เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
25 ตุลาคม 2565
5.708k views
Inv_เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report_Thumbnail
Highlights

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และยังได้ปรับปรุงเนื้อหาในแบบ 56-1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในการนำปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเลขทางการเงินมาวิเคราะห์ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างรอบด้าน

ในปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนนำส่งข้อมูลรายงานทางการเงินในรูปแบบของรายงาน 56-1 One Report แทนการจัดส่งรายงาน 2 ฉบับแบบเดิม ซึ่งได้แก่ แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 56-2 (รายงานประจำปี) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระการจัดทำรายงานให้แก่บริษัทจดทะเบียน และยังเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนได้อย่างตรงไปตรงมา และชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภายใต้การรายงานเพียงฉบับเดียว ที่เรียกว่า One Report นั่นเอง

 

โดยหัวข้อหนึ่งใน One Report ที่นักลงทุนจากทั่วโลก และผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุน ต่างให้ความสำคัญไม่แพ้รายงานการเงินอื่น ๆ คือ การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การปรับตัวและบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)

 

หัวข้อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ครอบคลุมใน 4 หัวข้อสำคัญ ดังนี้

  1. นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน
  2. การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
  3. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม
  4. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม
Inv_เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report_Info

เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน One Report

สำหรับนักลงทุน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ควรเริ่มจากการอ่านข้อมูล ดังนี้

1. การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ เพราะจะเห็นถึงขั้นตอนการทำกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ว่ามีกิจกรรมใดเกิดขึ้นบ้าง และกิจกรรมเหล่านั้นไปสร้างความเสี่ยงให้กับการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ผู้มีส่วนได้เสียคือใคร ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบหรือไม่ อย่างไร ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุน ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสในการบริหารจัดการธุรกิจและความสามารถในการเติบโตของบริษัท

 

โดยห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจ จะแตกต่างจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่นักลงทุนหลายคนคุ้นเคย เพราะห่วงโซ่อุปทานเป็นกระบวนการตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เร็วที่สุด ขณะที่ห่วงโซ่คุณค่า จะเน้นคุณค่าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในสินค้าและบริการของบริษัท เพราะฉะนั้นสิ่งที่ธุรกิจต้องตอบโจทย์ ก็คือ ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) ดังนั้น กิจกรรมใดที่ช่วยตอบโจทย์ความพึงพอใจของลูกค้าก็ควรจะอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ

Inv_เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report_01

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหาร หากลูกค้าอยากได้อาหารที่มีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย ไม่ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ในห่วงโซ่คุณค่า กิจกรรมการจัดหาวัตถุดิบของบริษัท ก็ต้องมาจากคู่ค้าที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ใช้สารเคมี มีการจัดเก็บวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ไม่เน่าเสียได้ง่าย รวมถึงไม่ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

 

เมื่อเข้าใจห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแล้ว ก็จะสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส เช่น โอกาสของบริษัทในการพัฒนาธุรกิจให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการสร้างรายได้ของบริษัท และกลับมาเป็นผลกำไรให้แก่นักลงทุนในอนาคต

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหัวข้อสำคัญที่นักลงทุนต้องดูควบคู่กับห่วงโซ่คุณค่าด้วย นั่นก็คือ ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน หรือ Materiality เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ESG นั้นมีหลายมิติ และในบางครั้งก็มีความยากในการประเมินได้อย่างเหมาะสมว่า ประเด็นสำคัญใดบ้างที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกและลบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน จะแบ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ESG ตามระดับความสำคัญเป็น 2 มิติ ได้แก่

1) ประเด็นสำคัญที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ หากบริษัทบริหารจัดการประเด็นเหล่านั้นได้ไม่ดี และ 2) ประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เพื่อดูว่าผู้มีส่วนได้เสียให้ความสนใจในเรื่องเดียวกันกับบริษัทหรือไม่

Inv_เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report_02

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้ง ประเภทวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว และสาคู จึงต้องมีการจัดซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ล้วนส่งผลต่อความต่อเนื่องในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตและแปรรูปเป็นสินค้าของบริษัท ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท หรือประเด็นด้านการพัฒนาเกษตรกร หากเกษตรกรไม่มีความรู้หรือเทคนิคใหม่ ๆ ในการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้อาจจะลดลง จึงต้องดูว่าบริษัทมีการบริหารจัดการประเด็นสำคัญเหล่านี้อย่างไร เช่น มีการพัฒนาเกษตรกรโดยการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเกษตรกรผลิตผลผลิตได้ดีขึ้น เป็นต้น

 

การดูข้อมูลประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality) จะช่วยให้นักลงทุนทราบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ESG นั้น ปัจจัยใดมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท ซึ่งต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และนักลงทุนต้องมาประเมินต่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อผลการดำเนินงานด้านการเงิน และมูลค่าของกระแสเงินสดที่บริษัทจะสร้างได้ในอนาคตอย่างไร

 

2. นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน โดยต้องดูว่าบริษัทได้นำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality) มากำหนดเป็นนโยบายและเป้าหมายของบริษัทเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่ โดยหากระบุไว้ในนโยบายและเป้าหมายแล้ว หมายความว่าบริษัทได้มีแผนการรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมถึงต้องดูผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ด้วยว่าเป็นอย่างไร ทำได้จริงหรือไม่ และเพียงพอที่จะทำให้บริษัทสามารถรับมือกับความเสี่ยงและดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในระยะยาวได้หรือไม่
Inv_เทคนิคการอ่านข้อมูล ESG ใน 56-1 One Report_03

ตัวอย่างเช่น ประเด็นสำคัญหรือความเสี่ยงของธุรกิจพลังงาน ในปัจจุบันโลกได้มุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากบริษัทยังมีนโยบายและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานแบบเดิม เช่น น้ำมัน ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัทที่มีนโยบายและเป้าหมายในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้

 

3. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม ดูว่าบริษัทสามารถจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสจากการทำธุรกิจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใด เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกำจัดขยะ มลพิษและของเสีย เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในแต่ละปี และวิเคราะห์ว่าส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางการเงินของบริษัทอย่างไร

 

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้มีความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงงานอยู่ในนิคม หากบริษัทมีการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบที่ช่วยให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีระบบกำจัดขยะและของเสียที่ดี เพื่อให้คนเช่าหรือซื้อที่ดินสามารถที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลูกค้าก็อยากจะมาเช่า เพราะฉะนั้นยอดขายที่ดินก็จะเติบโต หรือค่าเช่าโรงงานก็จะสูงขึ้น เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย

 

4. การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม ดูว่าบริษัทสามารถจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสจากการทำธุรกิจในประเด็นด้านสังคมได้ดีเพียงใด เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชนและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ผลลัพธ์ และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการจัดการด้านสังคม เพื่อดูโอกาสการเกิดข้อพิพาทหรือมีปัญหาขัดแย้งกับสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และรายได้ของบริษัท รวมถึงสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในแต่ละปี และวิเคราะห์ว่าส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางการเงินของบริษัทอย่างไร

 

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อโลกการเงิน คือ ความทั่วถึงในการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) จะทำอย่างไรให้ประชาชนวัยต่าง ๆ ที่มีรายได้ที่แตกต่างกัน มีทักษะด้านการเงินที่เหมาะสม หรือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก เช่น การพัฒนา Mobile Application ที่ใช้งานง่าย มีกิจกรรมสนับสนุนให้เด็กรู้จักการออมและการลงทุน เป็นต้น ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำเพื่อสังคมให้ได้ประโยชน์เท่านั้น สุดท้ายแล้วบริษัทก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่น ได้ลูกค้าใหม่ ขณะที่ลูกค้าเดิมก็มีความรู้มากขึ้นในการใช้บริการต่าง ๆ ทำให้ปัญหาการใช้งานบริการต่าง ๆ ลดน้อยลง บริษัทมีความยั่งยืน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ บริษัทที่มีการใส่ใจดูแลพนักงาน ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน สร้างสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน ก็จะทำให้อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน และอัตราการลาออกลดลง โอกาสการขาดแคลนแรงงานก็จะน้อยลง อีกทั้งการที่พนักงานมีความสุข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้กับบริษัทด้วย

 

การอ่านข้อมูลใน One Report นักลงทุน คู่ค้า ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง จะได้ประโยชน์จากข้อมูลด้านความยั่งยืนทางธุรกิจที่สะท้อนถึงมูลค่ากิจการ ทั้งมูลค่าที่เป็นตัวเงิน เช่น การลดต้นทุน และการลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานของธุรกิจ และมูลค่าที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น การที่พนักงาน คนในชุมชน และสังคมมีความสุข เป็นต้น

 

นอกเหนือจากหัวข้อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ยังสอดแทรกอยู่ในหัวข้ออื่น ๆ ใน One Report อีกด้วย ทั้งโครงสร้างและการดำเนินงานของบริษัท การบริหารจัดการความเสี่ยง และการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัท จะเห็นได้ว่าเรื่องของความยั่งยืนนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในทุก ๆ หัวข้อที่มีการเปิดเผยอยู่ใน One Report

 

การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างมีพลังจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ช่วยกันทำให้โลกของเราดีขึ้น และพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน มาร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของเรา เพื่อเราทุกคน นักลงทุนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ เพียงเปิดอ่าน One Report

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ที่มาและแหล่งข้อมูลด้าน ESG ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร เรื่องต้องรู้ ก่อนลงทุนหุ้น ESG” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: