Rebalance กับ Reallocation ต้องใช้เมื่อไหร่

โดย อรพรรณ บัวประชุม, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
17 พฤษภาคม 2564
13.198k views
PF_Rebalance กับ Reallocation ต้องใช้เมื่อไหร่_Thumbnail
Highlights
  • Rebalance เป็นการควบคุมความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในขอบเขตที่รับได้ ยิ่งเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยิ่งต้องดูแลใส่ใจสม่ำเสมอ เพราะเป็นเงินก้อนที่เตรียมไว้ใช้เมื่อเกษียณ อย่าให้หดหายอย่างเด็ดขาด

  • Reallocation เหมาะกับผู้ที่มีพอร์ตลงทุนใกล้หรือบรรลุเป้าหมายเกษียณแล้ว โดยไม่แตะเงินสะสมก้อนเก่าเลย แต่จะแบ่งเงินสะสมเข้าใหม่เล็ก ๆ น้อย ๆ พอหอมปากหอมคอเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง

ถ้าพูดถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มนุษย์เงินเดือนคงรู้จักกันดี แต่มีบางคนที่ไม่ได้ติดตามว่าในแต่ละเดือนตัวเองได้ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเท่าไหร่ หรือลืมชนิดที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองได้เลือกนโยบายการลงทุนอะไรไว้ ซึ่งถ้าวันเวลาผ่านไปและผลตอบแทนยังคงเป็นบวกต่อเนื่องก็คงไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าผลตอบแทนจากบวกเป็นติดลบคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ต้องเข้าไปจัดการดูแลเพื่อทำให้เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพงอกเงยขึ้นตามที่ต้องการ

 

1. Rebalance

Rebalance คือ การปรับสมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนตามแผนการลงทุนเดิมตั้งแต่ต้น เช่น จากเดิมลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมทองคำ โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนประมาณ 80% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ขณะที่อีก 20% ที่เหลือจะอยู่ในกองทุนรวมตราสารหนี้

 

เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจขยายตัว บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นคึกคัก ส่งผลให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการลงทุนเติบโตขึ้น ผลที่ตามมา คือ สัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ปรับลดลง เช่น เหลือ 5% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเข้าไปปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุน ด้วยการขายสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นแล้วนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ที่ลดลง เช่น ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ให้อยู่ที่ 20% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนกลับไปใกล้เคียงดังเดิม

PF_Rebalance กับ Reallocation ต้องใช้เมื่อไหร่_01

จากตัวอย่าง พบว่าในปีที่ 1 ที่เริ่มลงทุน ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมทั้ง 5 กองทุน ด้วยสัดส่วนกองทุนละ 20% เมื่อเวลาเปลี่ยนไปสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปตามมูลค่าปัจจุบัน ดังนั้น จึงควรเข้าไป Rebalance เพื่อให้เงินลงทุนอยู่ในสัดส่วนที่ต้องการ จากนั้นก็ต้องติดตามดูว่าสัดส่วนการลงทุนยังเหมือนเดิมหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การยอมรับความเสี่ยงก็ควรลดลงตามไปด้วย (สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็จะลดลง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ) ดังนั้น พอร์ตการลงทุนโดยรวมก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

 

จากตัวอย่าง พบว่าในปีที่ 4 จะลดการลงทุนในกองทุนรวมทองคำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

 

2. Reallocation

วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีการวางแผนเกษียณมาแล้วเป็นอย่างดี และใกล้บรรลุเป้าหมายเกษียณหรือยังขาดอีกนิดหน่อยแต่ยังชอบการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ตัวเองชอบ แต่ใช้เฉพาะเงินสะสมก้อนเล็ก ๆ ทยอยสะสมใหม่ทุก ๆ เดือน ส่วนเงินก้อนใหญ่ที่สะสมมาแล้วก็ปรับสัดส่วนการลงทุนไปไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้เงินก้อนใหญ่ที่ยังลงทุนอยู่ผันผวนน้อยที่สุด โดยวิธีนี้จะทำให้เงินก้อนใหญ่ยังคงไว้ ส่วนเงินก้อนเล็กก็ยังสนุกกับการลงทุน

PF_Rebalance กับ Reallocation ต้องใช้เมื่อไหร่_02

จากตัวอย่าง เมื่อใกล้บรรลุเป้าหมายหรือบรรลุเป้าหมายแล้ว เงินลงทุนก้อนใหญ่ก็สับเปลี่ยนเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่วนเงินสะสมใหม่ที่ยังสะสมอยู่ทุกเดือนก็สะสมในกองทุนรวมหุ้นไทย กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมทองคำ โดยสัดส่วนการลงทุนจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน

 

เริ่มทำเมื่อไหร่

การทำ Rebalance ควรทำเมื่อสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปจากที่ตั้งใจไว้และควรทำทุก ๆ 1 - 2 ปี โดยเมื่ออายุมากขึ้นความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงเริ่มลดลงก็ควรใช้การ Rebalance ช่วยปรับสัดส่วนการลงทุน ส่วนการทำ Reallocation จะช่วยคงนโยบายการลงทุนของเงินลงทุนก้อนใหญ่ไว้และปรับสัดส่วน รวมถึงนโยบายเฉพาะสำหรับเงินสะสมก้อนเล็กทุกเดือน เพื่อให้เงินก้อนใหญ่ไม่ผันผวนไปจากเดิมมากนัก พร้อมโอกาสในการได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจากเงินลงทุนก้อนเล็ก ๆ ของเงินสะสมรายเดือน

 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าทิ้งขว้างเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อุตส่าห์อดออมและลงทุนทุกเดือนมาอย่างยาวนาน ควรใส่ใจ ตั้งเป้าหมาย ปรับสัดส่วนเพื่อให้เงินลงทุนเติบโตได้อย่างตั้งใจ ที่สำคัญควรแบ่งเงินเข้าไปสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สูงสุดตามที่นายจ้างกำหนดไว้ อย่าลืมยิ่งลงทุนเร็ว เงินยิ่งมีโอกาสเติบโตได้เร็วขึ้น แถมยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการเกษียณได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

 

จะเห็นว่า... ในการวางแผนเกษียณ เราต้องเก็บเงินให้ได้หลายล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับบางคน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณก้อนโตสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพราะนอกจากเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนทุกเดือนแล้ว ยังมีเงินสมทบที่ได้รับจากนายจ้างฟรี ๆ ซึ่งเป็นเหมือนสวัสดิการที่บริษัทมอบให้กับลูกจ้าง ดังนั้น อย่าละเลยที่จะดูแลเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตัวเองให้ดี ซึ่งจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายเกษียณได้อย่างมีความสุข

 

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นแหล่งเงินออมชั้นดีที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนจะสามารถเก็บออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน แถมยังมีนายจ้างช่วยใส่เงินสมทบให้อีกแรงหนึ่งด้วย แต่เงินออมในกองทุนฯ จะช่วยสร้างสุขในวัยเกษียณได้มากน้อยแค่ไหน เราลองมาสำรวจเงินออมก้อนนี้กันด้วยโปรแกรม วางแผนเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หากสนใจเรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออมและวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: