8 แนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
14 พฤศจิกายน 2565
20.564k views
Inv_8แนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี2566_Thumbnail
Highlights

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้จะไม่สดใส มีความผันผวนเกิดขึ้นมากมาย หลายคนเสียหายจากการลงทุนไปพอสมควร ในปี 2566 ก็เช่นกัน เศรษฐกิจจะยังไม่ค่อยดี การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อจะยังดำเนินต่อไป และความผันผวนยังคงอยู่ แต่หากนักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจแนวโน้มใหญ่หรือเทรนด์สำคัญในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งกำลังกดดันและชี้นำสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก ก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นและคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่กำลังเปิดขึ้นมาเป็นโอกาสของตัวนักลงทุนเอง

หากพูดถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2565 คงต้องบอกว่าเป็นปีที่ปราบเซียน เพราะเป็นปีที่การลงทุนมีความผันผวนตลอดทั้งปี หมุนไปหมุนมา มีขึ้นมีลง และเกิดขึ้นกับทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร คริปโทเคอร์เรนซี ทองคำ ค่าเงิน เป็นต้น และความผันผวนดังกล่าวจะต่อเนื่องไปในปี 2566

 

ในงาน SET in the City 2022 ที่ผ่านมา ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มาอัปเดตเศรษฐกิจ และฉายภาพ 8 แนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566 โดยดร.กอบศักดิ์ มองว่า “แม้ความผันผวนจะต่อเนื่องไปในปี 2566 แต่จะเป็นปีที่เป็นโอกาสในการลงทุน เป็นปีที่สำคัญที่สุด ถ้าใครพลาดปีนี้จะเสียใจ”

 

โดยความผันผวนที่นักลงทุนกำลังเผชิญอยู่นี้ ดร.กอบศักดิ์ เปรียบว่าเหมือนมรสุมที่เป็น Perfect Storm ในระบบเศรษฐกิจโลก เป็นมรสุมที่มีความผันผวนจากความท้าทาย 7 ประการ ได้แก่

  1. วิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น รัสเซียและยูเครน / สหรัฐอเมริกาและจีน
  2. วิกฤติราคาพลังงาน เช่น ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
  3. วิกฤติอาหารโลก เป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หลายประเทศต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น
  4. ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
  5. การเกิดเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และในประเทศต่าง ๆ
  6. โอกาสการเกิดวิกฤติในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)
  7. วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในจีน

 

7 ความท้าทายเหล่านี้ประกอบกันกลายเป็นวิกฤติ Perfect Storm ที่กำลังปั่นป่วนนักลงทุนทุกคนและทำให้เกิดสีสันในการลงทุนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยดร.กอบศักดิ์ คาดว่า “มรสุมลูกนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 จึงจะสงบลง แม้จะเป็น 3 ปีที่ท้าทาย แต่ก็เป็น 3 ปีที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับนักลงทุน”

 

จากนั้น ดร.กอบศักดิ์ ได้ฉายภาพรวมถึงสิ่งที่จะมากระทบนักลงทุนในปี 2566 และต้องคำนึงถึง คือ

  • ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่มีใครคาดเดาได้
  • ความผันผวนของตลาดการเงินที่จะมีอีกระยะ
  • การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT)
  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession)
  • ปัญหาเศรษฐกิจจีน
  • การเกิดวิกฤติการเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

 

8 แนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566


1. การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 427,869 คน เฉลี่ย 35,655 คนต่อเดือน แต่หลังจากที่ประเทศไทยจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ จากนั้นได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติ 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2565 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6,018,943 คน เฉลี่ย 668,771 คนต่อเดือน ซึ่งยอดรวมทะลุ 6 ล้านคนตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ไว้ โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยอะที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย ลาว สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 10 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้านักท่องเที่ยวมาเต็มที่ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นภาคที่ดีเด่นเป็นพิเศษ เป็นภาคที่สำคัญเพราะคิดเป็น 15% ของ GDP ไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังคับขัน ดังนั้น ภาคท่องเที่ยว จึงเป็นธีมที่สำคัญในการลงทุน และในภาคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง รวมถึงของฝาก ก็จะได้รับอานิสงค์ด้วย”

 

2. การกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

หลังจากที่เปิดประเทศ และไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าเมือง นักธุรกิจจึงเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ดร.กอบศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างข่าวดีของประเทศไทย เช่น บริษัท BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ตัดสินใจซื้อที่ดิน 600 ไร่จากบริษัท WHA เพื่อมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และส่งออก 150,000 คันต่อปี หรือบริษัท AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในเครือ Amazon ตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญในไทย ตั้ง Cloud Region และเตรียมต่อยอดลงทุนระยะยาวอีกเกือบสองแสนล้านบาท และบริษัท Google ก็อาจจะตามมาด้วยเช่นกัน

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ดร.กอบศักดิ์ มองว่า อาเซียนกำลังกลายเป็น Key Gateway ในการเข้าสู่เอเชีย โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากรัสเซียกำลังทำสงคราม นักลงทุนที่ไปลงทุนแล้วต้องถอนทุนกลับมา ขณะที่จีนก็กำลังมีปัญหากับสหรัฐฯ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป จีนจึงกลายเป็นประเทศที่หลายคนกำลังคิดว่าอาจจะไม่ใช่ที่เหมาะสมในการเอาเงินไปลงทุนช่วงนี้ และอินเดีย แม้จะเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจและกำลังเติบโตได้ดี แต่ในอินเดียแต่ละเมืองหรือแต่ละพื้นที่ล้วนมีกฎเกณฑ์ของตนเอง ขณะเดียวกันการทำธุรกิจกับคนอินเดียก็ไม่ง่าย หลายคนไปถูกปราบเซียนที่นั่น ก็จะเหลือแค่อาเซียนที่เป็นประตูเมืองที่เปิดกว้าง รักนักลงทุน อยู่ง่ายอยู่สบาย ต้นทุนกำลังดี มีกำลังซื้อที่เหมาะสม อาเซียนคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมการลงทุนต่างประเทศกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค”

 

3. อุตสาหกรรมในช่วงต่อไป : Intermediate S-Curve

หัวใจสำคัญท่ามกลางความผันผวน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่อนาคต ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดร.กอบศักดิ์ มองว่า “บุญเก่าของประเทศกำลังหมดไป เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เครื่องฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย พลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล หรือแม้กระทั่งอาหาร อุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังถูก Disrupt และทุกคนกำลังมุ่งหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” และในความคิดของดร.กอบศักดิ์ ยังมองอีกว่าประเทศไทย ต้องก้าวขึ้นสู่การใช้เทคโนโลยีในขั้นถัดไป เทคโนโลยีต้องล้ำสมัยเพื่อหา Value ที่สำคัญเพิ่มเติม โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Intermediate S-Curve เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • เกษตร อาหาร ชีวภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นความเข้มแข็งของประเทศไทย และในช่วงที่เกิดวิกฤติอาหารโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมาอย่างแน่นอน
  • ท่องเที่ยว สุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังกลับมาหลังเปิดประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของ GDP ไทย
  • ยานยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้มีหลายบริษัทตั้งใจจะใช้ไทยเป็น Hub สำคัญในการสร้างยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา โดยอาศัย Supply Chain ที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเปลี่ยนบริษัทที่เคยผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้ผลิตรถยนต์ยุคใหม่
  • ปิโตรเคมีชั้นสูง การทำปิโตรเคมีแบบเดิม ๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ ต้องสร้างลักษณะเฉพาะ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคา มี Margin มากขึ้น
  • Logistics ต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า บริษัท FedEx หรือบริษัทอื่น ๆ กำลังมาคุยกับประเทศไทยว่า จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าได้อย่างไร
  • Digital & Startup เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้ง Location และทรัพยากรต่าง ๆ
  • International Hub เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้ง Location และทรัพยากรต่าง ๆ เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ ยังแนะนำว่า “การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยมีหลายโครงการใน EEC ที่เริ่มไปแล้ว เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนให้โครงการ EEC เป็นที่ที่เหมาะสมรับการเข้ามาของนักลงทุน รองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จึงอยากให้นักลงทุนจับตามองโครงการนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน”

 

4. ดอกเบี้ยขาขึ้น

ดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นเทรนด์ขาขึ้น โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะ “ผมอยากบอกทุกคนว่า เฟดท่าทางจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ทุกคนคิด จากคาดการณ์ดอกเบี้ยของเฟดในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะไปอยู่ที่ 5.87% เพราะฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบง่าย ๆ การที่เฟดจะสู้กับเงินเฟ้อที่สูง 8 – 9% เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5 – 6% เป็นอย่างน้อย และอาจจะเกินเลยกว่านั้นถ้าหากจำเป็น” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.กอบศักดิ์ สังเกตและวิเคราะห์ว่า “แบงก์ชาติน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายปีนี้ และดอกเบี้ยน่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็น Baseline สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง และหลังจากนั้นในปี 2566 คงขึ้นแค่ 1 – 2 ครั้ง และเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) แบงก์ชาติก็ต้องทบทวนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา ซึ่งจะมีนัยต่อการลงทุน เพราะเมืองไทยเงินเฟ้อไม่ได้เยอะเหมือนกับประเทศอื่น ๆ และเริ่มลงมาแล้วด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติดู ก็คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3.12% (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 65) ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายที่ 1 – 3% ขณะที่โลกต้องขึ้นดอกเบี้ยเยอะ เช่น เฟด น่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5 – 6% ส่วนแบงก์ชาติก็จะขึ้นดอกเบี้ยไปประมาณ 1 – 1.5% ถือว่ามีนัยอย่างยิ่ง เพราะหมายความว่าบริษัทจดทะเบียนไทยไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินที่เยอะเหมือนประเทศอื่น เพราะได้รับอานิสงค์จากการที่เงินเฟ้อไทยต่ำ”

 

5. ค่าเงินผันผวน บาทอ่อนต่อเนื่อง

ค่าเงินเป็นเทรนด์ที่หลายคนต้องจับตามอง โดยมีสาเหตุมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว กดดันให้ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อไม่ให้ความห่างของดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ห่างมากเกินไป เพราะหากความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จะดึงดูดเงินออกจากประเทศต่าง ๆ เพื่อไปรับดอกเบี้ยสูงในสหรัฐฯ และดร.กอบศักดิ์ อธิบายว่า “ขณะนี้ 4 ประเทศใหญ่ในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน กำลังใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยอย่างฮึกเหิม สหภาพยุโรปขึ้นดอกเบี้ยอย่างละล้าละลัง เพราะสู้กับรัสเซียอยู่ ขณะที่ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องหนี้ภาครัฐ แทบจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย กดดอกเบี้ย และที่สำคัญคือ จีนมีปัญหาเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงลดดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน เมื่อมีความแตกต่างของนโยบายการเงินทั้ง 4 ประเทศ จึงทำให้เงินทั้งหมดวิ่งมาที่ดอกเบี้ยสูง คือที่ สหรัฐอเมริกา ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น”

 

“ขณะนี้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ประมาณ 113 ยังแข็งได้อีก ผมบอกเลยว่า ถ้าสถานการณ์นี้ยังไม่เปลี่ยน เงินดอลลาร์สหรัฐก็จะถูกกดดันระยะเวลาหนึ่ง และนำมาซึ่งความผันผวนในทุกสกุลเงิน แม้กระทั่งเงินบาทเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ใครจะคิดว่า 2 ปีให้หลังอยู่ที่ 38 บาท และอาจจะอ่อนค่ากว่านี้ได้อีก โดยหากค่าเงินยังผวนผัน นักลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ จะต้องถูก Discount มาจากเรื่องของค่าเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลงทุนในประเทศไหน ตลาดการเงินโลกที่ไม่ปกติอยู่ในขณะนี้ กำลังผันผวนปั่นป่วน ซึ่งเทรนด์นี้ยังไม่จบลงง่าย ๆ ในปี 2566 เทรนด์นี้จะกระทบทุกคน และเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนจะกระทบถึงทองคำ กระทบถึงสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงราคาน้ำมันด้วย” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

6. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาประมาณการเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 2.7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา จะเติบโตประมาณ 1%, 0.5% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดเป็นตลาดใหญ่ จะมีก็แต่เอเชียที่ยังพอไปได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 4.9%

 

ดร.กอบศักดิ์ จึงมองว่า อาเซียนคือ Safe Haven เพราะนักลงทุนต้องลงทุนตลอด และนักลงทุนจะมองว่าถ้าลงทุนแล้วที่ไหนจะเสียหายน้อยที่สุด ก็จะเอาเงินจากที่ที่เสียหายเยอะมาที่ที่เสียหายน้อย เช่น ตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงมาแล้ว 30% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยลงมา 2% เป็นต้น และดร.กอบศักดิ์ ได้ฝากมุมมองไว้ว่า “ปี 2566 เศรษฐกิจจะท้าทายเป็นพิเศษ เพราะว่าเศรษฐกิจจริงจะเริ่มติดลบ และเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะลึกกว่าที่ทุกคนคิดไว้”

 

7. Bear and Bull Markets

ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดหุ้น Nasdaq ปรับตัวลงมาแล้ว 30% ซึ่งคาดว่าการปรับตัวยังไม่จบจะเกิดขึ้นอีกระยะ ประกอบกับตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3 ของทั้ง Google, Meta, Snap และ Amazon ออกมาต่ำกว่าคาด และยังมีอีกหลายบริษัทที่ต้องปรับประมาณการจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กดดันตลาดให้เข้าสู่ภาวะตลาดหมีอย่างเต็มตัว ซึ่งหมายความว่า ในอนาคตจะมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากเวลาที่เกิดตลาดหมีและมีเศรษฐกิจถดถอยร่วมด้วย ประมาณการว่าตลาดจะปรับลดลงไป 35 – 38% ซึ่งตอนนี้ตลาดหุ้น Nasdaq ก็ใกล้เคียงแล้ว และที่น่าสนใจก็คือ หลังจากตลาดหมีจบและกลับมาเป็นตลาดกระทิง 12 เดือนหลังจากนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนจะขึ้นมา 50% ในระยะเวลา 1 ปี นี่คือสิ่งที่นักลงทุนรอคอย “ผมเลยอยากบอกทุกคนว่าปี 2566 คือโอกาสของเรา เพียงแต่ต้องหาจังหวะดี ๆ เลือกที่จะลงทุน ไม่มีใครซื้อได้ต่ำสุด และที่สำคัญคือ การลงทุนในช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงที่เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของกระทิงเปลี่ยวและจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่น่าสนใจต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

8. Emerging Market Crisis

“ผมอยากเตือนทุกคนว่า การลงทุนครั้งนี้จะประหลาดนิดนึง เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อผ่านตลาดหมีเข้าสู่ตลาดกระทิง ตลาดหุ้นเขาจะขึ้นก่อน แต่สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets จะยังมีความท้าทายเกิดขึ้น ทำให้ในปี 2566 จะวิ่งตามตลาดประเทศพัฒนาแล้วไม่ทัน แม้ว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นแถบนี้อาจจะยังไม่ลง แต่ปีหน้าตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้วจะขึ้นก่อน” ดร.กอบศักดิ์ เปิดประเด็น

 

การที่ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้จบวิกฤติก่อน หรือต้องผ่าน 3 ปีแล้วตลาดจะขึ้น ตลาดหุ้นจะขึ้นก่อนวิกฤติจะจบเสมอ “เพราะเมื่อใดที่คิดว่าสิ่งร้าย ๆ ผ่านไปแล้ว นักลงทุนจะเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้น และตลาดก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ที่น่ากังวลใจคือ ในปี 2566 ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จะมีหลายประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่า 25% ของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีปัญหาเรื่องหนี้แล้ว ขณะที่ 60% ของประเทศรายได้ต่ำก็มีปัญหาเรื่องหนี้เช่นกัน โดยช่วงที่ IMF ประเมินดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 3% ถ้าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5 – 6% น่าจะมีหลายประเทศที่เกิดปัญหา ซึ่งหมายความว่า ในปี 2566 ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จะมีความท้าทายอีกแบบหนึ่ง จึงขอเตือนทุกคนว่า แม้ตอนนี้ประเทศไทยอาจดูเป็น Safe Haven แต่อย่าตายใจ เพราะเราอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เราอาจได้รับผลกระทบไปด้วยก็ได้ ก็ขอให้ระมัดระวัง” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเตือน

 

วิกฤติ คือ โอกาส ทุกครั้งที่มีวิกฤติ โอกาสจะเปิดขึ้นเสมอ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องประคองตัวให้ได้ ถ้าเราประคองตัวไม่ได้โอกาสจะผ่านเลย เพราะระหว่างที่เราล้มลงไปและลุกขึ้นมาโอกาสจะผ่านไปแล้ว แต่ถ้าเกิดเราประคองตัวได้ดี โอกาสที่เปิดขึ้นก็จะเป็นของเรา วันนี้ถ้าอยากลงทุนก็ลงทุนไปก่อน ให้รู้ว่าเรายังอยู่ในตลาด ได้เรียนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าใส่เงินทั้งหมดลงไป ผมคิดว่าโอกาสที่ดียังรออยู่ข้างหน้า และจะเป็นโอกาสที่ดีในรอบหลาย ๆ ปี” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: