ทำความเข้าใจ Call - Put ก่อนลงทุน DW

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
20 พฤษภาคม 2564
28.563k views
Inv_ทำความเข้าใจ Call - Put ก่อนลงทุน DW_Thumbnail
Highlights
  • DW เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถลงทุนได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่า และสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า ทั้งตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลง แถมยังสามารถใช้บริหารพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย

  • DW มี 2 ประเภทตามสิทธิ คือ Call DW เป็นสิทธิในการซื้อหุ้นอ้างอิง และ Put DW เป็นสิทธิในการขายหุ้นอ้างอิง

  • สิทธิแต่ละประเภทสามารถแบ่งตามเงื่อนไขเรื่องเวลาการใช้สิทธิด้วย ดังนั้น ก่อนลงทุน นักลงทุนควรทำความเข้าใจ Call DW และ Put DW รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ อย่างถี่ถ้วน เนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

หลายคนคงพอทราบมาบ้างว่า เราสามารถซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant : DW) บนกระดานหุ้นได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง โดยราคาของ DW จะวิ่งขึ้นลงตามราคาหุ้นหรือดัชนีอ้างอิง แต่ก่อนจะเข้าไปลงทุนต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นกันก่อนเรื่อง ประเภทของสิทธิ ว่าเป็น “สิทธิซื้อ” (Call DW) หรือ “สิทธิขาย” (Put DW) ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่า จะซื้อในฝั่งซื้อ (Call) หรือ ฝั่งขาย (Put) เพื่อใช้สิทธิซื้อหรือขายหุ้นอ้างอิงได้ในราคาและเวลาที่กำหนดไว้

 

จะเห็นได้ว่า Call DW และ Put DW มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ Call DW ใช้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงตลาดขาขึ้น ส่วน Put DW ใช้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนหรือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนในช่วงตลาดขาลงได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องรู้ว่า ตัวเองซื้อ Call DW หรือ Put DW อยู่

 

วิธีการสังเกตง่าย ๆ ก็คือ ให้ดูที่ชื่อย่อ DW ตัวอักษรที่ 7 ในสัญลักษณ์ระบบ 12 หลัก ซึ่งใช้แสดงประเภทของ DW ตัวนี้ โดยถ้าเป็น Call DW ก็จะเป็นตัวอักษร C” แต่ถ้าเป็น Put DW ก็จะเป็นตัวอักษร P”

Inv_ทำความเข้าใจ Call - Put ก่อนลงทุน DW_01

ส่วนในแง่ของความนิยมนั้น Call DW มักจะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากความเชื่อและความคุ้นเคยของนักลงทุนว่าดัชนีหุ้นหรือราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น การซื้อ Call DW ก็เหมือนการซื้อขายวอร์แรนต์ปกติและใช้ซื้อขายในช่วงตลาดขาขึ้นเหมือนกับหุ้นทั่วไป

 

นอกจากนี้ นักลงทุนก็ต้องรู้ราคาใช้สิทธิ ซึ่งเป็นราคาที่นักลงทุนมีสิทธิซื้อหรือขายหุ้นอ้างอิง ส่วนเงื่อนไขว่าจะใช้สิทธิได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นอ้างอิงกับราคาใช้สิทธิ (Exercise Price หรือ Strike Price) และขึ้นกับเงื่อนไขเรื่องเวลาในการใช้สิทธิด้วย เช่น

  • ถ้าสามารถใช้สิทธิได้ทุกวันจนถึงวันครบกำหนดอายุ เรียกว่า สิทธิแบบอเมริกัน (American Options)
  • ถ้าการใช้สิทธิมีการอ้างอิงกับราคาเฉลี่ยของหุ้น เรียกว่า สิทธิแบบเอเชีย (Asian Options)
  • ถ้าสิทธิแบบเอเชียรวมกับแบบอเมริกัน เรียกว่า สิทธิแบบฮาวาย (Hawaiian Options)
  • ถ้าสามารถใช้สิทธิได้มากกว่าหนึ่งครั้งแต่ไม่ทุกวัน เรียกว่า สิทธิแบบเบอร์มิวดา (Bermudan Options)

 

ด้วยเหตุนี้ การใช้สิทธิซื้อตาม Call DW หรือการใช้สิทธิขายตาม Put DW อาจจะทำได้เพียงวันเดียวหรือมากกว่าหนึ่งวันก็ได้ จึงมีการเรียกชื่อเฉพาะตามเงื่อนไขเรื่องเวลาของการใช้สิทธิ ซึ่งที่ได้รับความนิยมมีเพียง 2 ประเภทดังนี้

  • ถ้า DW กำหนดให้สามารถใช้สิทธิได้ครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดอายุ เรียกว่า สิทธิแบบยุโรป
  • ถ้า DW กำหนดให้สามารถใช้สิทธิได้ทุกวันจนถึงวันครบกำหนดอายุ เรียกว่า สิทธิแบบอเมริกัน
Inv_ทำความเข้าใจ Call - Put ก่อนลงทุน DW_02

นอกจาก Call DW และ Put DW แล้ว ก่อนซื้อหรือขาย DW นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขและลักษณะพิเศษของ DW ที่ผู้ออกแต่ละรายได้กำหนดไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

สำหรับมือใหม่ที่อยากหัดเทรด DW โดยเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานการลงทุนใน DW กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ตลอดจนวิธีการเลือกลงทุน และกลยุทธ์การลงทุนใน DW สามารถศึกษาข้อมูลได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ หรือสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DW ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: