หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ (TRANS) เป็นธุรกิจที่กำลังน่าสนใจอีกครั้ง หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว เริ่มมีการเปิดประเทศกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ปริมาณการเดินทางก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงนี้
บทความนี้จะพาไปสำรวจ ‘หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ในตลาดหุ้นไทย’ พร้อมฉายภาพอุตสาหกรรมให้เห็นชัด ๆ ว่ามีหุ้นประเภทไหนบ้าง โมเดลธุรกิจมีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วถ้าสนใจที่จะลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ ปัจจัยอะไรที่เราต้องรู้ จุดไหนบ้างที่ต้องวิเคราะห์?
หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ แบ่งเป็นกี่ประเภท
ลักษณะของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ คือ ผู้ทำหน้าที่บริหารการเคลื่อนย้ายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ตั้งแต่วัตถุดิบการผลิต สินค้าสำเร็จรูป และผู้คน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีโมเดลธุรกิจค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่จุดที่แตกต่างจะเป็นเรื่องของกลุ่มลูกค้า และรูปแบบการให้บริการ ดังนั้น จึงจัดกลุ่มหุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น 5 ประเภท เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจได้ง่าย ๆ ดังนี้
1.หุ้นกลุ่มสายการบินและสนามบิน
เช่น หุ้น AAV, AOT, BA, BAREIT, THAI*, NOK*
เป็นการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ ผู้บริหารจัดการสนามบิน และผู้ให้บริการสายการบินทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งกลุ่มขนส่งผู้โดยสาร (Passenger carriers) และกลุ่มขนส่งสินค้า (Cargo services carriers) ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นการขนส่งที่มีข้อได้เปรียบด้านความรวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง แต่มีจุดด้อยในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่สูง และต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับระบบขนส่ง
*อยู่ระหว่างหยุดพักการซื้อขาย เนื่องจากบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์
2.หุ้นกลุ่มรถไฟฟ้าและทางด่วน
เช่น หุ้น BEM, BTS, BTSGIF**, DMT, TFFIF**
ธุรกิจหลักคือการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการให้บริการทางพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นให้บริการผู้อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง
สิ่งที่เหมือนกันของธุรกิจรถไฟฟ้าและทางด่วน ก็คือจะต้องได้รับสัมปทานจากภาครัฐ และจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ระยะเวลาคืนทุนนาน ทำให้การดำเนินธุรกิจนี้มักจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีทั้งรูปแบบการลงทุนร่วมกัน (Public Private Partnership: PPP) และรูปแบบที่รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดแล้วว่าจ้างเอกชนบริหารงาน (Public Sector Comparator: PSC)
** BTSGIF และ TFFIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)
3.หุ้นกลุ่มเดินเรือและท่าเทียบเรือ
เช่น หุ้น AMA, ASIMAR, III, PRM, PSL, RCL, TTA, VL, PORT, NYT, TSTE
ผู้ให้บริการขนส่งทางน้ำหรือธุรกิจเดินเรือ แบ่งได้เป็นหลายประเภท ได้แก่
1.) เรือเทกอง คือ เรือที่ใช้ขนส่งสินค้า สินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก เช่น แร่, ถ่านหิน, เหล็ก, สินค้าเกษตร
2.) เรือคอนเทนเนอร์ คือ เรือที่ใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ มักเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค
3.) เรือขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลว
4.) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ เช่น ต่อเรือ, ซ่อมเรือ, ให้บริการเช่าเรือขนส่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงธุรกิจท่าเทียบเรือที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมาอีกด้วย
4.หุ้นกลุ่มบริการโลจิสติกส์
เช่น หุ้น B, JWD, KEX, KIAT, KWC, LEO, MENA, NCL, NYT, SONIC, WICE
ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics) ประกอบด้วย ธุรกิจท่าเทียบเรือ ให้เช่าคลังสินค้า บริการด้านพิธีการกรมศุลกากร การขนส่งในประเทศ การขนส่งข้ามแดน รวมไปถึงผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนแบบครบวงจร ได้แก่ สินค้าที่สั่งซื้อผ่าน E-Commerce พัสดุระหว่างบุคคล และเอกสารของบริษัทต่าง ๆ
5.หุ้นกลุ่มบริการขนส่งคนทางบกและทางน้ำ
เช่น หุ้น ATP30, RP
บริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งคน ปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยประกอบด้วยผู้ให้บริการขนส่งทางบก ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ผ่านรถบัส รถมินิบัส รถตู้ และรถตู้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นการขนส่งทางน้ำ โดยให้บริการเรือข้ามฟากเพื่อโดยสารไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ
วิธีวิเคราะห์หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์
หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์แต่ละประเภทมีปัจจัยทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ทว่าก็มีจุดสำคัญที่เหมือนกันอยู่ โดยมี 5 ประเด็นหลักที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ
1. ประเภทสินค้าที่ขนส่ง
การขนส่งสินค้าแต่ละแบบมีโครงสร้างรายได้และอัตรากำไรที่แตกต่างกัน เราควรรู้ว่าหุ้นแต่ละตัวมีสัดส่วนรายได้จากสินค้าประเภทไหนบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการขนส่ง
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตร มักแปรผันตามปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาล สินค้าอุปโภคบริโภค จะเป็นการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วประเทศ จึงเติบโตตามความต้องการผู้บริโภคในประเทศ สินค้าพลังงาน เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ปัจจัยหลักคือการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณงานก่อสร้าง การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสุดท้ายคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางของผู้คน ซึ่งขยายตัวตามที่พักอาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและทางด่วน
ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปที่หุ้นเรือ ก็จะมีความพิเศษที่ส่งผลต่อรายได้ คือ ‘ดัชนีค่าระวางเรือ’ ที่เป็นตัวบ่งชี้รายได้ของการเดินเรือ ยิ่งค่าระวางเรือสูง รายได้ก็สูงตาม โดยเรือแต่ละประเภทจะมีค่าระวางที่ใช้อ้างอิงไม่เหมือนกัน เช่น BDI : ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง HRCI : ดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ของโลก CCFI : ดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์จีน ที่เน้นการขนส่งสินค้าในเอเชีย
2. ราคาน้ำมัน
ขึ้นชื่อว่าการขนส่ง ราคาน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางอากาศ ถนน เรือ แม้กระทั่งระบบรางโดยรถไฟฟ้า ถึงจะไม่ได้ใช้น้ำมันโดยตรง แต่ราคาพลังงานไฟฟ้าก็แปรผันตามความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ เพราะฉะนั้น ช่วงไหนราคาน้ำมันผันผวนสูงหรือวิ่งเป็นขาขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกดดันต่ออัตรากำไรของหุ้นขนส่งพอสมควร
3. วัฏจักรทางเศรษฐกิจ
ปริมาณการขนส่งและการเดินทาง มีความสัมพันธ์ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ ธรรมชาติของราคาหุ้นกลุ่มนี้ เลยมีความเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร (Cyclical Stock) เติบโตได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น และซบเซาเมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่
การวิเคราะห์หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ ต้องอาศัยการคาดการณ์แนวโน้ม GPD ในอนาคต รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ นโยการเงินและการคลัง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และทิศทางราคาพลังงาน เป็นต้น
4. เหตุการณ์พิเศษ
หุ้นกลุ่มนี้มักถูกกระทบด้วยเหตุการณ์พิเศษอยู่เสมอ จากธุรกิจที่ต้องอ้างอิงกับภาวะเศรษฐกิจ และพึ่งพาอุตสาหกรรมภายนอกค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่กระจายสินค้าในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อุปทาน สำหรับประเด็นที่มีโอกาสเกิดขึ้นนั้น อาทิ การเกิดสงคราม การกักตุนสินค้า กฎหมายด้านการขนส่งระหว่างประเทศ การต่ออายุสัมปทาน เป็นต้น
5. ประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์
โมเดลธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เริ่มแรกจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ค่อนข้างเยอะ เช่น เครื่องบิน เรือ รถไฟฟ้า คลังสินค้า ท่าเรือ ฯลฯ จากนั้นจึงค่อยเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากสินทรัพย์เหล่านั้นในระยะยาว
Total Asset Turnover หรือ อัตราส่วนหมุนเวียนสินทรัพย์ จึงเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ถูกหยิบมาใช้เปรียบเทียบหุ้นขนส่งและโลจิสติกส์อยู่บ่อยครั้ง เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบริษัทว่าใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ไปสร้างเป็นยอดขายได้มากน้อยขนาดไหน พูดง่าย ๆ คือ หากมีสินทรัพย์ทั้งหมด 100 บาท สามารถเปลี่ยนเป็นยอดขายได้กี่บาท
ยิ่ง Total Asset Turnover มีค่าสูงก็ยิ่งดี แต่ไม่มีคำตอบตายตัวว่าตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เราต้องนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงดูนโยบายการครอบครองสินทรัพย์ควบคู่ไปด้วย เนื่องจากบางบริษัทอาจจะใช้การเช่าสินทรัพย์จากภายนอก ทำให้ค่า Total Asset Turnover สูงกว่าบริษัทที่ลงทุนสินทรัพย์เป็นของตัวเอง
ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปแนวทางวิเคราะห์หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ในเบื้องต้นเท่านั้น นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัว และดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่
Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี