สิทธิประโยชน์เมื่อออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
16 มิถุนายน 2564
96.866k views
PF_สิทธิประโยชน์เมื่อออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ_Thumbnail
Highlights

เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องศึกษาสิทธิของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อจะได้รับเงินคืนตามเงื่อนไขหรือข้อบังคับที่แต่ละกองทุนกำหนด

เป็นที่ทราบกันดีว่า หากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น ลาออกจากงาน โอนย้ายกองทุน เกษียณอายุ หรือเสียชีวิต เงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สมาชิกกองทุนจะได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อบังคับของแต่ละกองทุน ดังนั้น จึงควรตรวจสอบเงื่อนไขหรือข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วน

 

1. ส่วนเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่ลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายสะสมเข้ากองทุนทุกเดือน รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากเงินสะสม เมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง จึงทำให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เต็มจำนวนในทุกกรณี

 

2. ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างหรือสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือน เมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง เงินส่วนนี้จะได้คืนเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อบังคับของแต่ละกองทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะกำหนดตามอายุงานหรือจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานระยะยาว

 

ตัวอย่าง

อายุงานน้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 10%

อายุงานตั้งแต่ 1 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 20%

อายุงานตั้งแต่ 2 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 40%

อายุงานตั้งแต่ 3 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 50%

อายุงานตั้งแต่ 4 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 80%

อายุงานมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินสมทบ 100%

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไข โดยเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ในส่วนของเงินสะสมจะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ในส่วนของผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี โดยเงื่อนไขแบ่งเป็น 3 กรณีตามอายุและจำนวนปีที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

กรณีที่ 1 ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี และอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี

กรณีนี้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยต้องนำเงินที่ได้ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามปกติ

 

ตัวอย่าง

  1. เงินสะสม = 500,000 บาท
  2. ผลประโยชน์จากเงินสะสม = 50,000 บาท
  3. เงินสมทบ = 500,000 บาท
  4. ผลประโยชน์จากเงินสมทบ = 50,000 บาท

 

นำส่วนที่ 2+3+4 = 50,000 + 500,000 + 50,000 = 600,000 บาท ไปรวมกับเงินได้อื่นในปีนั้นเพื่อคำนวณภาษี

 

กรณีที่ 2 ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี และอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

สามารถเลือกได้ว่า จะนำไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อยื่นภาษีหรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหาก โดยการแยกคำนวณภาษีจะหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษ มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 นำ 7,000 คูณจำนวนปีที่ทำงาน ขณะที่ ส่วนที่ 2 ให้นำเงินได้หักด้วยส่วนที่ 1 เหลือเท่าไหร่ให้คูณ 50% แล้วนำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 2 ส่วนนี้ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สุทธิขั้นแรก 150,000 บาท)

 

ตัวอย่าง

สมมติ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา 10 ปี เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่ ผลประโยชน์จากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสมทบ ซึ่งต้องนำไปรวมเพื่อเสียภาษี เท่ากับ 600,000 บาท (ใช้ตัวเลขตัวอย่างเดียวกับกรณีที่ 1)

ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1 :  7,000 x 10 = 70,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 : (600,000 – 70,000) x 50% = 265,000 บาท

เงินได้สุทธิ = 600,000 – 70,000 – 265,000 = 265,000 บาท นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  

 

กรณีที่ 3 : เกษียณอายุ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) และอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน

 

คำแนะนำ  

สำหรับผู้ที่ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี (กรณีที่ 1 และกรณีที่ 2) มีทางเลือกให้อีก 3 วิธี เพื่อลงทุนต่อจนกว่าอายุจะครบ 55 ปี เพื่อเข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  

 

  1. คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมการคงเงินไว้ที่ 500 บาทต่อปี
  2. โอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่
  3. โอนย้ายไปยังกองทุนรวม RMF for PVD

 

Checklist วางแผนออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนเกษียณ

  1. คำนวณแผนเกษียณ หากเงินเกษียณยังไม่พอและยังออมไม่เต็มสิทธิ อาจพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสะสม
  2. ศึกษาเงื่อนไขหรือข้อบังคับกองทุน
  3. ดูข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประจำทุกปี เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุน
  4. ทำประมาณการเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจำนวนเงินที่จะได้รับของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุปัจจุบัน อายุเกษียณ เงินเดือน อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน เพดานเงินเดือน อัตราเงินสะสม อัตราเงินสมทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน
  5. ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับแผนเกษียณ ผลตอบแทนที่คาดหวัง และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เช่น ปรับน้ำหนักเงินลงทุน โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากเป็นช่วงใกล้จะเกษียณ จึงเหลือระยะเวลาในการออมน้อย ควรลดความเสี่ยงลง
  6. ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีและทางเลือกในการจัดการเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณ

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สำรวจเงินออมหรือวางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีเงินออมก้อนโตไว้ใช้ในยามเกษียณ สามารถใช้โปรแกรมคำนวณ “วางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 

หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคเพิ่มเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณได้อย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: