ทางเลือกบริหารเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
21 มิถุนายน 2564
9.097k views
PF_ทางเลือกบริหารเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ_Thumbnail
Highlights

คำถามหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนวัยใกล้เกษียณหรือผู้ที่กำลังจะเปลี่ยนงาน คือ ควรนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือคงไว้ ซึ่งก่อนจะเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งต้องพิจารณาข้อมูล ข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือกให้ละเอียดเสียก่อน

เมื่อเกษียณอายุหรือกำลังคิดจะถอนเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจมีคำถามว่า ต้องทำอย่างไรกับเงินก้อนนี้ดี? หรือ มีทางเลือกอะไรบ้างเพื่อบริหารเงินก้อนนี้?

 

ก่อนพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม ควรทบทวนแผนเกษียณของตัวเองก่อนว่า ตั้งเป้าหมายเงินหลังเกษียณไว้เท่าไหร่ โดยสามารถคำนวณเบื้องต้นได้จากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละเดือน ระยะเวลาที่จะต้องใช้เงิน และประเมินเงินเฟ้อในอนาคต

 

เมื่อถึงตรงนี้ จะพบว่าเงินที่ตัวเองเก็บออมเพื่อเกษียณเป็นอย่างไร เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในวัยเกษียณหรือไม่ บางคนมีเงินออมจากส่วนอื่น ๆ (ไม่รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และเพียงพอเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ ขณะที่ บางคนอาจมีเงินออมบ้าง แต่หลังเกษียณคงใช้เงินออมได้ไม่กี่ปีก็หมดไป จากนั้นต้องอาศัยเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่มีเงินเก็บส่วนอื่น ๆ เลย จึงต้องอาศัยเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันทีหลังเกษียณ

 

ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนจึงมีความจำเป็นและต้องการใช้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ดังนั้น สำหรับผู้ที่เกษียณอายุ ผู้ที่ออกจากงานที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน หรือผู้ที่ย้ายงานใหม่ จึงมีทางเลือกในการบริหารเงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5 วิธี ดังนี้

 

1. โอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังนายจ้างใหม่

วิธีการนี้เหมาะกับทุกคนที่ย้ายงานใหม่ โดยหากนายจ้างใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนของนายจ้างใหม่ และขอโอนเงินจากกองทุนของนายจ้างเดิมเข้ามาออมต่อในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ได้โดยอัตโนมัติ

 

2. รับเงินออกทั้งจำนวน

วิธีการนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการนำเงินออกมาทั้งก้อน หรือต้องการนำเงินมาบริหารและลงทุนเอง แต่ข้อควรระวัง ก็คือ ถ้าเกษียณก่อนอายุ 55 ปี หรือเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี จะต้องนำเงินได้ส่วนนี้ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

 

คำแนะนำ

  • หากนำเงินออมออกมาทั้งก้อน ควรวางแผนทางการเงินและระมัดระวังการใช้จ่ายให้ดี มิฉะนั้นเงินที่เก็บออมมาตลอดระยะเวลาการทำงานของเราจะลดลงอย่างรวดเร็ว ควรคิดอย่างรอบคอบโดยเฉพาะช่วงเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือการให้กู้ยืมเงิน เช่น ให้ลูกหลานยืม
  • ถ้านำเงินมาลงทุนต่อเอง ควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงินและระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้
 
3. คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

วิธีการนี้เหมาะกับผู้เกษียณอายุที่ต้องการให้เงินยังคงลงทุนต่อไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจเลือกวิธีนี้ถ้ามีเงินเก็บที่เพียงพอให้ใช้จ่ายและมีรายได้จากแหล่งอื่น ๆ หรือผู้ที่ต้องการรอให้ภาวะตลาดผ่านช่วงวิกฤติและปรับตัวดีขึ้นจนมูลค่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงนำเงินออกมา หรือผู้ที่มีอายุไม่ถึง 55 ปี หรือเป็นสมาชิกกองทุนยังไม่ถึง 5 ปี ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี สามารถเลือกคงเงินไว้ได้จนกว่าจะครบเงื่อนไข แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ที่ 500 บาทต่อปี

 

คำแนะนำ
  • ควรศึกษาข้อมูลนโยบายการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และปรับแผนการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงในช่วงเกษียณ

 

4. โอนเงินไป RMF for PVD

วิธีการนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการให้เงินยังทำงานและสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะกับผู้ที่เกษียณแต่อายุยังไม่ถึง 55 ปี หรืออายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่ถึง 5 ปี

 

โดยกองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD เท่านั้น ซึ่งจะมีข้อความระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกมากกว่า 100 กอง จาก 10 บลจ. และมีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือกลงทุน

 

คำแนะนำ

  • ควรเลือกกองทุนและจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ โดยศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) ข้อมูลสำคัญที่ควรทำความเข้าใจ เช่น นโยบายกองทุน ระดับความเสี่ยง ผลตอบแทนย้อนหลังเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark)
  • สามารถสับเปลี่ยนกองทุนรวม RMF for PVD หรือย้ายกองทุนไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่น ที่มีกองทุนรวม RMF for PVD เหมือนกันได้

 

5. ขอรับเงินเป็นงวด

วิธีการนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระแสเงินสดมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยยังคงเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและยังคงเงินไว้ในกองทุนต่อไป ทั้งนี้ระยะเวลาและจำนวนเงินที่จะรับในแต่ละงวดจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกองทุนและบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งกำหนดในข้อบังคับกองทุนที่สมาชิกกองทุนสังกัดอยู่ เช่น รับเงินทุกเดือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น

 

คำแนะนำ

  • ควรคำนวณเงินที่จะขอรับเป็นงวดให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่ต้องการใช้ เพื่อให้เงินส่วนที่เหลือได้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป
  • ตรวจสอบค่าธรรมเนียมในการขอรับเงินเป็นงวดว่าคุ้มค่าหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตและมีแผนเกษียณที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนเกษียณอย่าลืมทบทวนแผนเกษียณของตัวเองอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะได้เลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สำรวจเงินออมว่ามีเงินไว้พอใช้ยามเกษียณหรือไม่ หรือจะวางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีเงินออมก้อนโตไว้ใช้ในยามเกษียณ สามารถใช้โปรแกรมคำนวณ “วางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

และสำหรับผู้ที่สนใจวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุ พร้อมเรียนรู้เคล็ดลับเพิ่มเงินออมในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: