เทคนิคการดูข้อมูล เพื่อลงทุนหุ้น ESG

โดย ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 Min Read
29 ธันวาคม 2564
4.966k views
Inv_เทคนิคการดูข้อมูล เพื่อลงทุนหุ้น ESG_Thumbnail
In Focus
  • ปัจจุบันการวิเคราะห์บริษัท ด้วยการดูข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไป มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือการทุจริตคอร์รัปชัน การลงทุนในบริษัทที่มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน นักลงทุนจึงควรดูทั้งตัวเลขข้อมูลทางการเงินและข้อมูลด้าน ESG ประกอบกัน

  • ข้อมูลทางการเงินจะสะท้อนความมั่นคงมั่งคั่งของธุรกิจ ขณะที่ข้อมูล ESG จะสะท้อนความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการเติบโต

ข้อมูลสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) สำหรับการวิเคราะห์ความยั่งยืนของธุรกิจเพื่อการตัดสินใจลงทุนนั้น เป็นข้อมูลที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์มักไม่ค่อยมีความคุ้นเคย เพราะไม่ได้เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานด้านการเงิน หรือดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคทั่วไป แต่ข้อมูลด้าน ESG เป็นผลการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน ชุมชน และสังคมโดยรอบ และการมีโครงสร้างคณะกรรมการและคณะผู้บริหารที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์

 

ในบทความนี้ จึงมุ่งเน้นนำเสนอประเภทของข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่มักจะมีการเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ

 

สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ประเภทของข้อมูลมักจะถูกจำแนกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่

  1. ลักษณะการใช้ทรัพยากรของกิจการ (Resource Use)
  2. การปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม (Emission)
  3. นวัตกรรมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Innovation)

 

โดยข้อมูลเหล่านี้กิจการจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและชี้แจงให้นักลงทุนทราบ เช่น การใช้ทรัพยากรจะเกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการด้านทรัพยากรของกิจการว่ามีนโยบายในการลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน กำหนดเป้าหมายของปริมาณพลังงานที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ หรือการพยายามปรับเปลี่ยนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตหรือไม่

 

ขณะที่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับการปล่อยของเสีย จะเกี่ยวข้องกับดัชนีชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ด้านปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจก ก๊าซพิษ หรือน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และในส่วนของนวัตกรรมในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจะพุ่งเป้าไปที่การคิดค้นกระบวนการผลิตใหม่ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของกระบวนการผลิต

 

จะสังเกตเห็นว่าข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้นเป็นข้อมูลใหม่ ที่นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์จะต้องศึกษาหาความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ หรือก๊าซคาร์บอน ควรอยู่ในระดับใดจึงจะเหมาะสม หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เป็นตัวเปรียบเทียบ (Benchmark) ว่ากิจการที่กำลังวิเคราะห์อยู่นั้นสามารถจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใด หากยังไม่ดีจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากิจการอาจต้องประสบกับอัตราการทำกำไรที่ลดลง หรือมีค่าใช้จ่ายพิเศษด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต หรือต้องมีการเตรียมเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ด้านการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลหรือไม่

 

ในส่วนของข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสังคม สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ข้อมูลที่เกี่ยวกับพนักงาน (Workforce) ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานอย่างเป็นธรรม และการฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้พนักงานมีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงาน
  2. ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการพิทักษ์สิทธิต่าง ๆ ของพนักงาน ลูกค้า และสังคม
  3. ข้อมูลด้านชุมชน (Community) จะเกี่ยวกับนโยบายด้านการเมืองของกิจการ การบริจาคสิ่งของหรือเงินให้แก่ชุมชน และการป้องกันการคอร์รัปชันและการติดสินบน
  4. ข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ (Product Responsibility) ซึ่งเกี่ยวกับการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สะอาด ได้รับมาตรฐานสากล และไม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และค่านิยมของสังคม

 

ข้อมูลด้านสังคมนี้ จึงเป็นผลการดำเนินงานที่สำคัญที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ากิจการจะประสบกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง การกีดกันจากลูกค้า หรือการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของพนักงานในระดับใด หากกิจการสามารถมีผลการดำเนินงานด้านสังคมที่ดี จะส่งผลให้ยอดขาย และอัตราการทำกำไรของกิจการมีความมั่นคง และอยู่ในระดับที่เติบโตอย่างโดดเด่นได้

 

ส่วนข้อมูลในมิติสุดท้ายเป็นข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ว่ามีคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล คณะกรรมการด้านการตรวจสอบ และคณะกรรมการด้านค่าตอบแทนพนักงานหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวกับคุณวุฒิและประสบการณ์ของคณะกรรมการว่ามีความเพียบพร้อมสำหรับการกำกับดูแลกิจการอย่างมั่นคงหรือไม่

 

ข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลยังรวมไปถึงความหลากหลายของคณะกรรมการ จำนวนคณะกรรมการ โครงสร้างผู้ถือหุ้น และนโยบายด้านการปกป้องสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ของกิจการด้วย ดังนั้น ข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลจึงเปรียบเสมือนข้อมูลที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่ากิจการจะมีการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การแสวงหาผลประโยชน์ การทุจริตคอร์รัปชั่น และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกประเภท

 

ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นข้อมูลที่กิจการจะต้องเก็บรวบรวมและชี้แจงเป็นรายงาน หรือชี้แจงเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขให้นักลงทุนสามารถทำการวิเคราะห์ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของประเภทข้อมูล และประเภทดัชนีชี้วัดที่กิจการจะต้องรายงานผลเป็นประจำทุกปี จึงทำให้ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG เหล่านี้ไม่ได้เป็นโครงสร้างที่ง่ายต่อการวิเคราะห์เหมือนข้อมูลงบการเงินหรือหมายเหตุประกอบงบการเงิน

 

กิจการที่ดีมักจะมีความพยายามในการจัดทำรายงานที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report แยกออกมาจากรายงานประจำปี (Annual Report) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เห็นข้อมูลการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของกิจการมากยิ่งขึ้น ซึ่งในรายงานดังกล่าวจะประกอบด้วยนโยบายการเติบโต การวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Analysis) ของกิจการ และแนวทางในการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของกิจการในอนาคต

 

ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติมบังคับให้ทุกกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องรายงานข้อมูลประจำปีในรายงานฉบับใหม่ที่เรียกว่า 56-1 One Report ซึ่งในรายงานดังกล่าวจะมีการกำหนดให้กิจการต้องมีการรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ

 

นอกจากข้อมูลรายงานที่ออกโดยกิจการดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ผู้ให้บริการข้อมูล (Data Providers) ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนจากหลาย ๆ บริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ทั้งข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยและข่าวเกี่ยวกับบริษัทมาให้บริการแก่นักลงทุน เช่น Bloomberg, Refinitiv เป็นต้น

 

ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบการประเมินความยั่งยืนของกิจการได้ คือ ข้อมูลจากผู้ประเมินด้านความยั่งยืน (Raters) ซึ่งจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมิน และสรุปเป็นคะแนนด้านความยั่งยืน หรือ ESG Score เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำคะแนนด้านความยั่งยืนไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รวบรวมผลการประเมินด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยผ่านเว็บไซต์ SETTRADE.COM

รวมถึงยังมี ESG Scores และ Ratings ของพันธมิตรที่เป็น Raters ระดับโลก เช่น Arabesque S-Ray, MSCI, S&P และ Vigeo Eiris อีกด้วย

 

กล่าวโดยสรุป ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG มีความหลากหลายค่อนข้างมาก และไม่ได้มีโครงสร้างที่ชัดเจน นักลงทุนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการศึกษา และสิ่งสำคัญ คือ นักลงทุนจะต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เข้ากับการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านการเงินของกิจการเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจลงทุนให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน และต้องการสร้างโอกาสการลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือ หุ้น ESG สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุนหุ้น ESG ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ปีล่าสุด >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: