กำหนดตามสถานการณ์ของตลาด เช่น ถ้าประเมินว่าตลาดเป็นขาขึ้น ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่วิธีนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ในการประเมินตลาดได้อย่างชัดเจน มิฉะนั้นอาจประเมินสถานการณ์ผิดได้

 

แล้วทางเลือกในการปรับพอร์ตให้บรรลุเป้าหมายล่ะ... มีอะไรบ้าง?

 

1. อยู่เฉย ๆ

หากเราติดตามผลตอบแทนของพอร์ตตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วพบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะมูลค่าพอร์ตของเราก็จะลดลง ทำให้ถึงเป้าหมายการลงทุนช้ากว่าที่ตั้งใจไว้

 

2. เพิ่มผลตอบแทน เพิ่มความเสี่ยง

พูดง่าย ๆ ก็คือ การเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงสูงให้มากขึ้น เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เช่น ตอนนี้พอร์ต 50% อยู่ในกองทุนรวมตราสารหนี้ อีก 50% อยู่ในกองทุนรวมหุ้น ก็อาจจะปรับพอร์ตมาถือกองทุนรวมหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 70% และถือกองทุนรวมตราสารหนี้ 30% เป็นต้น ทั้งนี้ อย่าลืมประเมินด้วยว่า สัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นนั้น ยังเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้อยู่หรือไม่

 

3. เปลี่ยนกองทุน เน้นที่สร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น

ลองเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ถืออยู่กับกองทุนรวมอื่น ๆ ที่เป็นกองทุนรวมประเภทเดียวกัน หรือนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกันว่า ยังมีกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหรือเหมาะสมกับเป้าหมายของเรามากกว่าหรือไม่ ถ้ามี ก็สามารถเปลี่ยนจากกองทุนเดิมไปถือกองทุนใหม่ เพื่อให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้

 

4. เพิ่มเงินลงทุน

ถ้าทั้ง 3 ทางเลือกยังไม่ตอบโจทย์ การพิจารณาเพิ่มเงินลงทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยอาจลงทุนเพิ่มเป็นเงินก้อนอีกก้อนหนึ่ง หรือจะลงทุนเพิ่มแบบ DCA ก็ได้ เพื่อให้มูลค่าพอร์ตลงทุนเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

 

ศึกษาวิธีการบริหารและติดตามพอร์ตกองทุนรวมเพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจาก e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: