ชอปปิงกองทุน SSF ให้เต็มสิทธิลดหย่อนภาษี

โดย ฉัตรี ชุติสุนทรากุล CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
2 Min Read
9 พฤศจิกายน 2565
3.242k views
Inv_ชอปปิงกองทุน SSFให้เต็มสิทธิลดหย่อนภาษี_Thumbanil
Highlights
  • กองทุน SSF เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว และเป็นกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยซื้อกองทุน SSF ปีไหน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปีนั้นได้ และไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ปีนี้ซื้อ ปีหน้าไม่ซื้อ ก็ได้ แต่ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีแบบวันชนวัน จึงจะขายได้

  • สำหรับคนที่ชอบวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถทยอยซื้อกองทุน SSF ด้วยวิธีการแบบ DCA ได้ แต่ถ้าชอบซื้อเป็นเงินก้อนทีเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน

เมื่อถึงช่วงปลายปี หลายคนวางแผนเดินทางท่องเที่ยว สนุกสนานกับกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งลอยกระทง คริสมาสต์ และเตรียมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ก็จัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า จึงกลายเป็นช่วงที่ต้องรัดกุมกับการวางแผนการเงิน และทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การลงทุนกองทุนรวม SSF (Super Saving Fund) ที่ได้รับประโยชน์ทั้งการเก็บออมและลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

สิทธิการซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาทและต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เช่น กองทุน RMF / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน / กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องกันทุกปี และไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี
  • ไม่จำเป็นต้องซื้อกองเดิมทุกปี และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปซื้อกองใหม่ทุกปี

 

เงื่อนไขการถือครองกองทุน SSF เพื่อสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • ต้องถือครองกองทุน SSF 10 ปีนับจากวันที่ซื้อแบบวันชนวัน จึงจะสามารถขายคืนได้
  • กองทุน SSF สามารถสับเปลี่ยนได้ กับกองทุนประเภท SSF เหมือนกัน
  • การสับเปลี่ยนกองทุน ไม่นับเป็นการซื้อใหม่

 

กองทุน SSF เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีเงินได้ และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เหมาะกับผู้ที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวม และรับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่กองทุนนำเงินไปลงทุนได้
  • ผู้ที่จะยังไม่ใช้เงินจำนวนนี้ในระยะเวลา 10 ปี ด้วยระยะเวลาถือครอง 10 ปี กองทุน SSF เหมาะกับผู้ที่สามารถลงทุนระยะยาวได้โดยไม่ขาดสภาพคล่อง
  • ผู้มีเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี อยู่ในฐานภาษีที่สูง ยิ่งน่าซื้อกองทุน SSF ด้วยเหตุผลว่าในจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากัน ผู้ซื้อจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี (เงินคืนภาษี) ที่สูงกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่าคุ้มกว่า เช่น นาย A มีช่วงเงินได้สุทธิที่ต้องจ่ายภาษี อยู่ในเพดานฐานภาษี 35% หากนาย A ลงทุนในกองทุน SSF 100,000 บาท นาย A จะประหยัดภาษีได้ 35,000 บาท ในขณะที่นาย B มีช่วงเงินได้สุทธิที่ต้องจ่ายภาษี อยู่ในเพดานฐานภาษี 15% หากนาย B ลงทุนในกองทุน SSF 100,000 บาท นาย B จะประหยัดภาษีได้ 15,000 บาท

 

ชอปปิงกองทุน SSF กองไหนดี

หากเปรียบเทียบกับกองทุน LTF ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่กองทุน SSF ลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมผสม เป็นต้น เมื่อมีให้เลือกมากกว่าจึงเกิดคำถามที่ว่า แล้วปีที่ตลาดผันผวนแบบนี้ควรเลือกลงทุน SSF กองไหนดี คำตอบ คือ ไม่มีใครตอบได้ว่ากองทุนไหนจะทำกำไรได้สูงสุดในอนาคต แต่มีคำแนะนำเบื้องต้น ดังนี้

  • ลงทุนในกองทุน SSF ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ โดยเลือกกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เราเข้าใจ รวมถึงโอกาสเติบโตและความเสี่ยง เช่น กองทุน SSF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ จะเสี่ยงน้อยกว่ากองที่ลงทุนในหุ้น เป็นต้น
  • กระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่น กระจายการซื้อกองทุน SSF มากกว่า 1 กอง โดยแต่ละกองให้เลือกกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่แตกต่างกันหรือลงทุนในกลุ่มประเทศที่ต่างภูมิภาคกัน แต่มีข้อควรระวัง คือ การซื้อกองทุน SSF SET50 ต่าง บลจ. กัน หรือการซื้อกองทุน SSF ต่าง บลจ. แต่นำเงินไปซื้อสินทรัพย์ในกองทุนแม่ในต่างประเทศกองเดียวกัน แบบนั้นไม่ได้เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ลงทุน ต้องระมัดระวัง
  • ลงทุน SSF แบบสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกปีในรูปแบบ DCA เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนและกระจายความเสี่ยงด้านการจับจังหวะลงทุน

 

ชอปปิง SSF เมื่อไรดี

  • สาย DCA หากถนัดลงทุนกองทุน SSF แบบสม่ำเสมอทุกเดือน ก็ต้องใช้รูปแบบ DCA ซึ่งเหมาะกับผู้ที่วางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี และรู้ว่าต้องซื้อกองทุน SSF ทั้งหมดเท่าไรในปีนั้น
  • สายตุน เป็นการลงทุน SSF แบบซื้อตุน เช่น เมื่อได้โบนัสช่วงต้นปีก็แบ่งเงินสักก้อนมาลงทุนกองทุน SSF ตุนไว้ก่อน เมื่อในระหว่างปีนั้นหากเห็นว่าภาวะตลาดปรับลดลงก็ค่อยเข้าลงทุนในจังหวะขาลง ราคาซื้อก็จะลดลงด้วย
  • สายถัว เป็นการลงทุน SSF แบบรอซื้อถัว ด้วยการรอจังหวะตลาดปรับลดลงแล้วเข้าซื้อถัวไปเรื่อย ๆ แต่จะไม่มีการวางแผนแบ่งซื้อด้วยเงินจำนวนเท่า ๆ กัน เหมือนรูปแบบ DCA แต่จะขึ้นอยู่กับโอกาสการลงทุนในปีนั้น ๆ
  • สายเปย์ปลายปี เป็นวิธีการลงทุน SSF ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะสิ้นปีแบบครั้งเดียว ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการรอรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ มารวมกับรายได้ประจำเพื่อคำนวณรายได้รวมทั้งปีให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการซื้อเกินสิทธิลดหย่อนภาษี

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะถนัดลงทุนสายไหน หากยังไม่ได้ลงทุนหรือลงทุนไปบ้างแล้ว อาจพิจารณาลงทุนกองทุน SSF ให้เต็มสิทธิด้วยเหตุผลที่ว่าเงินคืนจากสิทธิลดหย่อนภาษี เป็นเหมือนฉนวนปกป้องจากภาวะขาดทุนได้ในระดับหนึ่ง เพราะเงินคืนภาษีถือเป็นกำไรก้อนแรกจากการลงทุน SSF หากกองทุนที่ลงทุนมีมูลค่าปรับลดลงต่ำกว่าฐานภาษี ก็ถือเป็นเสมือนการขาดทุนกำไร หมายความว่า ฐานภาษีสูงฉนวนก็หนา ฐานภาษีต่ำกว่าฉนวนก็บางหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีฉนวนเลย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ ทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข และขั้นตอนการลงทุน SSF & RMF สามารถ Download คู่มือ “SSF & RMF แฝดคู่ใหม่ใช้ลดหย่อนภาษี” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสนใจเรียนรู้เทคนิคค้นหากองทุน SSF & RMF ง่าย ๆ ด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SSF และ RMF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: