ภาวะเงินเฟ้อ vs. โอกาสการลงทุน

โดย เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส
3 Min Read
27 พฤษภาคม 2564
14.391k views
PF_ภาวะเงินเฟ้อ vs. โอกาสการลงทุน_Thumbnail
Highlights
  • เงินเฟ้อนอกจากจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินในกระเป๋า ทำให้ซื้อสินค้าและบริการในจำนวนเท่าเดิม แต่ต้องใช้เงินมากขึ้นแล้ว ยังส่งกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริงอีกด้วย

  • ถึงแม้ว่าในอนาคต เงินเฟ้อของประเทศไทยมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น ทำให้มูลค่าของเงินลดลง แต่หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ไม่ยาก

เงินเฟ้อ เป็นสภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรงหรือเงินเฟ้ออย่างอ่อน จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นการกระตุ้นการลงทุน การจ้างงาน และทำให้รายได้ของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเงินเฟ้อขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจะไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากรายจ่ายสูงขึ้น หรืออาจสูงกว่ารายได้ที่ได้รับ

 

ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อ คือ การที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีผลให้ค่าของเงินที่ถืออยู่ลดลง เช่น เมื่อต้นปีที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 50 บาท วันนี้ราคาชามละ 51 บาท แสดงว่า 1 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% หมายความว่า เงินเฟ้อทำให้ค่าของเงินลดลง จึงต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในจำนวนเท่าเดิม หรือถ้าใช้เงินเท่าเดิมก็จะซื้อสินค้าได้จำนวนน้อยลง

 

นอกจากเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินในกระเป๋าของประชาชนแล้ว ยังมีผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะเมื่อเงินเฟ้อปรับขึ้น จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริงปรับลดลง จึงถือได้ว่าเงินเฟ้อเป็นศัตรูสำคัญอย่างหนึ่งของเงินออมหรือการลงทุน

 

สูตรคำนวณผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริง


ผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริง = ผลตอบแทน  อัตราเงินเฟ้อ



ตัวอย่าง

สินทรัพย์ XYZ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1% ต่อปี

เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อปี

 

จากตัวอย่าง เมื่อนำผลตอบแทนของสินทรัพย์ XYZ คือ 1% ลบกับเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1.5% จะเท่ากับ -0.5% นั่นหมายความว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ XYZ แพ้เงินเฟ้อ

 

สะท้อนให้เห็นว่า ผลตอบแทนที่ได้รับมาไม่สามารถชดเชยอำนาจการซื้อที่ลดลงได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ผลตอบแทนที่ได้รับยังต่ำกว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องหาสินทรัพย์ลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่แท้จริงที่สูงกว่าเงินเฟ้อ

 

คำถาม คือ ลงทุนอะไรให้ชนะเงินเฟ้อ?

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ณ สิ้นปี 2564 จะปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.2% หมายความว่า หากนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำกว่า 1.2% จะแพ้เงินเฟ้อ ดังนั้น ด้วยสภาวะแบบนี้ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Search for Yield เพิ่มขึ้น คือ มีความต้องการที่จะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อให้ชนะเงินเฟ้อ โดยสามารถเลือกลงทุนเพื่อให้ชนะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังนี้

 

  1. หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ เน้นเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน
  2. หากรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เน้นกองทุนรวมตราสารหนี้
  3. หากรับความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น เน้นกองทุนรวมผสมหรือกองทุนรวมหุ้น
  4. หากรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) หรือหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่อย่าชะล่าใจ เพราะหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ควรศึกษาหาข้อมูลและวางแผนการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้ผลตอบแทนสามารถชนะเงินเฟ้อได้ตลอดเวลา

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงกับผลตอบแทนเป็นของคู่กันเสมอ อยากได้ผลตอบแทนมากก็ต้องยอมเสี่ยงมาก อยากปลอดภัยก็ต้องยอมรับผลตอบแทนน้อย สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยง เพื่อค้นหาระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง รวมถึงพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้น ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้ทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงกระบวนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม พร้อมเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: