สำรวจผลตอบแทนหุ้นไทยใน DJSI

โดย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
31 พฤษภาคม 2564
2.372k views
Inv_สำรวจผลตอบแทนหุ้นไทยใน DJSI_Thumbnail
Highlights
  • จากข้อมูลของดัชนี DJSI World ในปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี 11 บริษัท และ DJSI EM จำนวน 21 บริษัท ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนในดัชนีดังกล่าวสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

  • การทดลองสร้างพอร์ตลงทุน ด้วยการเลือกบริษัทจดทะเบียนไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM เพื่อดูผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลังประมาณ 5 ปี พบว่า ได้ผลตอบแทนรวมสะสมสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี SET100 TRI

  • การลงทุนในหุ้นยั่งยืน เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ อีกทั้งกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่เติบโตมากขึ้น

Dow Jones Sustainability Index (DJSI) เป็นดัชนีที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2542 โดย RobecoSAM ร่วมกับ S&P DowJones ได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นของบริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 2,500 ตัว ในดัชนี S&P Global BMI โดยพิจารณาจากมูลค่าของหุ้นหลังปรับน้ำหนักตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float) และคะแนนจากแบบประเมินด้านความยั่งยืน Corporate Sustainability Assessment (CSA) ที่ครอบคลุมตัวชี้วัดในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

จากนั้นจึงคัดเลือกบริษัทที่ได้คะแนนเป็นอันดับต้น ๆ ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์การคัดเลือกของแต่ละดัชนีย่อย เพื่อให้ได้หุ้นที่มีความโดดเด่นในการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก 

โดยมีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินในแต่ละปี เพิ่มขึ้นจาก 280 แห่งในปี 2542 เป็น 1,386 แห่งในปี 2563 และมีบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าดัชนี Dow Jones Sustainability World Index (DJSI World) ทั้งสิ้น 321 แห่ง รวมถึงมีบริษัทที่ได้รับเลือกเข้าดัชนี Dow Jones Sustainability Emerging Market Index (DJSI EM) ทั้งสิ้น 100 แห่ง

ประกอบกับแนวคิดด้านความยั่งยืนกลายเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในด้านการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนชั้นนำหลายแห่งได้จัดตั้งกองทุนด้านความยั่งยืนที่เลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงกับแหล่งข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงดัชนี DJSI เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

จากข้อมูลของดัชนี DJSI World ในปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี 11 บริษัท และ DJSI EM จำนวน 21 บริษัท ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนในดัชนีดังกล่าวสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7

จากการทดลองสร้างพอร์ตลงทุน ด้วยการเลือกบริษัทจดทะเบียนไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI EM และปรับพอร์ตตามการเปลี่ยนแปลงสมาชิกของดัชนีเป็นรายปี (Annual Rebalancing) เพื่อดูผลตอบแทนรวมสะสมย้อนหลังประมาณ 5 ปี (มกราคม 2559 – 17 กุมภาพันธ์ 2564) พบว่า ได้ผลตอบแทนรวมสะสม 51% สำหรับพอร์ตลงทุนที่ใช้การถ่วงน้ำหนักแบบเท่ากัน (Equal Weighting) และได้ผลตอบแทนที่ 49% สำหรับพอร์ตลงทุนที่ใช้การถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (Market Cap Weighting) ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนี SET100 TRI ที่ระดับ 38%
Inv_สำรวจผลตอบแทนหุ้นไทยใน DJSI_01

ที่มา : ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

นอกจากผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่น่าประทับใจแล้ว จากการทดลองสร้างพอร์ตลงทุนด้วยหุ้นที่อยู่ในดัชนี DJSI EM ยังพบว่า หุ้นที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงอีกด้วย โดยหากดูจากมูลค่าการซื้อขายใน NVDR ซึ่งเป็นตราสารหรือช่องทางการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีก่อน จนถึง 3 ปีหลังเข้าร่วมดัชนี จะพบว่ามูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยของหุ้นไทยทั้ง 21 ตัวที่อยู่ในดัชนี DJSI EM ผ่าน NVDR เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 11% อีกทั้ง มูลค่าการซื้อขาย NVDR สุทธิในแต่ละปีของหุ้นไทยในดัชนี DJSI EM โดยเฉลี่ยมีสถานะซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องทั้งในปีก่อนและหลังเข้าดัชนี สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉพาะบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

และแม้ว่าการลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือเรียกว่า หุ้น ESG จะไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ อีกทั้งการลงทุนในหุ้นยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโตมากขึ้น ดังนั้น อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาการลงทุนอย่างยั่งยืน

 

สำหรับใครที่สนใจ ทำความรู้จักหุ้นยั่งยืนมากขึ้น เพื่อหาโอกาสในการลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติม ได้ที่ >> คลิกที่นี่

หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิจัย “หุ้นไทยโดดเด่นในดัชนีด้านความยั่งยืน” โดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถอ่านบทวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

โดยบทวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: