นับตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบ อีกทั้งมีความผันผวนและความเสี่ยงที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนปรับลดลงหรือถึงขั้นขาดทุน
เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนพยายามหากลยุทธ์การลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทน ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงตลาดหุ้นผันผวน คือ การหาหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เข้ามาเก็บไว้ในพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม
โดยในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ไม่เพียงคัดเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำเข้ามาอยู่ในพอร์ตเท่านั้น แต่ควรเพิ่มน้ำหนักหุ้นประเภทนี้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนให้ต่ำกว่าความผันผวนของตลาดหุ้นโดยรวม
ธีมการลงทุนหุ้นผันผวนต่ำ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำการคัดเลือกหุ้นที่มีค่าความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลา และนำมาทดสอบสร้างเป็นกลุ่มหุ้น ซึ่งหุ้นที่นำมาทดสอบนี้ต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้วของบริษัท, มูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยที่มากพอสมควร, มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และมีการซื้อขายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
โดยในการทดสอบสร้างกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้คัดเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลาแล้ว จะกระจายน้ำหนักการลงทุนด้วยการใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยส่วนกลับของความผันผวน ซึ่งคำนวณจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนรายวันย้อนหลัง 1 ปี ของหุ้นแต่ละตัว โดยจะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำในสัดส่วนที่สูง (แต่จำกัดน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 10% ในทุกรอบที่มีการปรับพอร์ต ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกไตรมาส)
จากการทดสอบ พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักสูงสุดในพอร์ตลงทุน ได้แก่ กลุ่มบริการ พลังงานและสาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันอยู่ประมาณ 70% ของกลุ่มหุ้น ในขณะที่หุ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสูง และกระจายตัวไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
โดยหากมองในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำ (SET Low Vol) เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาด SET 100 Total Return Index (SET 100 TRI) จากกราฟ พบว่าผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำค่อนข้างสม่ำเสมอในแง่ของผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนดัชนีอ้างอิง (Alpha) โดยเป็นบวกถึง 8 ปีจาก 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2553 – 2563) อีกทั้งในปีที่ผลตอบแทนรวมของตลาดติดลบ หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำก็ติดลบน้อยกว่า
นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา พบว่าหุ้นกลุ่มผันผวนต่ำให้ผลตอบแทนรวมใกล้เคียงหรือมากกว่าดัชนี SET 100 TRI เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันค่าความเสี่ยงของผลตอบแทนหรือความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (Standard Deviation : SD) ก็ต่ำกว่าอีกด้วย
เช่น ผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลัง (30 ธันวาคม 2552 – 30 กันยายน 2563) หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำให้ผลตอบแทนรวม 90.89% โดยมีค่าความเสี่ยง (SD) อยู่ที่ 17.41% ขณะที่ดัชนี SET 100 TRI ผลตอบแทนรวม 64.03% มีค่าความเสี่ยง (SD) อยู่ที่ 18.07% หรือบางช่วงที่ผลตอบแทนรวมติดลบ หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำก็ติดลบน้อยกว่าและค่าความเสี่ยง (SD) ก็ต่ำกว่าด้วย
จากการทดสอบในการคัดกรองหุ้นกลุ่มผันผวนต่ำเข้าพอร์ต อาจจะพอชี้ให้เห็นว่าการเน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงหรือตลาดมีโอกาสที่จะเป็นขาลง
สำหรับนักลงทุนที่สนใจอยากค้นหา “หุ้นผันผวนต่ำ” ด้วยตนเอง หรืออยากทดลองใช้ปัจจัยอื่นมาพิจารณาในการสร้างพอร์ตลงทุนตาม Theme การลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น ผลการดำเนินงานของบริษัท มูลค่าของหลักทรัพย์ หรืออัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิก SETSMART มีค่าใช้จ่ายเพียง 250 บาทต่อเดือน โดยมีข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว >> คลิกที่นี่
และสำหรับมือใหม่ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคและวิธีการคัดกรองหุ้นที่น่าสนใจด้วยตนเองผ่านโปรแกรม SETSMART พร้อมเจาะลึกการวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Screening & Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิจัย “Theme การลงทุนในหุ้นความผันผวนต่ำ (SET Low Volatility)” โดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถอ่านบทวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่ >> คลิกที่นี่
โดยบทวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน