5 เรื่องควรทำ ก่อนเริ่มเป็นหนี้

โดย ธีรพัฒน์ มีอำพล, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
19 กันยายน 2565
25.112k views
PF_5 เรื่องควรทำ ก่อนเริ่มเป็นหนี้_Thumbnail
Highlights

“การเป็นหนี้” ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากมีการวางแผนและมีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี จะช่วยให้การเป็นหนี้นั้นไม่กระทบกับการดำรงชีวิต สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขแม้มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงอาจกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้

การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป เพราะแต่ละบุคคลมีเหตุผลและความจำเป็นในชีวิตที่แตกต่างกัน บางครั้งความจำเป็นในชีวิตทำให้เราต้องกู้เงินเพื่อซื้อทรัพย์สิน ยอมเป็นหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ยอมเป็นหนี้เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างในชีวิต หรือยอมเป็นหนี้เพื่อตอบสนองความอยากได้อยากมีของตัวเอง

 

แต่ปัญหาอยู่ที่หากมีหนี้แล้วจะบริหารจัดการหนี้เหล่านั้นอย่างไร หากบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพก็ไม่ถือว่าการก่อหนี้เป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้น ก่อนตัดสินใจก่อหนี้ขึ้นมา ลองสำรวจก่อนว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ควรทำก่อนเริ่มเป็นหนี้

PF_5 เรื่องควรทำ ก่อนเริ่มเป็นหนี้_Info_01

1. ดูความจำเป็นในการก่อหนี้

ทุกคนควรมีเหตุผลในการก่อหนี้อย่างชัดเจน ไม่ปล่อยตามอารมณ์หรือตามความต้องการของตัวเอง โดยพิจารณาก่อนว่าหนี้ที่กำลังจะก่อขึ้นนั้น มีความจำเป็นกับชีวิตมากน้อยเพียงใด ข้าวของที่จะซื้อเป็นสิ่งของจำเป็นหรือแค่ความต้องการ และมีราคาสูงเกินกำลังที่จะจ่ายจนสร้างความลำบากให้กับตัวเองหลังซื้อหรือไม่

 

หากก่อหนี้ควรก่อหนี้ที่ดีเท่านั้น เช่น หนี้ที่ก่อในเกิดรายได้ สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ในอนาคต หนี้เพื่อความมั่นคงในระยะยาว หนี้เพื่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต หรือหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจที่สามารถต่อยอดธุรกิจและทำกำไรได้

 

ส่วนหนี้ที่ควรหลีกเลี่ยงหรือควรมีให้น้อยที่สุด คือ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินตัว เพราะเป็นหนี้ที่เน้นเพื่อความสะดวกสบายเป็นหลัก เพราะนอกจากไม่ทำให้เกิดรายได้แล้วยังไม่ช่วยสร้างความมั่งคั่งในอนาคตเลย

 

2. เลือกประเภทของสินเชื่อให้เหมาะกับความต้องการ

สินเชื่อมีด้วยกันหลากหลายประเภท เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ เป็นต้น จึงต้องวางแผนให้ดีก่อนว่าจะขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปทำอะไร วงเงินเท่าไรที่ต้องการ และตัวเองมีทรัพย์สินอะไรเป็นหลักประกันบ้าง เพราะว่าสินเชื่อแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวงเงินการให้สินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย วิธีการคิดคำนวณดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนชำระ รวมไปถึงหลักประกันในการชำระหนี้

 

3. เปรียบเทียบเงื่อนไขการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย

นอกจากเลือกประเภทสินเชื่อให้ตรงตามความต้องการแล้ว ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ละเอียด เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีบริการสินเชื่อโดยมีเงื่อนไขการให้สินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงวงเงินที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรเลือกสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ย และมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

 

สำหรับการเปรียบเทียบข้อมูลของสถาบันการเงินแต่ละแห่งก่อนตัดสินใจเลือกขอสินเชื่อ ควรเปรียบเทียบข้อมูล เช่น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงด้วยการคำนวณว่าตลอดอายุการผ่อนชำระเป็นเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด วิธีการคำนวณดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนก่อนกำหนด ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน ค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น

 

4. ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย

ก่อนที่จะก่อหนี้ ควรประเมินฐานะการเงินและความพร้อมในการชำระหนี้ของตัวเองว่ามีมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และในแต่ละเดือนมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเท่าไหร่ เพื่อคำนวณว่าหากต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่

 

สำหรับภาระในการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนแล้วไม่ควรเกิน 45% ของรายได้หรือเงินเดือน เพื่อให้มีเงินเหลือใช้สำหรับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต รวมถึงแบ่งไปเก็บออมด้วย เช่น มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท ควรมียอดผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 22,500 บาท (50,000 x 45%) เพราะหากมีภาระในการชำระหนี้ในแต่ละเดือนที่มากเกินกำลังอาจมีโอกาสผิดชำระหนี้ได้ ประกอบกับในชีวิตจริงมักมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ผลที่ตามมาอาจทำให้ต้องกู้เงินเพื่อมาเป็นสภาพคล่องและมีโอกาสที่จะติดอยู่ในวังวนแห่งการเป็นหนี้

 

5. ประเมินความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงของรายได้

ต้องมั่นใจว่าหากก่อหนี้แล้วจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนครบกำหนดตรงตามเวลา เพราะการชำระหนี้ให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประเภทใดก็ตาม ยอดเงินจะมากหรือน้อย หากชำระไม่ตรงเวลาหรือเกินกำหนดหลายวัน ดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้น ก่อนก่อหนี้จึงต้องประเมินความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงของรายได้ด้วย

 

โดยปกติแล้ว หากชำระเงินไม่ตรงเวลาหรือผิดนัดจะมีการคิดดอกเบี้ย ค่าปรับในการชำระล่าช้า รวมถึงค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้ ดังนั้น ปัญหาที่ตามมานอกจากภาระดอกเบี้ยและภาระทางการเงิน เครดิตทางการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะหากมีประวัติการค้างชำระ ชำระไม่ตรงเวลาหรือชำระไม่เต็มจำนวนจะส่งผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อในอนาคต หรืออาจบานปลายถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความ

 

สรุปแล้ว การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ขอเพียงรู้จักการเป็นหนี้ให้ถูกวิธี มีความรับผิดชอบและมีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี “หนี้” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งได้

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าใจลักษณะหนี้แต่ละประเภท การคำนวณดอกเบี้ย ขั้นตอนและเทคนิคในการบริหารจัดการหนี้ ตลอดจนการต่อยอดเงินที่เหลือจากการจัดการหนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้มีออม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: