ลงทุนอย่างไรในตลาดขาลง

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
3 Min Read
6 ตุลาคม 2565
2.246k views
Inv_ลงทุนอย่างไรในตลาดขาลง_Thumbnail
Highlights

แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นนัก อีกทั้งตลาดยังเผชิญกับความผันผวนและอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะเสียโอกาสในการลงทุน ยังมีโอกาสรับผลตอบแทนในบางสินทรัพย์หรือบางตลาดได้ เช่น หุ้นกู้ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เป็นต้น

อย่าสู้กับเฟด

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด กำลังเดินหน้าในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และจะยังไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่ลดลง เนื่องจากกังวลว่าเงินเฟ้ออาจขยับขึ้นมาได้อีก ซึ่งการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในนโยบายการเงินที่เข้มงวด แม้ต้องแลกด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและคนว่างงานจำนวนมาก ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เงินไหลกลับมาที่สินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีพุ่งขึ้นต่อเนื่องตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งได้ยิ่งทำให้นักลงทุนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงกับการเก็บเงินในรูปของสินทรัพย์ปลอดภัย แม้จะมีบางช่วงที่นักลงทุนไม่เชื่อว่าเฟดจะเอาจริงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง แต่ก็พบกับการขาดทุนตามตลาดที่ผันผวนหนัก สุดท้ายนักลงทุนก็ได้รับบทเรียนว่า “อย่าสู้กับเฟด” เพราะเราจะไม่มีวันชนะ

 

ของถูกแล้วมีถูกได้อีก แต่จะอีกนานไหม

ในภาวะที่นักลงทุนมีความกังวลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีทิศทางเป็นขาลง นักลงทุนหลายท่านเข้าช้อนซื้อหรือถัวเฉลี่ยในช่วงตลาดขาลง แต่ก็พบว่า ราคาที่ถูกแล้วยังมีถูกกว่านี้ได้อีก แต่การปรับลดลงของตลาดหุ้นช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้สะท้อนอีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ มูลค่าของหุ้นกำลังกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทั้งจากอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E ratio) หรือ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือจากการคาดหวังว่าสุดท้ายการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจะถึงจุดสูงสุด นักลงทุนได้รับรู้ข่าวนี้ไปมากแล้ว และต่อให้มีข่าวร้ายมากไปกว่านี้ ก็ไม่น่าที่จะกระทบต่อตลาดหุ้นให้ผันผวนได้มากไปกว่าที่เผชิญในเดือนกันยายน สุดท้ายการกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นก็ยังสามารถทำได้อย่างระมัดระวัง

 

รับมือความผันผวนในตลาดสหรัฐฯ กับ 4 ธีมการลงทุนเดือนตุลาคม

ผมมองโอกาสการลงทุนในเดือนตุลาคมด้วยการเข้าทยอยสะสม และมองว่าแม้ตลาดจะเป็นขาลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสียโอกาสการลงทุนในทุกตลาด และนักลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนในบางสินทรัพย์หรือบางตลาดได้ เช่น

 

  1. หุ้นกู้

นักลงทุนอาจใช้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เข้าลงทุนหุ้นกู้ในบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือที่ให้ผลตอบแทนดี และลงทุนในระยะ 3 – 5 ปี ซึ่งอาจแบ่งสัดส่วนที่นักลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ และต้องการลงทุนในระยะยาว หรือถือจนครบอายุสัญญา แต่หากต้องการขายทำกำไรในอนาคต เพื่อรับประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนก็สามารถทำได้ในตลาดรองของตราสารหนี้

 

  1. กองทุนรวมหุ้นอาเซียน

ผมยังชอบการลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากกว่าตลาดพัฒนาแล้วในตะวันตก ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่รุนแรง ประกอบกับการเปิดเมืองที่มากขึ้นน่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และการที่ตลาดในกลุ่มนี้ถูกเทขายในช่วงก่อนหน้ายิ่งทำให้มูลค่าหุ้นมีความน่าสนใจ นอกจากนี้ ในหลากหลายหุ้นยังเป็นกลุ่มเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ที่น่าเติบโตในระยะยาวจากโครงสร้างประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว

 

  1. หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน

การลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกน่าจะเปิดโอกาสให้ได้กำไรในทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ขยับสูงขึ้น ประกอบกับทิศทางการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในกลุ่มสถาบันการเงินก็น่าจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้

 

  1. กองทุนรวมผสมที่มีการกระจายการลงทุนทั่วโลก

การที่นักลงทุนกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกก็นับเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าสินทรัพย์ใดจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ในขณะเดียวกันหากคาดการณ์ผิดทางในช่วงตลาดขาลง การถือสินทรัพย์ที่หลากหลายก็ช่วยลดความผันผวนในตลาดขาลงได้มาก นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสการลงทุนในช่วงที่ตลาดรีบาวด์ในฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ที่วันนี้แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็เริ่มมีความน่าสนใจในด้านมูลค่าที่มากขึ้น นอกจากการลงทุนในหุ้นทั่วโลกแล้ว นักลงทุนอาจเลือกการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกได้ด้วย และอาจเข้าถือสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนและป้องกันเงินเฟ้อ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Rotation ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: