นักลงทุนสายพื้นฐาน ขายหุ้นตอนไหนดี?

โดย SET
5 Min Read
1 พฤศจิกายน 2565
24.541k views
ขายหุ้น
In Focus

“การขายหุ้น” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญไม่แพ้ “การซื้อหุ้นดี” เพราะเป็นจุดที่สร้างผลกำไรในการลงทุน ทว่านักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่เน้นถือลงทุนในระยะยาว หลายครั้งมักจะติดกับดักเรื่องนี้ วันนี้จะพาทุกท่านทำความเข้าใจเรื่องเทคนิคการขายหุ้นกันครับ

          “การขายหุ้น” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญไม่แพ้ “การซื้อหุ้นดี” เพราะเป็นจุดที่สร้างผลกำไรในการลงทุน ทว่านักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่เน้นถือลงทุนในระยะยาว หลายครั้งมักจะติดกับดักเรื่องนี้ คือ เข้าซื้อเป็น อดทนถือเก่ง แต่พอถึงจังหวะต้องขาย กลับกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่รู้จะขายตรงไหนดี จนพลาดโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสมในบางครั้ง หรือช่วงที่ตลาดไม่เป็นใจ ก็ตัดขาดทุนไม่ทัน จนพอร์ตเสียหายหนักกว่าที่ควรจะเป็น

          เมื่อธรรมชาติการลงทุนของเรานั้นเป็นสายเน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ค้นหาหุ้นที่ใช่ แล้วให้ใจกันไปยาว ๆ คำถามก็คือ อะไรจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรขายหุ้นได้แล้ว โดยขอแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ

 

หนึ่ง… ขายหุ้นเพื่อทำกำไร

สอง… ขายหุ้นเพื่อหยุดขาดทุน

สาม… ขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน

VI ขายหุ้นตอนไหนดี

การขายหุ้นเพื่อทำกำไร

          เวลาเห็นหุ้นที่ถืออยู่มีราคาสูงขึ้น เรามักจะเข้าข้างตัวเองและชะล่าใจว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่ไม่ได้เป็นอย่างใจคิด จึงแนะนำให้นักลงทุนกำหนดหลักการให้ชัดเจน หากเมื่อไหร่หุ้นที่ถือเข้าเงื่อนไขดังนี้ ก็ควรขายออกจากพอร์ตเพื่อเก็บเกี่ยวผลกำไร

 

1. ราคาหุ้นวิ่งมาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

          การคัดเลือกหุ้นโดยปัจจัยพื้นฐาน สุดท้ายแล้วเราต้องประเมินมูลค่าหุ้น ไม่ว่าจะมาจากมุมมองของนักลงทุนเอง ประเมินเบื้องต้นจากอัตราส่วนทางการเงิน เช่น P/E , P/BV รวมถึงราคาเป้าหมายต่าง ๆ จากการอ่านบทวิเคราะห์ ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึงราคาเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือการตัดสินใจขายหุ้นเพื่อทำกำไร

          เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 5 บาท ประเมินราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปีไว้ที่ 6 บาท ผ่านไป 3 เดือน ราคาหุ้นทยอยปรับขึ้นไปถึงมูลค่าพื้นฐาน 6 บาทแล้ว ก็อย่าลังเลที่จะขายหุ้น เพราะการได้กำไร 30% จากการลงทุนครั้งนี้ เป็นกลยุทธ์ที่เราคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้น อย่าให้อารมณ์และความโลภมาชี้นำว่าหุ้นจะขึ้นได้อีกจนเกินมูลค่าพื้นฐาน

 

2. ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

    
          การที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นราวกับจรวดจนเกินมูลค่าที่แท้จริงไปเยอะแล้ว เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น แรงหนุนจากภาวะตลาด พื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือแม้แต่เกิดแรงเก็งกำไรทำให้หุ้นวิ่งเกินพื้นฐาน กรณีนี้หากหุ้นขึ้นมาถึงระดับที่เรามีกำไรแล้ว ก็สามารถตัดสินใจขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรก่อนได้ แล้วค่อยรอจังหวะเข้าเก็บหุ้นคืนเมื่อราคาปรับตัวลง

          หรือหากวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วว่าราคาหุ้นขยับขึ้น เพราะศักยภาพการดำเนินธุรกิจในอนาคต เราสามารถใช้เทคนิคทยอยขายทำกำไรตามราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่น เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปทุก ๆ 10% จะทยอยขายหุ้นที่ถืออยู่ 10% เป็นต้น วิธีนี้ช่วยให้ไม่พลาดจังหวะเวลาหุ้นขึ้น เป็นการล็อคผลกำไรได้บางส่วน แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

 

การขายหุ้นเพื่อหยุดขาดทุน

 

          สิ่งที่ทุกคนไม่อยากเจอนั่นคือ "การขาดทุน" เพราะหากสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว กว่าจะทำให้เงินก้อนนั้นกลับมาเท่าเดิมนั้นยากมาก สมมติ เริ่มลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท ขาดทุน 30% หรือ 3,000 บาท เหลือเงิน 7,000 บาท แปลว่าถ้าต้องการให้เงินกลับมาเท่าทุน จะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ถึง 43%  

ขาดทุนหุ้น

          จากกราฟนี้บอกว่าถ้าเราขาดทุนที่ % เท่านี้ จะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้กี่ % เงินต้นจึงจะกลับมาเท่าเดิม เช่น ขาดทุน -5% จะทำให้เงินต้นกลับไปเท่าเดิม ต้องได้ผลตอบแทน +5%

          แต่ถ้าปล่อยขาดทุน -20% ต้องสร้างผลตอบแทนถึง +25% หรือหากปล่อยขาดทุนเรื่อย ๆ ไปถึง -50% เราต้องทำผลตอบแทนมากถึง +100% เงินทุนจึงกลับมาเท่าเดิม

          จะเห็นเลยว่ายิ่งขาดทุนหนักขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องพยายามสร้างผลตอบแทนในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น แนวคิดที่ว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” อาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเจ็บแต่จบ โดยการรักษาเงินต้น และหยุดขาดทุน (Stop Loss) ให้เร็วที่สุด ด้วยการขายหุ้นออกไปเมื่อเจอสถานการณ์ ดังนี้

1. ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไป

 

          ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ผลประกอบการ โครงสร้างธุรกิจ กลยุทธ์การเติบโต ผู้บริหาร การแข่งขันในตลาด จนไปถึงภาวะเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น มีคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้า เกิดการปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการออกนโยบายจากภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

          หากเราสังเกตเห็นแล้วว่ามีบางอย่างที่จะทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจกระทบมูลค่าของหุ้นในอนาคต การตัดสินใจขายหุ้นทิ้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

2. วิเคราะห์หุ้นผิดพลาด

 

          การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นศาสตร์และศิลป์ ประกอบด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมุมมองที่แหลมคมของแต่ละบุคคล ดังนั้น ต่อให้คิดคำนวณมาเป็นอย่างดีแค่ไหน ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ

          แต่สิ่งสำคัญก็คือถ้ารู้แล้วว่า "วิเคราะห์ผิด" ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจ เช่น ประเมินว่าบริษัทนี้โตเร็ว แต่ความจริงแล้วกำไรที่เห็นเป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือคิดผิดในแง่ของราคาหุ้นที่ไม่สะท้อนมูลค่า ถือรอมานานหลายปี ราคาก็ยังไม่ไปไหนสักที แบบนี้การตัดใจขายหุ้นทิ้งก็คงดีกว่า

 

Tips : ตั้งจุดหยุดขาดทุนสำหรับมือใหม่

          การตั้งจุดหยุดขาดทุนไม่ได้มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เทคนิคที่ง่ายที่สุด คือ นำ % ที่รับได้หากขาดทุน มาคูณกับราคาต้นทุนที่ซื้อหุ้น เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท ตั้ง % ตัดขาดทุนไว้ที่ 5% ดังนั้น จุดหยุดขาดทุนอยู่ที่ 10 x 5% = 0.50 บาท แปลว่าหากราคาหุ้นที่ถือลดลงจาก 10 บาท เป็น 9.50 บาท (10 - 0.50) บาท ต้องตัดสินใจขายเพื่อหยุดขาดทุน

 

ขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน

 

          การหมั่นทบทวนและปรับพอร์ตลงทุน (Rebalance) โดยจัดสัดส่วนของสินทรัพย์ต่าง ๆ ให้กลับมาอยู่ในนโยบายการลงทุนที่วางแผนไว้ รวมถึงสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่ปรับเปลี่ยนไปด้วย เช่น ธีมการลงทุน เมกะเทรนด์ และอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ในช่วงนั้น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส หรือทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งในบางครั้งยามที่ตลาดเคลื่อนไหวเป็นขาขึ้น หุ้นในพอร์ตอาจมีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง สูงเกินความต้องการ

          ยกตัวอย่างเช่น กำหนดสัดส่วนของหุ้นในพอร์ตที่ 60% ตราสารหนี้ 40% แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคาหุ้นพุ่งขึ้น สัดส่วนพอร์ตเปลี่ยนเป็นหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมสูงขึ้น นักลงทุนจึงควรปรับสัดส่วนสินทรัพย์ให้กลับมาเท่าเดิม ด้วยการขายหุ้นออกไป แล้วนำเงินไปซื้อตราสารหนี้เพิ่มเติม

 

          สรุปแล้วสัญญาณที่บ่งบอกให้เราตัดสินใจขายหุ้น คือ “ราคาขึ้นสูงมาถึงจุดที่ต้องการแล้ว” “พื้นฐานแย่ลง” “ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม” แต่จุดสำคัญที่สุด คือ เราต้องสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำ ภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ ซึ่งบทวิเคราะห์การลงทุนถือเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้แบบครบทุกมิติ

eOpen Banner for investHow-01-01

          สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่

          นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: