มีเท่าไรถึงเรียกว่ามีอิสรภาพทางการเงิน

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
4 Min Read
28 ธันวาคม 2564
26.633k views
Inv_มีเท่าไรถึงเรียกว่ามีอิสรภาพทางการเงิน_Thumbnail
Highlights

อิสรภาพทางการเงินอาจจะไม่ใช่เป้าหมายเดียว และไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของทุกคน เพราะเราต่างมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน แม้อิสรภาพทางการเงินจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ควรจะเป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิตของทุกคน เพื่อที่เราจะสามารถใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะเป็นโดยที่ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการเงิน และมีความสุขกับด้านอื่น ๆ ของชีวิตมากขึ้น คำถาม คือ แล้วต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอหรือเรียกว่ามีอิสรภาพทางการเงิน บทความนี้จะช่วยคุณมาหาคำตอบ!!

อิสรภาพทางการเงิน คือ การที่เรามีเงินมากพอที่จะจับจ่ายใช้สอยไปจนสิ้นอายุขัยโดยที่ไม่ต้องทำงาน แต่นัยจริง ๆ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องทำงานเลย เราทำงานต่อไปได้ (หรือจะไม่ทำก็ได้นะ แต่ไม่แนะนำนะครับ เพราะความเหงาจะมาเยือน เดี๋ยวจะเป็นอัลไซเมอร์ได้) จะเป็นงานเดิมหรือเปลี่ยนไปหางานที่เรารักก็ย่อมทำได้ หรือไม่งั้นไปทำงานอาสาช่วยเหลือผู้คนไปเลย ได้บุญและมีความสุขอีกด้วย แต่ ณ เวลาที่เรามีอิสรภาพทางการเงินนั้น เราจะไม่เครียดเรื่องเงินทองแล้ว เพราะเรามั่นใจแล้วว่าเราจะมีเงินมากพอที่จะใช้ไปจนสิ้นอายุขัยได้ แต่ไม่ได้หมายความเราจะมีอิสรภาพกับทุกเรื่องนะครับ เราจะยังมีภาระอื่น ๆ อีก เช่น ครอบครัว ยกเว้นเรื่องเงินที่เราไม่ต้องกังวลแล้วเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่รู้ว่าต้องมีเงินเท่าไรถึงมากพอที่จะพบกับอิสรภาพทางการเงิน หรือหนักกว่านั้นบางคนเรื่องอิสรภาพทางการเงินไม่ได้อยู่ในหัวเลยด้วยซ้ำ โดยข้ออ้างที่ผมมักได้ยินเป็นประจำ คือ เอาแค่เงินพอใช้ก็แทบจะไม่ไหวแล้ว ซึ่งผมยอมรับจริง ๆ ว่าหลายท่านเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ใน 2 ตอนแรกที่ผมเขียน ผมจึงยังไม่เน้นเรื่องการมีอิสรภาพทางการเงินหรือเรื่องการลงทุนเลย แต่ผมเน้นเรื่องการสำรวจตัวเองว่าเรามีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร เราเสียเงินไปกับอะไร รายได้เรามีเท่าไร อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราใช้เงินแบบเดือนชนเดือน หาปัญหาให้เจอว่าเงินหายไปไหน เพื่อที่แก้ปัญหาเหล่านั้นให้ได้ก่อนที่เราจะมาคุยกันเรื่องอิสรภาพทางการเงิน เพราะหากเรายังไม่หลุดกับดักนั้นออกมา ก็คงไม่สามารถคิดเรื่องการมีอิสรภาพทางการเงินได้เลย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะยังใช้เงินแบบเดือนชนเดือนอยู่ แต่เราควรมีเรื่องอิสรภาพทางการเงินเป็นเป้าหมายหนึ่งในชีวิต แม้ว่าวันนี้เราจะคิดว่ามันไกลเกินเอื้อมก็ตาม

 

จากตอนนี้เป็นต้นไป ผมจะเริ่มเข้าเรื่องการมีอิสรภาพทางการเงินและเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนคือเป้าหมายของอิสรภาพทางการเงิน คือ ต้องมีเงินเท่าไรถึงจะพอ เป็นคำถามปลายเปิดมากนะครับ แต่ละคนมีความต้องการ การใช้ชีวิต และภาระที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น แต่ละคนมีความต้องการเงินเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินย่อมแตกต่างกันไปด้วย โดยมี 3 ปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงในการคำนวณว่าเราควรมีเงินเท่าไรหากต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน ได้แก่

  • อายุที่เราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน (ขอย้ำไม่ใช่อายุที่เราต้องการเกษียณ บางคนมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่ไม่เกษียณและทำงานต่อไปมีเยอะนะครับ)
  • ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เราต้องใช้หลังมีอิสรภาพทางเงิน และสุดท้าย
  • อายุขัยของเรา (คาดการณ์ยากมากครับ แต่ค่าเฉลี่ยคนไทยมีอายุขัยประมาณ 80-85 ปี)

 

  1. อายุที่เราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน แน่นอนว่าทุกคนต้องการมีอิสรภาพทางการเงินให้เร็วที่สุด แต่เราต้องเข้าใจว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเร็วนั้น หมายถึง เราต้องมีเงินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และอาจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินมา ซึ่งทำงานหนักไม่ได้หมายถึงหนักทางกายอย่างเดียว แต่หนักทางสมองและหนักทางใจด้วย และขอย้ำอีกครั้ง ไม่ได้หมายความว่าเรามีอิสรภาพทางการเงินแล้วต้องหยุดทำงาน เพราะหากเรามีอิสรภาพทางการเงินเร็ว เราอาจได้ทำอะไรในสิ่งที่รักมากขึ้น เพราะในช่วงอายุของการทำงานนั้นเป็นการยากมากที่จะเลือกระหว่างทำงานที่เรารัก กับทำงานที่ได้เงิน ซึ่งมีไม่กี่คนหรอกครับที่โชคดีได้ทำงานที่ตัวเองรักและได้เงิน ส่วนผมเองมักจะสอนหลาย ๆ คนว่า อย่าพยายามหางานที่ตัวเองรัก เพราะมันอาจใช้เวลานานเกินไป แต่จงพยายามรักในงานที่ทำ มันง่ายกว่าที่จะหา

 

  1. ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังมีอิสรภาพทางการเงิน เป็นตัวเลขที่สำคัญมากที่เราต้องรู้ เราจะไม่สามารถคำนวณได้เลยว่าเราจะต้องมีเงินเท่าไรเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงิน หากเราไม่คำนวณตัวเลขนี้ ซึ่งนั้นคือที่มาที่ผมให้ทุกท่านสำรวจตัวเองว่ามีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไร แยกเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกับค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ดังที่ผมได้สอนไปแล้วใน 2 ตอนแรก เพื่อให้รู้ว่าหากเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำงานเลย เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไร จะลดลงได้เท่าไรและอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เรามีอิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น ดังนั้นการมีอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่ว่าจะต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพออย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เงินเท่าไรถึงจะพอด้วยนะครับ

 

  1. ช่วงเวลาที่เหลืออยู่หลังมีอิสรภาพทางการเงิน ในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยมากขึ้น เราต้องคิดถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตไว้ด้วย เป็นสัจธรรมของชีวิตที่ทุกคนเกิดมาต้องตาย หากโชคดีช่วงสุดท้ายของชีวิตเราอาจมีลูกหลานดูแล แต่ในอนาคตเรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยอายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2562 อายุเฉลี่ยผู้ชายไทยอยู่ที่ประมาณ 73 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 80 ปี เราอาจใช้ตัวเลขนี้ในการประมาณการอายุเราก็ได้ แต่อย่าลืมเผื่อให้นิดหน่อยเพราะในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า อายุเฉลี่ยคนไทยจะมากขึ้นอีกจากการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2583 อายุเฉลี่ยของคนไทยรวมทั้งเพศชายและหญิงจะเพิ่มขึ้นเป็น 83 ปี จาก 77 ปี ในปี 2562 คนเริ่มทำงานหรือเพิ่งจบออกมาหางานทำตอนนี้จะรู้ไหมนะ ว่าเขามีภาระการดูแลตัวเองมากกว่ารุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ของเขามากเลย ยังไงก็วางแผนให้ดี “เสียใจที่ใช้เงินไม่หมดก่อนตาย ดีกว่าเสียใจที่ใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” นะครับ

 

มาถึงประเด็นสำคัญของเรากับคำถามที่ว่าเราต้องมีเงินเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งต้องเริ่มจากเราจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไรต่อเดือน บนสมมติฐานว่าเราไม่มีรายได้เลยหลังมีอิสรภาพทางการเงิน (ในความจริงเรามีรายได้จากการลงทุนได้นะครับ แต่เอาไว้คุยเรื่องการลงทุนในตอนต่อ ๆ ไป) ตัวอย่างเช่น หากเราต้องมีค่าใช้จ่ายหลังมีอิสรภาพทางการเงินที่เดือนละ 20,000 บาท และเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 40 ปี และมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 85 ปี เราต้องมีเงินเท่ากับ 10.8 ล้านบาท (20,000 บาทต่อเดือน x 12 เดือน x 45 ปี) ณ อายุ 40 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีอิสรภาพทางการเงินเพียงพอ และหากอยากมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 50 ปี ต้องมีเงิน 8.4 ล้านบาท จนถึงหากต้องการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 60 ปี ต้องมีเงิน 6.0 ล้านบาท

 

แต่หากค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 บาทต่อเดือนละ และยังต้องการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 40 ปี เราต้องมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 16.2 ล้านบาท หรือหากต้องการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 60 ปี เราต้องมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 9.0 ล้านบาท (ดังตารางด้านล่าง) ดังนั้น หากอยากมีอิสรภาพทางการเงินเร็วก็จำเป็นต้องเร่งสะสมเงิน และยิ่งต้องสะสมมากขึ้นหากค่าใช่จ่ายต่อเดือนของเราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตอนนี้เราอายุเกิน 30  ปี 40 ปี หรือ 50 ปีมาแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ว่า เราจะมีเงินเท่านั้นได้อย่างไรแบบเร็วที่สุดหากเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน

Inv_มีเท่าไรถึงเรียกว่ามีอิสรภาพทางการเงิน_01

เมื่อเรารู้แล้วว่าต้องการเงินเท่าไร (โดยประมาณแบบคร่าว ๆ นะครับ) เพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงิน คำถามต่อมาและยากกว่าคือ เราจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร มาดูตัวอย่างกัน สมมติว่าเรามีเงินเหลือเก็บเดือนละ 5,000 บาท และหากเก็บทุกบาททุกสตางค์จริง ๆ ตั้งแต่ทำงานวันแรกตอนอายุ 22 ปี จนถึงอายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี เราจะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 1.08 ล้านบาท 1.68 ล้านบาท และ 2.28 ล้านบาท ตามลำดับ และหากเก็บได้เดือนละ 1 หมื่นบาทละ เงินเก็บจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.16 ล้านบาท 3.36 ล้านบาท และ 4.56 ล้านบาท ณ อายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี ตามลำดับ ไม่ได้ใกล้เคียงกับเงินที่เราต้องการเพื่อมีอิสรภาพทางการเงินตามตารางด้านบนเลยแม้แต่น้อย

 

เรามาสมมติกันใหม่ หากเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงินตอนอายุ 60 ปี (อายุเกษียณเลย) เริ่มงานอายุ 22 ปีเช่นเดิม คาดว่าจะมีอายุขัยถึงอายุ 85 ปี และมีค่าใช้จ่ายหลังมีอิสรภาพทางการเงินหรือหลังเกษียณ 30,000 บาท ต่อเดือน เราต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไรรู้ไหมครับ 19,736 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 38 ปี (อายุ 22 – 60 ปี) เห็นตัวเลขแล้วตกใจ และไม่แปลกใจเลยว่าข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า คนไทยมีอิสรภาพทางการเงินหลังเกษียณเพียง 5% เท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องทำงานต่อไปไม่หยุดหรือต้องเป็นภาระของลูกหลานหรือภาระของภาครัฐ

 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงท้อ นี่ขนาดเก็บเงินเดือนละ 5 พันบาท หรือ 1 หมื่นบาทต่อเดือนเชียวนะ ยังไม่มีอิสรภาพทางการเงินเลย และมันก็ไม่ง่ายนะที่จะเก็บเงินให้ได้เดือนห้าพันหรือหนึ่งหมื่นบาท นี่แหละคืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงไม่มีอิสรภาพทางการเงิน และน่ากังวลมากกว่านั้นคือคนไทยไม่รู้ว่าตัวเองจะไม่มีวันมีอิสรภาพทางการเงินหากยังไม่เริ่มทำอะไร ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำมากกว่าเก็บเงิน คือ เราต้องทำให้เงินเก็บเติบโตไปด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไปที่เราจะหาความรู้ โดยในตอนต่อ ๆ ไป เราจะกำลังเข้าสู่หัวข้อที่สำคัญมากแล้วครับ นั่นคือ ทำยังไงให้เงินของเราเติบโตพร้อมออกดอกออกผลให้เราใช้จนถึงมีเงินเหลือเป็นมรดกให้ลูกหลานกันเลยทีเดียว มาตามกันในตอนหน้านะครับ เรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเรียบง่าย แต่ไม่ง่าย!!!


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคตของตนเองได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยในการออมให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนสร้างเงินออมเพื่ออนาคต” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: