ทำความรู้จัก ESG Bond

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
28 กันยายน 2565
7.301k views
Inv_ทำความรู้จัก ESG Bond_Thumbnail
Highlights

ESG Bond คล้ายกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป แต่ต่างกันเพียงวัตถุประสงค์ของการระดมทุนที่มุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นการเฉพาะ

จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลายประเทศต่างตระหนักและมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดเป็นข้อตกลงระดับโลก อย่างเช่น ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างเร่งลงทุนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ทำให้มีความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาล 

 

หนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจ คือ การออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือ ESG Bond (Environmental, Social and Governance) ซึ่งในประเทศไทยก็เห็นการเติบโตอย่างชัดเจน มีการออกทั้งจากภาครัฐและเอกชน

 

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้แบ่งประเภท ESG Bond ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
  2. ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond)
  3. ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
  4. ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)

 

โดยนับตั้งแต่มีการออก ESG Bond ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2562 มูลค่าการออก ESG Bond ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากยอดการออกที่ 29,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาที่ 173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ขยายตัวเกือบ 6 เท่าในช่วง 3 ปี รวมทั้งผู้ออกก็เพิ่มจำนวนขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน และมีการนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์กับสังคมภายใต้ขอบเขตการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทอย่างหลากหลาย

 

ณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย อธิบายว่า ESG Bond คือ ตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่แทบจะเหมือนกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป แต่ต่างกันเพียงวัตถุประสงค์ของการระดมทุน โดย ESG Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ระดมทุนต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีบรรษัทภิบาลที่ดี

 

ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารต้องการระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนหรือชำระคืนหนี้สินเดิม (Re-financing) ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน สร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด การเกษตรที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) จะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคม เช่น โครงการเพื่อลดปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร การเข้าถึงสาธารณูปโภค สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น

 

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) คือ ส่วนผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond ซึ่งมุ่งหวังทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมควบคู่กันไป

 

ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) เป็นตราสารหนี้รูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการให้ผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) จะขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของตัวชี้วัดหรือเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

ข้อดีหลัก ๆ ของ ESG Bond ในมุมของผู้ออกตราสาร คือ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เพราะเป็นการสื่อสารที่เด่นชัดว่าองค์กรให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนอย่างจริงจัง อีกทั้งยังช่วยดึงดูดและกระจายฐานนักลงทุนสู่กลุ่มใหม่ ๆ และอาจส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ขณะที่ในมุมของนักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน” ณัฐพร กล่าว

 

นอกจากนี้ บทความจาก Harvard Business Review ซึ่งอ้างอิงงานวิจัยของ Boston University Questrom School of Business ชี้ว่าจากการศึกษาบริษัทที่มีการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ทั่วโลกกว่า 217 แห่งในช่วงปี 2556 – 2560 พบว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ปรับขึ้น 0.67% ในช่วงที่มีการประกาศว่าจะออก Green Bond เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ส่วนหนึ่งเพราะต้องมีผู้เชี่ยวชาญภายนอกมา Review การออก Green Bond เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี ผู้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้อาจเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากการมีขั้นตอนการสอบทาน และการรายงานต่าง ๆ ที่เข้มข้นมากกว่าการออกตราสารหนี้แบบปกติทั่วไป

Inv_ทำความรู้จัก ESG Bond_01

จากตัวอย่างของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน พบว่าได้นำเงินทุนไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างหลากหลายและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือทั้งผู้ออกและนักลงทุน เพื่อให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่กับผู้คนต่อไปอย่างยั่งยืน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน กองทุนรวม และตราสารหนี้ ที่มีให้ซื้อขายในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน สามารถดูข้อมูลได้ที่ e-Learning หลักสูตร “รู้จัก ESG Products สักนิด ก่อนคิดลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: