เทคนิคเลือกกองทุนรวม เพื่อสำรองสภาพคล่อง

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
9 มิถุนายน 2564
10.426k views
PF_เทคนิคเลือกกองทุนรวม เพื่อสำรองสภาพคล่อง_Thumbnail
Highlights
  • ถ้าอยากได้สภาพคล่อง และอยากได้โอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้มีความเสี่ยงหรือความผันผวนสูง... กองทุนรวมตลาดเงินช่วยคุณได้!

  • การเลือกกองทุนรวมตลาดเงิน ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ เช่น ผลตอบแทนของกองทุน ความสะดวกในการทำธุรกรรม ตลอดจนนโยบายการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ได้กองทุนที่ถูกใจ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราได้

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ควรมีเงินสำรองสภาพคล่องนั้น ก็เพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในแต่ละสัปดาห์ หรือในแต่ละเดือน รวมทั้งเป็นเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดล่วงหน้า และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ สำรองเพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นการพักเงินชั่วคราว เพื่อให้มีสภาพคล่องพร้อมลงทุนตลอดเวลาเมื่อมีโอกาสเหมาะสม

 

สิ่งสำคัญของการสำรองสภาพคล่องนั้น คือ เมื่อใดก็ตามที่ต้องการใช้เงิน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว และมูลค่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่จึงนิยมการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องราคาหรือการเปลี่ยนแปลงมูลค่า แต่ก็มีข้อเสีย คือ อัตราผลตอบแทนจะอยู่ในระดับต่ำมาก เราจึงควรศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถช่วยบริหารสภาพคล่องได้ ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นด้วย

 

กองทุนรวมเพื่อสำรองสภาพคล่อง

แน่นอนว่า ภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ การฝากเงินไว้เฉย ๆ ในธนาคาร อาจทำให้เราสูญเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทน กองทุนรวมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการบริหารสภาพคล่องและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มีการกำหนดประเภทของกองทุนรวมไล่เรียงตามระดับความเสี่ยง ซึ่งกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความผันผวนของราคาน้อย เหมาะกับการนำมาสำรองสภาพคล่อง ก็คือ กองทุนรวมตลาดเงิน

PF_เทคนิคเลือกกองทุนรวม เพื่อสำรองสภาพคล่อง_01

กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี จึงเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความผันผวนของราคาน้อย เหมาะกับผู้ที่ต้องการสภาพคล่องสูง ผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ และผู้ที่ต้องการพักเงินระยะสั้น ดังนั้น กองทุนรวมตลาดเงินจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ได้

 

เทคนิคสำคัญที่ใช้เลือกกองทุนรวมตลาดเงิน

 

1. ผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ

สามารถดูข้อมูลผลตอบแทนได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) สำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน ควรนำผลตอบแทนเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากหลังหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เพราะการลงทุนในกองทุนรวม จะได้รับยกเว้นภาษีจากส่วนต่างราคาของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ดังนั้น การเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างเงินฝากและกองทุนรวมตลาดเงิน จะต้องแปลงอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในรูป “ผลตอบแทนสุทธิหลังหักภาษี” ก่อน แล้วจึงนำผลตอบแทนมาเปรียบเทียบกัน

โดยการเปรียบเทียบผลตอบแทนนี้ ควรเปรียบเทียบผลตอบแทนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพราะกองทุนรวมตลาดเงินเป็นกองทุนที่ลงทุนระยะสั้น จึงควรดูว่ากองทุนใดสามารถทำผลตอบแทนได้ดี ในช่วง 3 เดือน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และคัดเลือกกองทุนที่มีผลตอบแทนระยะสั้นที่โดดเด่นกว่ากองทุนอื่น ๆ

 

2. ความสะดวกในการทำธุรกรรม

การที่กองทุนรวมตลาดเงินเป็นกองทุนที่ใช้บริหารสภาพคล่อง หมายความว่า ต้องมีการซื้อขายบ่อย ดังนั้น ความสะดวกและประสิทธิภาพในการทำธุรกรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรดูความคล่องตัวในการทำธุรกรรม เช่น การซื้อขายหน่วยลงทุน สามารถทำได้ทุกวันทำการหรือไม่ เมื่อมีการขายจะได้รับเงินเมื่อใด มีบริการธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ (Call Center) หรือไม่ ความสะดวกในแง่ของบัญชีธนาคารที่สามารถผูกเป็นบัญชีหักเงิน เพื่อซื้อกองทุน และบัญชีรับเงิน เมื่อขายกองทุน มีมากน้อยเพียงใด

 

3. นโยบายการลงทุน

การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน เปรียบเหมือนการให้เงินกู้แก่ผู้อื่นในระยะสั้น ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ตราสารหนี้ระยะสั้น ที่กองทุนรวมตลาดเงินไปลงทุนนั้น จะมีผู้ออกตราสารหรือผู้กู้อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ภาครัฐจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงินจะมีความเสี่ยงมากขึ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงมากที่สุด ดังนั้น จึงควรดูสัดส่วนของตราสารหนี้ระยะสั้นที่กองทุนเข้าไปลงทุนด้วยว่า อยู่ในผู้ออกตราสารหรือผู้กู้ประเภทใด เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่

 

นอกจากนี้ควรพิจารณาเรื่อง อายุเฉลี่ยของตราสารที่กองทุนนำเงินไปลงทุน (Portfolio Duration) โดยหากอายุเฉลี่ยของตราสารสั้นกว่า ก็จะมีความผันผวนด้านราคาต่ำกว่านั่นเอง

 

4. ขนาดกองทุน

การลงทุนในกองทุนรวมขนาดใหญ่ มีข้อดี คือ มีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายได้ง่าย ขณะที่กองทุนรวมขนาดเล็ก เมื่อมีบริษัทหรือนิติบุคคลเข้ามาลงทุนในกองทุน และมีการโยกเงินเข้าออก ปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนจะมีผลกระทบกับผลตอบแทนได้ง่าย เช่น ผลตอบแทนอาจลดลงไปเมื่อมีการโยกเงินออกจากกองทุน ในขณะที่การโยกเงินเข้าออก แทบไม่มีผลกระทบกับผลตอบแทนของกองทุนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีขนาดประมาณ 20,000 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะไม่กระทบกับผลตอบแทนมากนัก

 

ศึกษาการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อสำรองสภาพคล่องและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีขึ้น ผ่าน e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจาก e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: