ลงทุนทางเลือกไหน... สบายใจวัยเกษียณ

โดย SET
3 Min Read
1 มกราคม 2564
3.645k views
TSI_20_ลงทุนทางเลือกไหน... สบายใจวัยเกษียณ
Highlights
  • การลงทุนหลังเกษียณต้องได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อรักษา “มูลค่า” ของเงินก้อนสุดท้ายนี้เอาไว้

  • 5 ทางเลือกการลงทุนที่เหมาะกับวัยเกษียณ ได้แก่ ฝากเงินกับธนาคาร ซื้อสลากออมสินและสลาก ธ.ก.ส. ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ และลงทุนในกองทุนรวม นอกจากนี้ วัยเกษียณก็สามารถลงทุนในหุ้นได้ โดยต้องมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ไม่มากเกินไป เพราะหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ ในระยะยาว

“เงินก้อนสุดท้ายหลังเกษียณ ควรจะเอาไปลงทุนในทางเลือกไหน?”


หลายคนที่เริ่มใช้ชีวิตหลังเกษียณ คงกำลังมองหาหรือทบทวนการแผนการลงทุนอีกครั้ง เพราะมีเงินก้อนใหญ่ที่ได้มาจากการเก็บออม (ไม่ว่าจะเป็นเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเงินบำเหน็จ) ที่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อรักษา “มูลค่า” ของเงินก้อนนี้เอาไว้


ถ้าอย่างนั้น หากเรารู้วิธีการขยายดอกผลที่เหมาะสมในทางเลือกการลงทุนต่างๆ ที่อาจจะเสี่ยงน้อยเสี่ยงมากคละกันไป เงินก้อนนี้ยังสามารถออกดอกออกผลมาเป็นรายได้ ทดแทนรายได้ประจำที่หายไปเมื่อถึงวันเกษียณ หรือเมื่อถึงวันที่ไม่มีแรงหารายได้ได้อีกด้วย ลองพิจารณา5 ทางเลือกการลงทุนสำหรับวัยเกษียณ” ไว้เป็นตัวช่วยต่อยอดเงินออมให้เรา

1. ฝากเงินกับธนาคาร

ถือเป็นวิธีที่คนวัยเกษียณส่วนใหญ่นิยมมากที่สุด เพราะง่ายและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งปัจจุบันการฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ย ประมาณ 0.5 - 3% (กรณีที่มากกว่า 3% อาจเป็นแพ็คคู่กับประกันชีวิต) จึงเหมาะกับคนที่มีเงินก้อนใหญ่ เช่น คนที่ได้เงินบำเหน็จหรือเงินชดเชยการทำงานเป็นจำนวนที่สูง

ตัวอย่างเช่น

ถ้าต้องการเงินใช้จ่ายต่อเดือน 5,000 บาทหรือปีละ 60,000 บาท หากเปิดบัญชีฝากประจำได้รับดอกเบี้ย 3% ต่อปี ดังนั้น เราก็ต้องมีเงินฝากอย่างน้อย 2 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะได้รับดอกเบี้ยเป็นเงินใช้จ่ายรายเดือนตามที่หวังไว้

ที่บอกว่าต้องฝากอย่างน้อย 2 ล้านบาทขึ้นไป ก็เพราะว่าดอกเบี้ยเงินฝากนั้นจะเสียภาษีด้วย แต่หากเรามีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป รวมกันแล้วไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ส่วนที่เกิน 30,000 บาท ก็ยังต้องเสียภาษีในอัตรา 15% ทำให้ดอกเบี้ยที่จะได้รับจริงไม่ถึง 60,000 บาทนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น “เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี” ไว้อยู่แล้ว เราจึงสามารถฝากเงินได้จนถึงเกณฑ์เงินต้นสูงสุดที่จะไม่ทำให้ดอกเบี้ยต้องเสียภาษีนั่นเอง

2. ซื้อสลากออมสินและสลาก ธ.ก.ส.

เงินออมในรูปแบบนี้คล้ายกับการฝากประจำ เพราะมีกำหนดระยะฝากแน่นอน เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และจะได้รับดอกเบี้ยแบบเดียวกับการฝากเงิน โดยที่ดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมากนัก (ประมาณ 1.5 – 1.75% ต่อปี) แต่ก็น่าสนใจสำหรับคนที่หวังว่าจะ “โชคดี” เพราะว่าจะได้ลุ้นรางวัลทุกเดือนเป็นของแถมและไม่ต้องเสียภาษี ถ้าโชคเข้าข้างก็มีสิทธิถูกรางวัลเลขท้ายคล้ายกับถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล และถ้าโชคดีสุดๆ ก็มีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ ที่แม้ว่าโอกาสดวงดีจะมีอยู่น้อยมาก แต่การเสี่ยงดวงด้วยสลากออมสิน กับ สลาก ธ.ก.ส. น่าจะดีกว่าไปเสี่ยงดวงในแบบอื่นๆ เพราะอย่างน้อย “เงินต้น” ของเราก็ไม่ได้หายไปไหน แถมเผลอๆ อาจเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ได้ลุ้นสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในช่วงวัยเดียวกันก็ได้

3. ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้

เมื่อเรานำเงินไปซื้อตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล (รัฐบาลเป็นผู้ออก) หรือหุ้นกู้ (บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก) เราจะกลายเป็นเจ้าหนี้และจะได้รับดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน เพราะฉะนั้นการลงทุนในตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ตามอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ประมาณ 3 - 5% ต่อปี) จึงเหมาะกับคนที่ไม่ค่อยชอบความเสี่ยง และอยากได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก เพื่อให้เงินออมได้มีโอกาสเติบโตบ้าง


เช่นเดียวกับการฝากธนาคาร เมื่อได้รับดอกเบี้ยหรือได้กำไรจากการขายตราสารหนี้ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ยกเว้น ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม


4. ลงทุนในกองทุนรวม

เป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับคนวัยเกษียณ เพราะเราสามารถลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ได้หลายตัวพร้อมๆ กัน ตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน ทำให้โดยรวมแล้วจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีเลยทีเดียว แถมในปัจจุบันก็มีกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับคนวัยเกษียณโดยเฉพาะ ออกขายแก่ประชาชนมากขึ้นแล้ว


นอกจากนี้ เรายังเบาใจได้ว่า กองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนซึ่งถือว่าเป็น “มืออาชีพ” ด้านการลงทุนมาคอยศึกษาให้ว่า หุ้นตัวไหนดี ตราสารหนี้อะไรที่น่าสนใจ คอยติดตามสถานการณ์ลงทุนให้ และคอยซื้อขายเพื่อทำกำไรเมื่อมีจังหวะดี แถมถ้าเราได้รับกำไรจากการขายกองทุนรวมก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วย แต่กรณีที่ได้เงินปันผลก็ยังต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% นะ

5. ลงทุนในหุ้น

ตลาดหุ้นยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่วัยเกษียณยังสามารถลงทุนได้ หากมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่มากเกินไป เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหากลงทุนในระยะยาว และแม้จะมีหุ้นหลากหลายประเภทที่น่าสนใจ แต่เราก็ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มั่นคง ราคาไม่เปลี่ยนแปลงแบบหวือหวา เพราะอาจทำให้เงินก้อนสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณของเราลดน้อยลง


เช่นเดียวกับกองทุนรวม กำไรจากการขายหุ้นจะได้รับยกเว้นภาษี แต่เงินปันผลจะต้องเสียภาษี โดยเรามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ก็คือ

 

1. ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และเลือกไม่นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้
2. นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ โดยได้รับสิทธิใช้ “เครดิตภาษีเงินปันผล”


เมื่อรู้จักทางเลือกการลงทุนประเภทต่างๆ แล้ว วัยเก๋าอย่างเราก็อย่าพึ่ง “ใจร้อน” เพราะการลงทุนที่ดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จ มันต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ด้วย “การบริหารพอร์ตการลงทุน” หรือการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนโดยรวมด้วยนั่นเอง


สำหรับใครที่สนใจอยากทำความเข้าใจทางเลือกลงทุนต่างๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน และอยากรู้เทคนิคบริหารเงินหลังเกษียณให้พอใช้ไปตลอดชีวิต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: