หากถามนักลงทุน ถึงเป้าหมายหลักในการลงทุน คำตอบคงหนีไม่พ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง แต่การลงทุนมีความเสี่ยง นั่นหมายความว่า หากลงทุนไปแล้วย่อมมีโอกาสที่จะขาดทุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียด ความรู้สึกกังวลได้ จึงทำให้นักลงทุนบางคนเริ่มต้นด้วยการลงทุนแบบระมัดระวัง (Conservative Investment)
คำจำกัดความของการลงทุนแบบระมัดระวัง ก็คือ เป็นวิธีที่มีโอกาสที่ดีในการรักษาเงินต้นไม่ให้สูญหาย หรือให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นมากกว่าการสร้างผลตอบแทน นั่นคือ มีความเสี่ยงต่ำที่สุด จากนั้นจึงพิจารณาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนให้เหมาะสมกับวิธีการลงทุนดังกล่าว
แต่หากพยายามลงทุนอย่างระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้น แต่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็อาจทำให้การลงทุนรูปแบบนี้ไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จกับการลงทุนรูปแบบนี้ องค์ประกอบที่สำคัญและลืมไม่ได้ ก็คือ การเลือกสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสม
กลยุทธ์การลงทุน
การลงทุนแบบระมัดระวังจะเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มั่นคง นั่นคือ ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม ต้องการเห็นเงินต้นอยู่ครบ ดังนั้น ควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำหลายประเภท เพื่อทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมมีความผันผวนต่ำที่สุด เช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวมพันธบัตรระยะสั้น กองทุนรวม ETFs หรือกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Income) เป็นต้น แม้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่มาก แต่ก็ทำให้รู้ได้ค่อนข้างแน่นอนว่าจะได้ผลตอบแทนเป็นเท่าใดและเมื่อไร ซึ่งนั่นก็คุ้มค่ากับความปลอดภัยสำหรับเงินลงทุน
และมีคำถามตามมาว่า ควรเลือกหุ้นอย่างไรให้เหมาะกับการลงทุนแบบระมัดระวัง คำตอบคือ เลือกหุ้นที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งดูจากปัจจัย 3 ด้าน ดังนี้
ด้านลักษณะการดำเนินธุรกิจ
หุ้นที่สามารถเก็บเข้าพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวังได้ จะต้องมีพื้นฐานดี มีฐานะการเงินมั่นคง และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจบางอย่างที่โดดเด่น เช่น ต้นทุนการผลิตต่ำ รายได้เติบโตสม่ำเสมอ มีความสามารถในการทำกำไรหรือผลการดำเนินงานปรับลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงเศรษฐกิจซบเซา อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในระยะยาว เป็นต้น
ด้านบุคลากร
บริษัทขนาดเล็กสามารถประสบความสำเร็จได้โดยอาศัยทีมงานไม่มากนัก แต่เมื่อธุรกิจใหญ่โตขึ้น หากสามารถรักษาและพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้ธุรกิจขยายตัวได้เช่นเดียวกัน ยิ่งมีผู้นำและทีมผู้บริหารที่มีคุณภาพ มีความโปร่งใส หรือมีทักษะด้านอื่น ๆ ครบครัน ก็สามารถนำมาพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน และเมื่อธุรกิจขยายตัวก็สามารถรักษาระดับการเติบโตและชื่อเสียง ย่อมลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้
ด้านศักยภาพในการเติบโต
หุ้นที่มีความมั่นคงสูงจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่ดี ถึงแม้จะมีคู่แข่งจำนวนมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่บริษัทก็ยังคงรักษาฐานลูกค้าและส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตได้ รวมถึงรักษาระดับการเติบโตของยอดขายและกำไรได้ดี โดยไม่ได้รับผลกระทบจากคู่แข่งรายใหม่ ที่สำคัญมีศักยภาพในการควบคุมหรือเป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจได้ อีกทั้ง บริษัทควรมีฝ่ายวิจัยและการตลาดที่แข็งแกร่ง เพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ท่ามกลางสภาวะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
หากบริษัทที่มีปัจจัยครบทั้งสามด้าน มักจะมีรายได้และกำไรที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดโดยรวมมีความผันผวนก็ปรับลดลงไม่มาก ที่สำคัญผู้บริหารให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นด้วยการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงของการลงทุนแบบระมัดระวัง
“การลงทุนมีความเสี่ยง” ประโยคที่นักลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนั้น ถึงแม้จะเลือกลงทุนด้วยความระมัดระวังก็ยังมีความเสี่ยง เพราะการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนย่อมอยู่ในระดับต่ำด้วย ดังนั้น พอร์ตลงทุนที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็อาจจะแพ้เงินเฟ้อได้ หมายความว่า มูลค่าเงินลงทุนในอนาคตจะลดต่ำลงตามเงินเฟ้อ ที่สำคัญเมื่อผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนในระยะยาวได้ และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ จึงควรจัดพอร์ตลงทุนให้มีสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย รวมทั้งควรศึกษาข้อมูลและเลือกรูปแบบสินทรัพย์นั้น ๆ ให้เหมาะกับการลงทุนและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและแนวคิดการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ หลักการสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน ตลอดจนเข้าใจวิธีการวัดผลการดำเนินงาน และแนวทางในการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ในอนาคต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องบริหารพอร์ตลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน