วิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารด้วย ESG

โดย ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย Partner บริษัท อีอาร์เอ็ม สยาม จำกัด
3 Min Read
15 พฤศจิกายน 2565
5.737k views
Inv_วิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารด้วย ESG_Thumbnail
Highlights
  • หุ้นกลุ่มธนาคารหรือกลุ่มแบงก์ เป็นหุ้นที่นักลงทุนบุคคลและนักลงทุนสถาบันต่างให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาดหุ้นไทย

  • การลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและราคาหุ้น เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย นโยบายภาครัฐ กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน

  • การวิเคราะห์หุ้นโดยเพิ่มมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG จะช่วยให้นักลงทุนได้หุ้นที่ดีกว่าเดิม ในราคาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

นักลงทุนหลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะธนาคารส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นธนาคารที่คุ้นตามานานเป็นชั่วรุ่น การทำธุรกิจก็มีความคล้ายคลึงกัน คือ รับฝากเงินเพื่อไปปล่อยสินเชื่อ เกิดเป็นรายได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยรับและอัตราดอกเบี้ยจ่าย ส่วนธนาคารใดจะเด่นในสินเชื่อประเภทไหนนั้นก็แล้วแต่ขนาดและความชำนาญเป็นทุนเดิม

 

ซึ่งโดยปกติแล้วทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารจะแปรผันไปตามวงจรเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็น Cyclical Industry คือ จะเห็นการเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโต เนื่องจากรายได้ของผู้ประกอบการและเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นความต้องการให้สินเชื่อจากธนาคารมากขึ้นเพื่อไปขยายการลงทุนใหม่ ๆ รองรับการเติบโตในอนาคต ขณะที่รายได้ของธนาคารจะเติบโตลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัว ตามทิศทางรายได้ของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ชะลอตัว ทำให้ต้องระมัดระวังเงินในกระเป๋ามากขึ้น และชะลอการลงทุนใหม่ ๆ ออกไปก่อนเพื่อดูสถานการณ์ ซึ่งจะไปกระทบต่อความต้องการสินเชื่อจากธนาคาร

 

นอกจากนี้ บางธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์ประเภทกองทุนรวม และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เก็บจากลูกค้าและ/หรือนักลงทุน หรือรายได้จากการลงทุนเอง โดยในกรณีที่ธนาคารใช้เงินของธนาคารเองในการลงทุน ธนาคาร (หรือหลักทรัพย์จัดการกองทุน) จะเลือกกองทุนที่มีความน่าสนใจ และให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

ปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนหุ้น “กลุ่มธนาคาร”

  1. อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก (GDP Growth) เพราะมีความสัมพันธ์กับปริมาณและการเติบโตของสินเชื่อ
  2. อัตราดอกเบี้ย เพราะอัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนราคาขายของธุรกิจธนาคาร การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลต่อรายได้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รายได้ดอกเบี้ยรับของธนาคารก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย
  3. กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ซึ่งมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เช่น การตั้งเพดานหนี้ การกันสำรองหนี้ฯ การดำรงเงินกองทุน เป็นต้น

 

นอกจากปัจจัยที่ต้องจับตาแล้ว การลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารนักลงทุนต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ด้วย โดยหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคาร คือ การวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ โครงสร้างของสินเชื่อ และการเติบโตของสินเชื่อสุทธิ นอกจากนี้ ยังต้องวิเคราะห์โครงสร้างแหล่งเงินทุนของธนาคาร (Sources of Fund) ได้แก่ เงินฝาก และเงินกู้ยืม วิเคราะห์เงินลงทุน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของธนาคาร วิเคราะห์รายได้และค่าใช้จ่าย วิเคราะห์หนี้เสีย (NPL) วิเคราะห์สภาพคล่อง รวมถึงวิเคราะห์เงินกองทุนของธนาคาร เป็นต้น เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

 

แต่ปัจจุบันการดูข้อมูลตัวเลขทางการเงินหรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปและมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือการทุจริตคอร์รัปชัน การเพิ่มมุมมองในประเด็นที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) หรือ ESG จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากลงทุนในบริษัทที่มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน และเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

 

ประเด็นสำคัญด้าน ESG ของธุรกิจธนาคาร

1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)

แม้ธุรกิจธนาคารจะไม่ได้เป็นผู้สร้างผลกระทบหลักโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม อย่างธุรกิจพลังงาน เหมืองแร่ ถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติในการทำธุรกิจ แต่ธนาคารสามารถเป็นทั้งธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเป็นธุรกิจที่ทำให้ปัญหาของสิ่งแวดล้อมบรรเทาลงได้ โดยปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะการดำเนินธุรกิจย่อมมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เช่น การทำปศุสัตว์ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตเป็นพลังงาน การเดินทาง การขนส่ง การใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเกินความจำเป็น การสร้างขยะของเสีย การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายยาก เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นหรือที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน

 

โดยธุรกิจธนาคารสามารถช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้โดยการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ กล่าวคือ ธนาคารจะต้องมีการสอบทานธุรกิจ หรือ Due Diligence ว่าบริษัทที่จะปล่อยกู้นั้นอยู่ในอุตสาหกรรมไหน เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงหรือมีส่วนในการสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ Climate Change หรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในโลกปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังมุ่งสู่เทรนด์การใช้พลังงานสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม หากบริษัทผู้ผลิตพลังงาน ยังมุ่งเน้นในการเติบโตธุรกิจ ผ่านการกู้เงินเพื่อนำมาขอสัมปทานลงทุนในแท่นขุดเจาะน้ำมัน เหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานเหล่านี้อาจจะไม่มีหรือมีน้อยลง ทำให้บริษัทไม่สามารถขายพลังงาน และก็จะไม่มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยคืนให้กับธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ กลายเป็นหนี้เสีย ดังนั้น ธนาคารที่ยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ประเภทนี้อยู่ ก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการมีหนี้เสียมากขึ้น

 

นักลงทุนจึงควรดูนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคารที่จะไปลงทุนด้วยว่า ธนาคารมีนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อโอกาสการเกิดหนี้เสียของธนาคารให้อนาคต และจะกระทบต่อผลกำไรที่จะกลับคืนมาสู่นักลงทุน

 

2. ด้านสังคม (Social)

ถ้าการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจธนาคาร คือ การปล่อยสินเชื่อโดยไม่ให้เกิดหนี้เสีย การเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารให้บริการได้ ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้กับธนาคาร โดยลูกค้าของธนาคารมีตั้งแต่กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้า SME กลุ่มลูกค้ารายย่อย และ/หรือกลุ่มเปราะบาง โดยที่ขนาดของลูกค้าส่วนใหญ่มักกำหนดจากมูลค่ายอดขายที่ทำได้หรือปริมาณการทำธุรกรรมในแต่ละปีกับธนาคาร ซึ่งในอดีตมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารได้เพราะอาจจะมีวงเงินหรือรายได้ขั้นต่ำไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ธนาคารไม่สามารถที่จะตัดสินใจปล่อยกู้ได้ หรือกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ปัจจุบันธนาคารจึงพยายามเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น

 

ซึ่งประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากในโลกการเงิน คือ ความทั่วถึงในการเข้าถึงบริการทางการเงิน และความรู้ทางการเงิน (Financial Inclusion and Literacy) หากธนาคารทำให้ประชาชนในวัยต่าง ๆ ที่มีรายได้ที่แตกต่างกัน มีทักษะ ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินที่เหมาะสม หรือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก เช่น มีบริการ Mobile หรือ Online Banking ที่ใช้งานง่าย มีกิจกรรมสนับสนุนให้เด็กรู้จักการออมและลงทุน เป็นต้น เพื่อที่ต่อไปในอนาคตหากคนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน และเติบโตมาเป็นผู้ประกอบการที่ดีในอนาคต ท้ายสุดแล้วคนเหล่านั้นก็จะกลับมาเป็นลูกค้าของธนาคารได้ ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ทางด้านสังคม ที่ธนาคารเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมยั่งยืน ยังเป็นโอกาสของธนาคารในการได้ลูกค้าใหม่ด้วย

 

ดังนั้น นักลงทุนต้องดูว่า ธนาคารที่จะลงทุน มีการดูแลลูกค้า พนักงาน และคนในสังคมโดยรอบอย่างไร มีการขยายขอบเขตลูกค้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ในอดีตเข้าถึงไม่ได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความยั่งยืนของรายได้ของธนาคารในอนาคตอีกด้วย

 

3. ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)

การที่ลูกค้าจะนำเงินมาฝากธนาคาร หรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ธนาคารต้องมีโครงสร้างที่สร้างความเชื่อมั่นในเชิงของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจ ดังนั้น การบริหารจัดการข้อมูล การรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจธนาคาร เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่ข้อมูลของลูกค้ารั่วไหล ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจากความประมาท เลินเล่อของคนภายในธนาคารเอง หรือคนภายนอกที่มาโจรกรรมข้อมูล (Cyber Crime) ธนาคารจึงต้องมีกระบวนการ มีระบบในการจัดการข้อมูลที่ดี มี Access Control คือ เข้าถึงข้อมูลได้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แต่ละธนาคารทำได้ดีไม่เท่ากัน บางธนาคารก็ทำได้ตามมาตรฐานสากล บางธนาคารก็อาจจะทำโดยไม่มีมาตรฐาน

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาคือ กระบวนการหรือมาตรฐานในการป้องกันข้อมูลจากการโจรกรรมหรือความเสี่ยงที่ข้อมูลของธนาคารจะรั่วไหล ความปลอดภัยของข้อมูลทางไซเบอร์เป็นอย่างไร รวมถึงธนาคารมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้องที่มีความเสี่ยงสูงและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหรือไม่

 

โดยสรุป ปัจจัยด้าน ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ เพราะความเสี่ยงด้าน ESG สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต ถ้านักลงทุนสามารถวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตลอดจนคาดการณ์ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบได้อย่างแม่นยำ ก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสมและลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

 

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI (Thailand Sustainability Investment) โดยหุ้นยั่งยืนเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินด้านความยั่งยืน มีคุณสมบัติและผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่โดดเด่น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน

Inv_วิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารด้วย ESG_01

สามารถดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน ปี 2565 ทั้งหมด 170 บริษัท ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ที่มาและแหล่งข้อมูลด้าน ESG ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “เรื่องต้องรู้ ก่อนลงทุนหุ้น ESG ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: