สแกนกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยและต่างประเทศ

โดย ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
3 Min Read
21 กันยายน 2565
2.327k views
Inv_สแกนกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยและต่างประเทศ_Thumbnail
Highlights

หากกำลังมองหาเมกะเทรนด์ที่เป็นการลงทุนแห่งอนาคต กลุ่มกองทุนรวมหุ้นยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์การลงทุนได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญและตระหนักถึงผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้นในทุก ๆ มิติทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่กับการดูผลตอบแทนทางการเงิน

หากย้อนกลับไปดูผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นยั่งยืน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กองทุนรวมหุ้น ESG ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสร้างผลงานอย่างโดดเด่นด้วยตัวเลขสองหลัก โดยหากดูจากดัชนี Morningstar Global Markets Sustainability Index ปี 2562 – 2564 พบว่าให้ผลตอบแทนระดับ 27.94%, 16.30% และ 20.77% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามรัสเซียกับยูเครนปะทุและยืดเยื้อ แนวโน้มเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น กระทั่งล่าสุดมีการประเมินโดย Nomura ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ผลตอบแทนและเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมหุ้นยั่งยืนปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่หากย้อนกลับไปในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 กองทุนหุ้นยั่งยืนทั่วโลก มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 9% จากไตรมาส 3 ของปีเดียวกัน โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าไตรมาส 3 ของปีเดียวกัน ประมาณ 12%

 

จากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอนและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง กดดันให้บรรยากาศการลงทุนผันผวนตามไปด้วย เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นยั่งยืน สังเกตจากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 กองทุนหุ้นยั่งยืนทั่วโลก มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมลดลงเหลือ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยดัชนี Morningstar Global Markets Sustainability Index ให้ผลตอบแทนติดลบ 15.5% ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565

 

สำหรับภาพรวมของกองทุนหุ้นยั่งยืนในประเทศไทย พบว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 5.40 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.4% จากปี 2564 และมีเงินลงทุนไหลออกสุทธิประมาณ 900 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนกองทุนหุ้นยั่งยืน เกิดจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทน โดยเฉพาะหุ้นที่เน้นธีมการลงทุน เช่น กองทุนหุ้นยั่งยืน ที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นเติบโต ดังนั้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาจยังไม่เอื้อต่อการเติบโต ทำให้ธุรกิจลักษณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบทางเศรษฐกิจตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจากกองทุนรวมหุ้นยั่งยืนโดยรวมอาจดูไม่ดีนักในช่วงนี้ แต่ก็อาจเป็นจังหวะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว ส่วนวิธีการลงทุนนั้นก็ไม่แตกต่างจากกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ เช่น ต้องศึกษานโยบายการลงทุน ผลการดำเนินงาน ค่าธรรมเนียม ผู้จัดการกองทุน ตลอดจนความเสี่ยง เป็นต้น

 

แต่หากนักลงทุนยังรู้สึกสับสนในวิธีการลงทุน อาจใช้ตัวช่วยที่เรียกว่า โครงสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปัจจัยและวิธีการลงทุนอย่างยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยความหมายของการลงทุนอย่างยั่งยืน คือ การคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

 

แรงจูงใจ (Investor Motivations)

แรงจูงใจและสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน ประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจผลจากการกระทำที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น ผู้บริโภคอาจเลือกสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนสินค้าที่ใช้โฟมมากขึ้น และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจการลงทุนได้เช่นกัน

 

วิธีการลงทุน (Investment Approaches)

วิธีการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบไปจนถึงการมุ่งไปที่ผลกระทบเชิงบวก ซึ่งในทางปฏิบัติวิธีการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นมีอยู่ 6 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

  • Apply Exclusions คือ การงดหรือเลี่ยงลงทุนในธุรกิจบางประเภทหรือบริษัทที่มีเหตุการณ์หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ธุรกิจค้าอาวุธ ธุรกิจคาสิโน เป็นต้น
  • Limiting ESG Risk เป็นการนำข้อมูลด้านความยั่งยืน หรือ ESG ไปใช้ในการประเมินบริษัท โดยมักจะเป็นในลักษณะของ ESG Rating ที่เป็นการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG
  • Seeking ESG Opportunities เป็นการนำข้อมูล ESG มาใช้ประเมินว่าบริษัทใดเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรืออาจประเมินว่าบริษัทใดมีพัฒนาการด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
  • Practicing Active Ownership เป็นการสร้างผลบวกด้าน ESG ผ่านการใช้สิทธิความเป็นเจ้าของจากการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งสามารถทำได้โดยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับ ESG การเสนอประเด็นเกี่ยวกับ ESG ในการประชุมผู้ถือหุ้น ไปจนถึงการสนับสนุนประเด็น ESG ในการออกเสียงลงคะแนน
  • Targeting Sustainability Theme คือ การลงทุนในบริษัทที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตระหนักถึงความยั่งยืนในสังคม เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ Renewable Energy หรือ Clean Tech ในขณะที่ประเด็นด้านสังคมจะเป็นการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสถานที่ทำงาน หรือคำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงานในองค์กร
  • Assessing Impact เป็นการนำการประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนผสานกับการคัดเลือกตราสารที่ลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนตราสารหนี้จะลงทุนในหุ้นกู้ที่นำเงินที่ได้จากการออกตราสารไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์และโลก ในขณะที่การลงทุนหุ้นจะลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการ หรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ UNSDG
Inv_สแกนกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยและต่างประเทศ_01

พอร์ตลงทุน (Portfolio)

วิธีการลงทุนทั้ง 6 วิธี อาจเป็นส่วนสนับสนุนในการสร้างพอร์ตลงทุนเพื่อความยั่งยืน เช่น การจำกัดความเสี่ยง ESG (Limiting ESG Risk) หรืออาจเป็นการนำประเด็น ESG มาใช้เป็นเป้าหมายหลักของการลงทุน (Leading Role)

 

ปัจจุบันการลงทุนอาจไม่ใช่เพียงการแสวงหาเพื่อสร้างผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ซึ่งจะช่วยให้มีการพิจารณาความเสี่ยงจากการลงทุนที่รอบด้านมากขึ้น และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นยั่งยืนจะยังเป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ และในอนาคตจะเห็น บลจ.ไทย ออกกองทุนรวมหุ้นยั่งยืนเพื่อให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนมากขึ้น

 

แม้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโตมากขึ้น ดังนั้น อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาและสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน

Inv_สแกนกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยและต่างประเทศ_02
Inv_สแกนกองทุนหุ้นยั่งยืนในไทยและต่างประเทศ_03

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์การลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน กองทุนรวม และตราสารหนี้ ที่มีให้ซื้อขายในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน สามารถดูข้อมูลได้ที่ e-Learning หลักสูตร รู้จัก ESG Products สักนิด ก่อนคิดลงทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: