เงินเฟ้อ กับ ผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุน

โดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้
3 Min Read
30 มิถุนายน 2564
11.539k views
Inv_เงินเฟ้อ กับ ผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุน_Thumbnail
Highlights
  • การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะสั้น เพราะผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในระยะยาวอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์รวมของเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ

  • แม้อัตราเงินเฟ้อจะยังไม่ได้ปรับขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่นักลงทุนควรติดตามข้อมูลและสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันที

อัตราเงินเฟ้อ นอกจากจะเป็นดัชนีชี้วัดในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ยังเป็นปัจจัยสำคัญของนักลงทุนเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นอีกด้วย สังเกตได้จาก เมื่อประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นหรือปรับลง จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น

 

ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน ปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของสหรัฐอเมริกา ได้เร่งตัวขึ้นเป็น 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (มีนาคม 2564) นับเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่กลางปี 2552 ทำให้นักลงทุนประเมินว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ออกมาสูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยมีความเคลื่อนไหวผันผวน

 

หากพิจารณาถึงสาเหตุการเกิดอัตราเงินเฟ้อ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ดังนี้

 

1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น

 

2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost – Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย

 

โดยในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นจนกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเศรษฐกิจ (Reopening) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ค่าขนส่ง ค่าเข้าชมการแข่งขันกีฬา และรถยนต์มือสอง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในช่วงวิกฤติ COVID-19 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านไปทำกิจกรรมได้ตามปกติ เช่น ทำงาน สังสรรค์ เดินทางท่องเที่ยว จึงนำเงินที่มีไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน เช่น ซื้อทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม แท็บเล็ต เป็นต้น จึงทำให้ความต้องการในสินค้าเหล่านี้เติบโตเร็วกว่าปกติ หรือเรียกว่า Demand – Pull Inflation ในขณะที่การผลิตและขนส่งสินค้าทำได้ไม่ทัน ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น

 

ขณะที่หากประเมินในระยะยาว อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ของเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมในปี 2552 พอสมควร และต้องใช้เวลากว่าอุปสงค์จะฟื้นตัวไปที่ระดับเดิม

 

โดยหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ชี้ให้เห็นว่า ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือในระบบเศรษฐกิจมากเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการบริโภคไปได้อีกหลายปี

 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่เป็นที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำในปีที่แล้ว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าจุดสูงสุดในปี 2551 เพียง 5% อีกทั้ง ราคาที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับต่ำ

 

ดังนั้น จึงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 เป็นปัจจัยระยะสั้น และตลาดประเมินว่ายังเร็วเกินไปที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดทุน

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับภาวะเงินเฟ้อในอนาคต โดยถ้าอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นและธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักลงทุนจึงควรเตรียมจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น

 

โดยหากอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้น นักลงทุนต้องแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง เช่น ทองคำ ธุรกิจกลุ่มพลังงานและทรัพยากร เพราะสินทรัพย์เหล่านี้จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเอาชนะเงินเฟ้อได้

 

นอกจากนี้ หุ้นก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งกับการลงทุนในช่วงอัตราเงินเฟ้อ แต่ต้องเลือกหุ้นที่มีความมั่นคงปลอดภัย เช่น หุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสม่ำเสมอ ซึ่งต้องคัดกรองหุ้นที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ รวมถึงแบ่งเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ

 

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจตลาดหุ้น ตลอดจนพื้นฐานการวิเคราะห์หุ้น กลยุทธ์การลงทุน และการบริหารพอร์ตหุ้น เพื่อเลือกหุ้นเป็น เทรดหุ้นได้อย่างมั่นใจก่อนก้าวสู่สนามลงทุนจริง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ห้องเรียนนักลงทุน 24 ชั่วโมง : มือใหม่ลงทุนหุ้น” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใดนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: