เทคนิควิเคราะห์ DR อย่างง่าย แบบใช้ได้จริง

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
28 ตุลาคม 2565
2.489k views
Inv_เทคนิควิเคราะห์ DR อย่างง่าย แบบใช้ได้จริง_Thumbnail
Highlights

ปัจจุบันนักลงทุนไทยให้ความสนใจไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่การไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงอาจมีขั้นตอนพอสมควร หรือกฎระเบียบการซื้อขายในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน แถมเงินลงทุนขั้นต่ำที่ต้องมีในการซื้อขายก็ไม่ใช่น้อย แค่คิดก็ปวดหัว ดังนั้น การลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่าน DR จึงเป็นคำตอบที่น่าสนใจ แต่ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตามต้องศึกษาและวิเคราะห์การลงทุนให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วนก่อนเสมอ

ปัจจุบันการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR (Depositary Receipt) เป็นที่นิยมมากขึ้น สังเกตได้จากมูลค่าการซื้อขายของ DR ทั้งหมดในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 172 ล้านบาทต่อวัน และเมื่อพิจารณาในเชิงจำนวน DR ที่ออกมาแล้ว พบว่ามีจำนวน DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัวในปัจจุบัน จาก 1 ตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

ความโดดเด่นของ DR ที่น่าสนใจ คือ สามารถซื้อขายได้สะดวกเหมือนหุ้นไทยรายตัวด้วยสกุลเงินบาท แต่ไม่มีพักกลางวันตั้งแต่เวลา 10:00 – 16:30 น. และในกรณีของ DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เพียงต่อเดียว ทำให้ประหยัดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว

 

จากความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มมีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุน DR มากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุน จำเป็นต้อง “วิเคราะห์การลงทุน DR” เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร

 

หลักทรัพย์อ้างอิงของ DR

สิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ก่อนลงทุน DR คือ ต้องรู้ว่าหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR ที่จะไปลงทุนนั้นคืออะไร เช่น เป็นหุ้นตัวไหน หรือเป็น ETF ที่อ้างอิงดัชนีอะไร จากนั้นจึงจะสามารถนำไปวิเคราะห์ปัจจัยอื่นต่อได้ โดยหากหลักทรัพย์ที่อ้างอิงเป็นหุ้น หลักการพิจารณาอาจใช้วิธีการวิเคราะห์หุ้นทั่วไป เช่น การวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top Down Analysis) ด้วยการประเมินจากเศรษฐกิจมหภาค อุตสาหกรรม จนถึงวิเคราะห์บริษัทนั้น ๆ เป็นต้น

 

หากหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น ETF นักลงทุนอาจพิจารณาจากขนาดของ ETF / สภาพคล่อง และค่าธรรมเนียมการจัดการของ ETF อ้างอิงนั้น (DR ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการอีกต่อหนึ่ง) นอกจากนี้ อาจพิจารณาปัจจัยด้านเวลาเปิดทำการของตลาดหลักทรัพย์ที่หลักทรัพย์อ้างอิงนั้นจดทะเบียนด้วย เนื่องจากอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของ DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้

Inv_เทคนิควิเคราะห์ DR อย่างง่าย แบบใช้ได้จริง_01

ตัวอย่างเช่น DR FUEVFVND01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ VFMVN Diamond ETF จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ซึ่งเป็น ETF ที่อิงดัชนี VN Diamond หุ้นเวียดนามชั้นนำที่ติดข้อจำกัดด้าน Foreign Limit มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.80% ต่อปี โดยเป็น ETF ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่หากพิจารณาปัจจัยด้านเวลาซื้อขาย DR ที่อ้างอิงหุ้นเวียดนาม ช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์และตลาดหลักทรัพย์ไทยเปิดทำการตรงกัน จะเป็นช่วงที่เหมาะกับการซื้อขาย DR มากที่สุด ซึ่งก็คือเวลา 10:00 – 11:30 น. และ 13:00 – 14:30 น. เป็นต้น

 

ดัชนีอ้างอิงที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR

ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงของ DR เป็น ETF นักลงทุนควรพิจารณานโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นว่าเป็นอย่างไร อ้างอิงดัชนีอะไร อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนและอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไร ลงทุนในประเทศใดบ้าง ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนและดัชนีอ้างอิงมีความหลากหลายและมีรายละเอียดที่ต่างกัน นักลงทุนจึงควรศึกษาให้ละเอียดเพื่อที่จะได้เลือกให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและความต้องการของแต่ละบุคคล

 

เมื่อเข้าใจแล้วว่า ETF มีนโยบายการลงทุนหรืออ้างอิงดัชนีอะไร นักลงทุนอาจพิจารณาภาพรวมของดัชนีอ้างอิงว่ามีความน่าสนใจอย่างไรเมื่อเทียบการลงทุนในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้ง หากสามารถทำได้ก็พิจารณาลงลึกถึงไส้ในของดัชนีว่าหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ ETF นั้นลงทุนอยู่ มีมูลค่าและอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร เป็นต้น

 

ตัวอย่างเช่น นักลงทุนสนใจลงทุนใน DR ที่อ้างอิงกับ ETF หุ้นจีน - ฮ่องกง อาจเริ่มพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมว่ามีความเหมาะสมกับนักลงทุนอย่างไร โดยปัจจุบันมี DR ที่อ้างอิงกับ ETF หุ้นจีน - ฮ่องกงอยู่ทั้งหมด 3 ตัว ได้แก่

  • STAR5001 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ Premia China STAR 50 ETF ที่อ้างอิงดัชนี STAR 50 ของจีน และมีสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกคือ เทคโนโลยี 45% อุตสาหการ 10% และการแพทย์ 8%
  • CN01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC CSI 300 Index ETF ที่อ้างอิงดัชนี CSI 300 ของจีน และมีสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกคือ การเงิน 20% อุตสาหการ 16% และสินค้าจำเป็น 15%
  • CNTECH01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF ที่อ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH ของฮ่องกง และมีสัดส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกคือ เทคโนโลยี 73% สินค้าฟุ่มเฟือย 11% การแพทย์ 7% เป็นต้น เพียงเท่านี้ นักลงทุนก็จะเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละดัชนีอ้างอิง ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น

 

ผู้ออก DR

นอกจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐานแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ออก DR / ชื่อเสียง / ประสบการณ์ / อันดับเครดิต รวมไปถึงความสามารถในการให้บริการต่าง ๆ ของผู้ออก DR ด้วย เนื่องจากผู้ออก DR จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่าง ๆ ของ DR ตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน รวมถึงการที่ผู้ออก DR สามารถทำหน้าที่ได้ครบทั้งองคาพยพ ได้แก่ ผู้ออก DR / ผู้จัดจำหน่าย DR / ผู้ดูแลสภาพคล่องของ DR และผู้ออกรายงานติดตามข้อมูล DR จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ลงทุนใน DR ได้ว่าผู้ออกนั้นมีการติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อดูแล DR ของนักลงทุน รวมทั้งดูแลสภาพคล่องเพื่อให้ราคาของ DR เคลื่อนไหวสอดคล้องกับหลักทรัพย์อ้างอิงปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้การลงทุนใน DR มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาว

 

อัตราแลกเปลี่ยน

โดยปกติแล้วผู้ออก DR จะไม่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ค่าเงินจะส่งผลต่อผลตอบแทนของ DR ได้ เช่น หากค่าเงินของประเทศปลายทางที่หลักทรัพย์อ้างอิงลงทุนอยู่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท (เงินบาทอ่อนค่า) ในขณะที่หลักทรัพย์อ้างอิงไม่เคลื่อนไหว จะส่งผลให้ DR มีผลตอบแทนมากกว่าหลักทรัพย์อ้างอิงได้ และมีผลในทางกลับกันหากค่าเงินของหลักทรัพย์อ้างอิงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท (เงินบาทแข็ง) จะส่งผลให้ DR มีผลตอบแทนน้อยกว่าหลักทรัพย์อ้างอิง

Inv_เทคนิควิเคราะห์ DR อย่างง่าย แบบใช้ได้จริง_02

ตัวอย่างเช่น DR E1VFVN3001 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ DCVFMVN30 ETF อ้างอิงดัชนี VN30 หุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม ซึ่งเป็น DR ตัวแรกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 โดยผลตอบแทนของ E1VFVN3001 ตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนจนถึงสิ้นเดือนกันยายนปี 2565 อยู่ที่ 51% ขณะที่ผลตอบแทนของหลักทรัพย์อ้างอิง (DCVFMVN30 ETF) อยู่ที่ 37% และค่าเงินดองเทียบกับค่าเงินบาทแข็งค่า 13% ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น หากปรับผลตอบแทนของหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ราว 50% ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกัน

 

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือ DR จะได้รับ

ผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือ การดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Actions) ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น การจ่ายเงินปันผลของ DR โดยการจ่ายปันผลของ DR จะขึ้นอยู่กับนโยบายของหลักทรัพย์อ้างอิง เช่น ในกรณีของ DR CN01 และ NDX01 ที่ได้มีการประกาศจ่ายปันผลไปเมื่อเดือนสิงหาคม และ ตุลาคมปี 2565 ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี ในแง่ของสิทธิการประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ผู้ถือ DR จะไม่มีสิทธิในการออกเสียง ซึ่งผู้ออก DR อาจเป็นผู้ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนผู้ถือ DR เพื่อพิจารณาลงมติในเรื่องสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือ DR เป็นสำคัญ โดยนักลงทุนสามารถศึกษาเงื่อนไข สิทธิอื่น ๆ และสิทธิในการเป็นผู้ถือ DR เพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวน

 

กล่าวโดยสรุป DR เป็นเครื่องมือการลงทุนต่างประเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในแง่ของมูลค่าการซื้อขายหรือจำนวน DR ที่จดทะเบียน ดังนั้น หากสนใจลงทุนต้องวิเคราะห์การลงทุนให้ถี่ถ้วน ถ้าทำได้ก็จะสามารถลงทุนใน DR ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนด้วยทุกครั้งและต้องติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

 

สนใจดูข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน DR เพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR เพื่อกระจายการลงทุน และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: