เทคนิคคัดกรองหุ้น Laggard

โดย อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
3 Min Read
4 มิถุนายน 2564
6.276k views
Inv_เทคนิคคัดกรองหุ้น Laggard_Thumbnail
Highlights

หุ้น Laggard ไม่สามารถลงทุนได้ทุกตัว กลยุทธ์การลงทุนหุ้น Laggard ให้ได้ผลก็คือ ค้นหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง ซื้อก่อนนักลงทุนคนอื่น และต้องมั่นใจว่าราคาหุ้นนั้นจะปรับขึ้น จากนั้นเมื่อราคาปรับขึ้นถึงระดับที่วางไว้ ก็ควรขายเพื่อทำกำไร

Laggard แปลกันตรง ๆ คือ เชื่องช้า ชักช้า และเมื่อนำมาใช้กับหุ้น ที่เรียกว่า หุ้น Laggard นักลงทุนจึงให้คำนิยามว่าเป็นหุ้นที่มีราคาปรับขึ้นช้ากว่าตลาดโดยรวม หรือช้ากว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และหากพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้เป็นหุ้น Laggard หลัก ๆ มีดังนี้

 

  1. ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น “อ่อนแอ” กว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ความสามารถในการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการทำกำไร สถานะทางการเงิน หรือหุ้นที่ยังไม่ได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) เป็นต้น

 

  1. ปัจจัยพื้นฐานหรือการประเมินมูลค่า (Valuation) ไม่แตกต่างไปจากหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เพียงแต่นักลงทุนยังมองไม่เห็นหรือเป็นหุ้นที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทำให้ราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นไป

 

  1. ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา หมายความว่า ถึงแม้ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลาง และหุ้นขนาดเล็กจะเหมือนกัน แต่นักลงทุนอาจมองว่าหุ้นขนาดใหญ่จะเป็นผู้นำตลาด มีสภาพคล่อง มีปริมาณการซื้อขายสูง ทำให้ราคาหุ้นปรับสูงขึ้นเร็วกว่าหุ้นขนาดอื่น ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจะปรับขึ้นตามกลุ่มผู้นำ จึงเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนต้องมองหาหุ้นขนาดใหญ่ มีความปลอดภัยสูงก่อน และเมื่อราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้นไปก็จะเริ่มมองหาหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก

 

ดังนั้น การเลือกลงทุนหุ้น Laggard จึงควรเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรงแต่ราคายังไม่ปรับขึ้น หรือปรับขึ้นช้ากว่าหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งวิธีการคัดกรองสามารถเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในระยะเวลาที่เหมือนกัน เพื่อดูว่าราคาหุ้นมีความเคลื่อนไหวอย่างไร ถัดจากนั้นก็ดูผลการดำเนินงาน ดูอัตราส่วนทางการเงิน ประเมินมูลค่า รวมถึงอ่านคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ เช่น ราคาเป้าหมาย เหตุผล และประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลต่อหุ้นนั้น ๆ

Inv_เทคนิคคัดกรองหุ้น Laggard_01

จากตัวอย่าง พบว่ามีหุ้น Laggard อยู่ 2 ตัว ได้แก่ ธนาคาร A และ ธนาคาร D เพราะตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564 ราคาปรับขึ้นเพียง 3% และ 2% ตามลำดับ แต่เมื่อดูข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ พบว่ามีความแตกต่างกัน โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ปีนี้ของธนาคาร A จะเติบโตที่ 23.91% เนื่องจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมจะขยายตัวดี ขณะที่ ธนาคาร D กำไรสุทธิต่อหุ้นจะหดตัว -16.67% เนื่องจากผลกำไรปรับลดลงจากผลกระทบวิกฤติ COVID-19

 

ขณะที่ P/E Ratio, P/BV Ratio และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของธนาคาร A และ ธนาคาร D ประเมินว่าปีนี้อยู่ในระดับไม่แตกต่างกัน และเมื่อดู ROE ของปี 2563 พบว่าธนาคาร D สูงกว่า ธนาคาร A แต่จากการประเมินของนักวิเคราะห์พบว่าธนาคาร A จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตได้สูง, P/BV Ratio ค่อนข้างต่ำ และ Dividend Yield อยู่ระดับปานกลาง ขณะที่ ธนาคาร D ประเมินว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นจะหดตัว

 

ดังนั้น หุ้น Laggard ในกลุ่มธนาคารที่น่าสนใจ คือ ธนาคาร A

 

นั่นหมายความว่า การที่จะคัดกรองเพื่อค้นหาหุ้น Laggard นักลงทุนต้องรู้และติดตามข้อมูลข่าวสาร เพื่อจะได้รู้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และส่งผลกระทบอย่างไร เช่น บริษัทใดจะได้ประโยชน์ และได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือบริษัทไหนจะเสียประโยชน์ เป็นต้น

 

กลยุทธ์ลงทุน

กลยุทธ์ลงทุนหุ้น Laggard ที่ได้ผลนั้น คือ ควรมองหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง ราคายังไม่ได้ปรับขึ้น แต่ต้องมั่นใจว่าในอนาคตราคาจะปรับขึ้น ที่สำคัญควรซื้อก่อนนักลงทุนคนอื่น และเมื่อซื้อแล้วก็ต้องดูจังหวะขาย โดยหากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ก็ต้องดูอัตราส่วนทางการเงินและการประเมินมูลค่า ถ้ามูลค่าปรับขึ้นไปหรือเรียกว่าเข้าโซนแพง ขณะเดียวกัน P/E Ratio ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ Dividend Yield ปรับลดลงต่ำ เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นและใกล้ราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้แล้ว ก็อาจพิจารณาขายเพื่อทำกำไร

 

โดยปกติแล้ว หุ้น Laggard จึงเหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ เพื่อหาผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain) ดังนั้น หากเลือกซื้อหุ้น Laggard แล้วราคาหุ้นปรับขึ้นจะทำให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้

 

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นที่น่าสนใจด้วยตนเอง ผ่านโปรแกรม SETSMART พร้อมเจาะลึกลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวิเคราะห์หุ้นในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening & Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: