รถยนต์ไฟฟ้า : แนวโน้ม แรงผลักดัน และโอกาสการลงทุน

โดย กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
3 Min Read
21 พฤษภาคม 2564
26.153k views
Inv_รถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้ม แรงผลักดัน และโอกาสการลงทุน_Thumbnail
Highlights
  • ในปี 2020 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 41% และมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกรวมกันถึง 145 ล้านคัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านคัน

  • ปัจจัยที่ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ความต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ความต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และความคุ้มค่าในการใช้งาน เป็นต้น

  • กลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่อยู่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

แม้ในปีที่ 2020 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกลดลงถึง 6% แต่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้ากลับสวนทางกัน รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 41% จากปี 2019 และมียอดขายทั่วโลกประมาณ 3 ล้านคันในปีที่ผ่านมา ทำให้ ณ สิ้นปี 2020 มีรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกแล้วกว่า 10 ล้านคัน

ขณะที่แนวโน้มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาสแรกของปี 2021 ยังสดใส โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากยอดขายในประเทศจีนประมาณ 500,000 คัน และในยุโรปประมาณ 450,000 คัน รวมถึงยอดขายในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020

นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานสากล หรือ International Energy Agency (EIA) ยังได้ออกมาประมาณการณ์อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าผ่าน Global EV Outlook 2021 โดยเชื่อว่า ปลายทศวรรษนี้ ในปี 2030 จะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกรวมกัน 145 ล้านคัน ขณะที่ BloombergNEF คาดว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2030 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าถึง 28% และสูงถึง 58% ในปี 2040

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้ราคารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ในปัจจุบันจะยังสูงกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน (เครื่องยนต์สันดาป) แต่แนวโน้มของความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือความพยายามในการลดการปล่อยมลภาวะ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าและมีการปล่อยมลภาวะน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป
  2. การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) โดยโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้ายังเหมาะสมกับการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซนเซอร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบช่วยขับขี่ (Advanced Driver Assistance System : ADAS) ที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ในอนาคต ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีบริษัทที่มีศักยภาพ และมีอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ที่มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติได้มากกว่าประเทศอื่น
  3. เป้าหมายทางยุทธ์ศาสตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมต้นน้ำเกี่ยวกับยานยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งการกระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่งเริ่มเติบโตและยังไม่มีผู้ชนะ เป็นการตัดสินใจทางยุทธ์ศาสตร์ที่ดีกว่าการพยายามเข้าไปแข่งขันในเทคโนโลยีสันดาปภายใน ซึ่งบริษัทในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีความได้เปรียบมากกว่า
  4. เหตุผลด้านเศรษฐกิจและที่มาของแหล่งพลังงาน ปัจจุบันยุโรปสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานทดแทนมากกว่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลแล้ว ดังนั้น การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าและลดการใช้รถยนต์สันดาปภายใน เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าจากนอกภูมิภาค จึงเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า
  5. เหตุผลทางด้านความคุ้มค่าในการใช้งาน แม้การลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในราคาสูงกว่า แต่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า ทำให้การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถบัส รถขนส่งสินค้า แท็กซี่ และบริการรถเช่าระยะสั้นที่มีการใช้งานสูง มีแนวโน้มได้ประโยชน์หรือคืนทุนจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้มีหลายโมเดลออกมาให้เลือกซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนด้านแบตเตอรี่ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก แต่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีพัฒนาการที่ล่าช้าด้วยหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การตอบรับที่ล่าช้าจากผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญในไทย เนื่องจากเป็นการสร้างภาระการลงทุนใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่คืนทุนจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากรีบร้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ หรือพยายามผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีการใช้เทคโนโลยีสันดาปภายในรวมอยู่ด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด เป็นต้น
  2. ผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ในไทย เนื่องจากจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยลง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME จำนวนมาก ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ที่ไม่มีศักยภาพที่จะปรับตัว
  3. ความลักลั่นด้านนโยบาย แม้อัตราภาษีสรรพสามิตจะถูกปรับลดลงให้สอดคล้องกับระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังสูงกว่าภาษีสรรพสามิตของรถยนต์อีโคคาร์และกระบะ 1 ตัน ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า (ทั้งไฮบริดและแบตเตอรี่) ไม่ลดลงมากพอที่จะจูงใจผู้บริโภค
  4. รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีนสร้างผลกระทบทั้งทางบวกและลบ จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในปี พ.ศ. 2548 (ก่อนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยม) มีการระบุให้ยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกและนำเข้ารถยนต์อื่น ๆ ซึ่งมีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) นำเข้าทั้งคันจากจีน ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (จากอัตราปกติที่ 80%) ในมุมบวกราคาจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน จะมีราคาที่จูงใจและถูกกว่ารถยนต์สันดาปภายในที่ผลิตในประเทศหลายรุ่น จึงมีโอกาสทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยม แต่ในมุมลบ สิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน มีโอกาสกลายเป็นผู้ครองตลาด เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดได้ก่อน (First Mover Benefit)
Inv_รถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้ม แรงผลักดัน และโอกาสการลงทุน_01

โอกาสในการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในภาวะที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสันดาปภายใน ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีผลกระทบจากเทคโนโลยีเชื้อเพลิง อาทิ หลอดไฟ โคมไฟ เบาะรถยนต์ และระบบปรับอากาศ เป็นต้น แม้ในทางเทคนิคจะไม่มีความเสี่ยงจากเทคโนโลยี แต่แนวโน้มการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าทั้งคันจากประเทศจีน ทำให้มีความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ระยะกลางจากการเคลื่อนย้ายของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากไทยไปยังต่างประเทศได้

 

สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่อยู่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นวงจรพิมพ์ เซนเซอร์ เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบประจุไฟฟ้า ฯลฯ อุตสาหกรรมพลังงาน ที่ลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ สถานีประจุไฟฟ้า และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากมีต้นทุนที่ลดลงจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อาจส่งผลบวกระยะสั้นต่อผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถบัส รถแท็กซี่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

 

รถยนต์ไฟฟ้าคือการปูทางไปสู่ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

โครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะระบบช่วยขับขี่ (ADAS) ที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ในอนาคต ซึ่งแรงผลักดันในการพัฒนาไม่ใช่เพียงเรื่องของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากความประมาทของมนุษย์ (Human Error) เป็นหลัก ดังนั้น เราจึงอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี ราคา และความปลอดภัยในการขับขี่กำลังเดินทางมาบรรจบกัน

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเซนเซอร์ หรือระบบตรวจจับต่าง ๆ ที่ใช้ในระบบช่วยขับขี่ (ADAS) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เกือบทั้งหมดอยู่ในต่างประเทศ และมีผู้ประกอบการชั้นนำเพียงไม่กี่ราย ดังนั้น หากนักลงทุนมองการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ที่จะเป็นพัฒนาการในช่วงต่อไป การเตรียมศึกษาข้อมูลและการกระจายการลงทุนบางส่วนไปยังต่างประเทศ ก็จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

 

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นด้วยตนเองผ่านโปรแกรม SETSMART พร้อมเจาะลึกลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการวิเคราะห์หุ้นในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening & Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: