ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น
หุ้นในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีความหลากหลายค่อนข้างมากตั้งแต่กิจการที่ผลิตเครื่องจักรหนักในโรงงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรสำหรับการเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากโลหะ ยานยนต์ ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ซึ่งกิจการในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินมากนัก แต่ในความเป็นจริงปัจจัยด้าน ESG สามารถมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกิจการได้ค่อนข้างมาก
การตระหนักถึงความเสี่ยงด้าน ESG ที่ต่ำนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักลงทุน แต่ผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมก็มักจะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงด้าน ESG มากเท่าที่ควร จึงทำให้การสำรวจของ S&P Corporate Sustainability Assessment ในปี ค.ศ. 2021 พบว่าร้อยละ 70 ของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) ความเสี่ยงด้าน ESG ต่อการดำเนินของบริษัท
อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจของบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของกระบวนการผลิต การบริหารจัดการบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายต่อลูกค้าให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมักมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก ปัจจัยด้านสังคมที่เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน การดูแลความปลอดภัยและสุขภาวะของพนักงาน ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ความซื่อสัตย์ต่อคุณภาพและคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายต่อลูกค้า และการป้องกันเหตุคอรัปชั่น จึงมีส่วนสำคัญที่สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินได้หากเหตุการณ์ด้านลบในประเด็นเหล่านั้นเกิดขึ้น
ดังนั้นปัจจัยด้าน ESG ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสามารถสรุปได้ดังตาราง 1 ซึ่งนักลงทุนจะต้องหาข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม ซึ่งปัจจัย เหล่านี้สุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อผลดำเนินงานด้านการเงินของกิจการ
ตาราง 1 ปัจจัยด้าน ESG ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) |
|
ปัจจัยด้านสังคม (Social) |
|
ปัจจัยด้านธรรมาภิบาล (Governance) |
|
กลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญที่นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประเมินเบื้องต้นว่ากิจการดังกล่าวมีการวางแผนรับมือความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในอนาคตได้ดีเพียงใด สามารถสรุปได้ดังนี้
Circular Economy เป็นกลยุทธ์ที่กิจการจะต้องประเมินวิธีการในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต การใช้พลังงาน และการบำบัดของเสีย ที่สามารถนำมาสู่การมีกระบวนการผลิตที่มีการหมุนเวียนนำวัตถุดิบหรือทรัพยากรต่าง ๆ กลับมาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิตของกิจการ ซึ่งจะทำให้กิจการสามารถเพิ่มยอดขาย เพิ่มอัตราการทำกำไร และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิตผ่านการจัดหาวัตถุดิบ และคิดค้นวัตถุดิบใหม่ในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ในขณะที่วัตถุดิบใหม่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาผลิตใหม่ได้
ในปัจจุบันได้มีการยอมรับเป็นวงกว้างแล้วว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จึงทำให้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐทั่วโลกมุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งหากบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตจะนำมาสู่ค่าใช้จ่ายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ค่าปรับจากการปล่อยก๊าซเกินกำหนด หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Credit) เพื่อมาหักล้างกับปริมาณก๊าซคาร์บอนที่กิจการปล่อย เป็นต้น
นอกจากนี้หากกิจการไม่ปรับตัวจะนำมาสู่ความเสี่ยงที่ลูกค้ายกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของบริษัทในวงกว้าง และนำมาสู่เหตุการณ์ที่เป็นกระแสสังคมจนผู้บริโภครณรงค์ยุติการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้กิจการได้รับผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายของกิจการ
พัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้บริษัทต่าง ๆ หันมาดำเนินกลยุทธ์ที่ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง หรือที่เรียกว่า Customer-Centric มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สินค้าจะต้องมีความจำเพาะเจาะจงต่อความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย ดังนั้นแนวคิดการผลิตสินค้ามาตรฐานจำนวนมากเหมือนในอดีตที่เรียกว่า Mass Production จึงเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย
ดังนั้นบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาและวิจัย (R&D) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจนสามารถผลิตสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงแล้วมีกำไร จะกลายเป็นความได้เปรียบด้านการแข่งขันและทำให้บริษัทดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตได้
นอกจากนี้สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการใช้สินค้าเหล่านี้ในกระบวนการผลิตของบริษัทผู้ใช้งานค่อนข้างมาก บริษัทจึงต้องมีการคิดค้นแนวทางในการเพิ่มความปลอดภัยของสินค้า โดยประเด็นความปลอดภัยจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่ยอดขายของสินค้าที่สูงขึ้นได้ในอนาคต
ในอดีตบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานและสวัสดิการมากนัก เพราะบริษัทต่าง ๆ มักจะมีอำนาจต่อรองสูงกับคนงานในโรงงาน และคนงานเหล่านั้นมักจะไม่มีทางเลือกในการเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ในอดีตไม่ได้มีสื่อสังคมออนไลน์แบบในปัจจุบัน จึงทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงงานไม่สามารถแพร่กระจายให้ผู้บริโภคทั่วไปรับทราบ
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนไป โดยในปัจจุบันแรงงานมีทางเลือกในการเลือกนายจ้างมากยิ่งขึ้น ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของแรงงานสูงขึ้น และเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้บริษัทไม่สามารถปิดบังเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมได้อีกต่อไป ดังนั้นนักลงทุนจึงควรวิเคราะห์นโยบายด้านสวัสดิภาพของแรงงานอย่างละเอียดเพื่อประเมินว่ากิจการมีการดำเนินนโยบายที่สามารถลดความเสี่ยงไม่ให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักจากปัญหาของแรงงานได้มากน้อยเพียงใด
ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่มีความผันผวนสูง และปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันอยู่เสมอ เช่นการเกิดขึ้นของโรคระบาด COVID-19 หรือการเกิดขึ้นของสงคราม เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้นำมาสู่ความจำเป็นที่บริษัทจะต้องมีแผนสำรองในการสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น แผนสำรองดังกล่าวมักจะเรียกว่า Business Continuity Plan (BCP) ซึ่งนักลงทุนจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัทมีการกำหนดแผนดังกล่าวอย่างไร ภายใต้การจำลองสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่สามารถเกิดขึ้นได้
หากบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีการกำหนดกลยุทธ์ข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรม นักลงทุนจะสามารถประเมินผลกระทบเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัทได้ดังแสดงในตาราง 2 ผลการดำเนินงานเชิงบวกในมิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการประเมินศักยภาพการเติบโตของบริษัทในอนาคต
ตาราง 2 ผลกระทบด้านการเงินจากการดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG
กลยุทธ์ | ผลกระทบทางบวกด้านการเงิน |
1. การมุ่งเป้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) |
|
2. การมุ่งเป้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Economy) |
|
3. การมุ่งไปสร้างคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า |
|
4. การให้ความสำคัญกับสวัสดิการและความปลอดภัยของพนักงาน |
|
5. การให้ความสำคัญต่อแผนสำรองในภาวะวิกฤติ |
|
ตัวอย่างกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยด้าน ESG กับบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม คือ การเกิดขึ้นของโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนชื่อ Industrial Deep Decarbonization Initiative (IDDI) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ กับ UN Industrial Development Organization (UNIDO) เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่มาจากกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ดังนั้นบริษัทผลิตโลหะและซีเมนต์ ที่มีกลยุทธ์ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
เพื่อให้นักลงทุนสามารถเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูล ESG ของบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมได้ง่าย และมีแหล่งข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เบื้องต้น นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก https://www.setsustainability.com/page/thsi-thailand-sustainability-investment ซึ่งเป็นการจัดทำโดยศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่
Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี