ความสำคัญของการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อลงทุน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
12 กรกฎาคม 2564
11.104k views
Inv_ความสำคัญของการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อลงทุน_Thumbnail
Highlights

การลงทุนแบบการจัดสรรสินทรัพย์อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงเหมือนการเลือกลงทุนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แต่จะเน้นไปที่ความเสถียรของผลตอบแทนในระยะยาวและการปกป้องความเสี่ยงของเงินลงทุนมากกว่า

กฏเหล็กอย่างหนึ่งของการลงทุน คือ อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งเป็นหลักของการกระจายการลงทุนไปหลายประเภทสินทรัพย์ และเป็นการกระจายความเสี่ยง หรือที่รู้กันดีว่า การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Asset Allocation)

 

ในโลกของการลงทุน “ความเสี่ยงและผลตอบแทน” มักจะมาคู่กันเสมอและหนทางเดียวที่จะสามารถจัดการความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การกระจายการลงทุน จากผลงานวิจัยของ Harry Markowitz พบว่าการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยมีสัดส่วนสูงถึง 94% ส่วนที่เหลืออีก 6% เป็นการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนและการจับจังหวะตลาด ซึ่งอาจจะทำให้ได้ผลตอบแทนสูงเป็นครั้งคราวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ยิ่งสถานการณ์ในตลาดทุนโลกที่ยังมีความผันผวนจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสของผลตอบแทนที่สม่ำเสมอขึ้นได้ และการปรับพอร์ตลงทุนตามความเหมาะสม ย่อมตอบโจทย์ภายใต้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ เพื่อให้พอร์ตลงทุนสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

TSI_Article_178_Inv_ความสำคัญของการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อลงทุน_Info

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​ และรักษาการผู้บริหารกลุ่มบริหารความเสี่ยง บล.ไทยพาณิชย์ ขยายความว่า การจัดสรรสินทรัพย์ คือ การกระจายการลงทุนในพอร์ตลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น สินทรัพย์ทางเลือก อสังหาริมทรัพย์ หรือเงินสด เป็นต้น ตามสัดส่วนที่ตั้งใจไว้ในแต่ละสินทรัพย์ ภายใต้แนวความคิดที่ว่าการลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยมีความเชื่อว่าไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดตลอดเวลา

 

“การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดภายใต้กรอบความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ภายในช่วงเวลา ช่วงอายุ หรือช่วงสภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยว่ากันว่าความสำเร็จของผลตอบแทนที่ได้มานั้นมาจากการจัดสรรสินทรัพย์ถึงกว่า 90% ที่เหลืออีกราว 10% มาจากการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ถูกต้องเพื่อลงทุน”

 

สุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) ยกตัวอย่างวิธีการจัดสรรสินทรัพย์ที่ทั่วโลกนิยมใช้กัน ก็คือ การจัดสรรเงินลงทุนตามอายุ วิธีการนี้จะนำ 100 ลบด้วยอายุปัจจุบันเพื่อหาสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ปัจจุบันอายุ 35 ปี สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เหมาะสมจะเท่ากับ 100 - 35 = 65% และลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย 35%

 

“วิธีนี้มีสมมติฐานว่า เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการรับความเสี่ยงจะลดลง เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานเพื่อหารายได้มีน้อยลง ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนให้ตอบโจทย์ตามวัย ทำให้เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงก็จะลดลงเรื่อย ๆ ”

 

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า หลังจากประเมินระดับความเสี่ยงที่รับได้ ก็ทำการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนตามผลการประเมิน โดยยกตัวอย่างว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

1. ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ลงทุนหุ้น 20% ตราสารหนี้ 80%
2. ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ลงทุนหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%
3. ความเสี่ยงสูงถึงสูงมาก ลงทุนหุ้น 80% ตราสารหนี้ 20%

 

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการให้พอร์ตลงทุนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ในความเสี่ยงที่จำกัด ก็คือ การจัดสรรสินทรัพย์และการกระจายความเสี่ยง”

 

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ถือเป็นแนวทางที่นักลงทุนทั่วไปสามารถนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้พอร์ตลงทุนของตัวเอง โดยลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภททิศทางการขึ้นลงของราคาหรือผลตอบแทนต้องไม่สัมพันธ์กันมากนัก หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น สินทรัพย์ประเภทหนึ่งปรับลดลง แต่อีกประเภทหนึ่งปรับขึ้น ก็จะช่วยพยุงพอร์ตลงทุนไม่ให้ขาดทุนหนัก ๆ หมายความว่า ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้

 

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวคิดการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หลักการสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน ตลอดจนเข้าใจวิธีการวัดผลการดำเนินงาน และแนวทางในการปรับพอร์ตลงทุนเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ทำให้บรรลุเป้าหมายได้ในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning กลุ่มหลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: