อยากเริ่มซื้อกองทุนรวม... ให้เริ่มอ่าน Fund Factsheet

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
11 พฤษภาคม 2564
19.658k views
Inv_อยากเริ่มซื้อกองทุนรวม... ให้เริ่มอ่าน Fund Factsheet
Highlights
  • การซื้อกองทุนรวม ก็เหมือนการซื้อของ เราต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

  • Fund Fact Sheet เป็นเหมือนตัวช่วย ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่สำคัญของกองทุนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถเลือกกองทุนรวมที่ใช่ก่อนตัดสินใจลงทุน

เวลาเราจะซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือซื้อโทรศัพท์มือถือ เรายังต้องศึกษาข้อมูล ต้องทราบสเปค สี ขนาดความจุ ราคา ตลอดจนระยะเวลาในการผ่อน แต่พอจะซื้อกองทุนรวม สิ่งแรกที่เราทำกลับกลายเป็น การถามเพื่อนว่าจะซื้อกองไหนดี? ทั้งที่จะว่าไปแล้ว การลงทุนก็เหมือนการซื้อของ ที่เราต้องรู้รายละเอียดต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้น สำหรับใครที่อยากซื้อกองทุนรวม สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำ คือ อ่าน Fund Fact Sheet!

 

มาทำความรู้จัก Fund Fact Sheet กันเถอะ!!

 

Fund Fact Sheet หรือ “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป” เป็นเอกสารสำคัญที่ช่วยให้เราทราบรายละเอียดต่างๆ ของกองทุนรวม ตั้งแต่นโยบายการลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ความเสี่ยงต่าง ๆ สภาพคล่องในการซื้อขายกองทุน รวมถึงคนที่เอาเงินของเราไปลงทุนคือใคร เงื่อนไขและข้อจำกัดอื่น ๆ ของกองทุนเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เลือกสเปคกองทุนที่ถูกใจ และสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของเราได้

Inv_อยากเริ่มซื้อกองทุนรวม... ให้เริ่มอ่าน Fund Factsheet_01

เค้าดูอะไรกันใน…Fund Fact Sheet

 

เรามาทำความรู้จัก Fund Fact Sheet แบบลึกไปอีกนิดนึงว่า ในนั้นมีข้อมูลอะไรบ้าง และสำคัญอย่างไร เราจึงจะต้องอ่านและศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน

 

1. กำลังจะลงทุนอะไร และเหมาะกับเราไหม?

ดูนโยบายการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนแรกที่บอกว่ากองทุนรวมนี้ กำลังจะนำเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน หรือมีนโยบายการลงทุนแบบใด เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้น จะระบุในนโยบายการลงทุนว่า “เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว มุ่งหวังสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ” และยังบอกถึง
กลยุทธ์ในการบริหารจัดการลงทุนด้วยว่าเป็นแบบใด เช่น เป็นแบบ Active Fund บริหารเชิงรุก มุ่งหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด หรือแบบ Passive Fund บริหารเชิงรับ มุ่งหวังให้ผลตอบแทนเทียบเท่าดัชนีชี้วัด

 

นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า กองทุนรวมนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับใคร เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้น จะเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนของราคาหุ้นและสามารถลงทุนในระยะยาวได้ แต่ไม่เหมาะกับนักลงทุนที่เน้นการได้รับผลตอบแทนในจำนวนเงินที่แน่นอน หรือรักษาเงินต้นให้อยู่ครบ

 

2. การลงทุนมีความเสี่ยงแค่ไหน?

ดูคำเตือนและปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยจะระบุระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมแต่ละประเภท ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 8 ไล่จากกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงต่ำที่สุด ไปจนถึงความเสี่ยงสูงที่สุด อีกทั้งยังมีคำเตือนสำคัญที่กองทุนรวมนั้น ๆ อยากจะแจ้งให้นักลงทุนทราบก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น หากเป็นกองทุนรวมหุ้น จะแจ้งว่ามีความผันผวนสูง เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยค่าความเสี่ยงต่าง ๆ ของกองทุนรวม เช่น ความผันผวนของผลการดำเนินงาน (Standard Deviation: SD) ซึ่งหากมีค่ายิ่งน้อยจะยิ่งดี รวมถึงค่าความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น หากเป็นกองทุนรวมหุ้น จะดูความเสี่ยงว่ากองทุนนี้เน้นลงทุนในหุ้นประเภทไหน การลงทุนกระจุกตัวมากน้อยเพียงใด ขณะที่ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ จะดูความน่าเชื่อถือของผู้ออกหลักทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของกองทุนนั้น ๆ ทั้งนี้ ค่าความเสี่ยงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุนนั้น ๆ

 

3. กองทุนจะนำเงินของเรา ไปลงทุนที่ไหนบ้าง?

ดูสัดส่วนของประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งจะแสดงเป็น Pie Chart ของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน เพื่อให้เห็นถึงสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท เช่น หากเป็นกองทุนรวมหุ้น จะแสดงให้เห็นสัดส่วนตามหมวดอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมผสม จะเห็นความหลากหลายของประเภทสินทรัพย์มากขึ้น ตั้งแต่เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือหุ้น

 

นอกจากนี้ยังสามารถดูข้อมูลลึกลงไปในพอร์ตลงทุนได้อีก เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้น จะกำหนดให้กองทุนต้องเปิดเผยหมวดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก หรือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ที่กองทุนนั้นลงทุนอยู่ แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็จะเปิดเผยประเภทของตราสารหนี้ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก และต้องแสดงในส่วนของหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกด้วยเช่นกัน

 

4. ที่ผ่านมาผลตอบแทนของกองทุนเป็นอย่างไร?

ดูผลการดำเนินงาน แม้ว่าใน Fund Fact Sheet จะเป็นผลการดำเนินงานในอดีต และไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้หรือการันตีว่าอนาคตของกองทุนรวมจะทำได้เท่านั้น แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือที่จะพิสูจน์ฝีมือของผู้จัดการกองทุนว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้ดีมากน้อยแค่ไหน

 

โดยทั่วไป ผู้จัดการกองทุนจะถูกวัดผลการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) เช่น กองทุนรวมหุ้น ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย ก็ต้องใช้ดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET TRI (Total Return Index) ซึ่งรวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว โดยจะแสดงผลการดำเนินงานย้อนหลังแบบรายปีปฏิทิน ให้ดูว่ากองทุนรวมนั้น ๆ เมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด ผู้จัดการกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าหรือน้อยกว่าอย่างไร

 

ที่สำคัญคือ อย่าดูแค่เรื่องผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับเท่านั้น ยังมีเรื่องของความเสี่ยงด้วย เช่น ถ้าลงทุนในกองทุนนี้ ที่ผ่านมาเคยมีผลขาดทุนสูงสุดเท่าไหร่ มีความผันผวนมากน้อยเพียงใด รวมทั้งยังต้องนำผลการดำเนินงานและความเสี่ยงไปเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่อยู่ในประเภทเดียวกันอีกด้วย

 

5. คนที่เอาเงินของเราไปลงทุนคือใคร?

ดูชื่อผู้จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เรากำลังให้ใครดูแลเงินของเรา เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เราต้องรู้ว่าผู้จัดการกองทุนคือใคร ที่ผ่านมามีผลงานเป็นอย่างไร รวมถึงชื่อเสียงของ บลจ. เป็นอย่างไร เคยได้รับรางวัล ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันในการบริหารจัดการที่ดี มีระบบที่มีคุณภาพหรือไม่ ตลอดจนไม่เคยมีประวัตินำพาเงินของนักลงทุน ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ เป็นต้น

 

6. ต้องจ่ายค่าจ้างการบริหารเงินลงทุนเท่าไหร่?

ดูค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม คือ ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expense Ratio) ซึ่งประกอบไปด้วย ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนที่อยู่ในกองทุนนั้น ๆ จะต้องถูกเรียกเก็บ (ตัดจ่ายทุก ๆ วัน) ซึ่งกองทุนรวมจะหักออกจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ก่อนที่จะคำนวณเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น ๆ ออกมา

 

ส่วนที่สองคือ ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่ได้เรียกเก็บจากกองทุน ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการซื้อและค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน โดยจะเรียกเก็บก็ต่อเมื่อมีการซื้อและขายหน่วยลงทุน รวมถึงการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน

 

7. เงื่อนไขและข้อจำกัดของกองทุนมีอะไรบ้าง?

ดูข้อมูลอื่น ๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการจ่ายเงินปันผล ผู้ดูแลผลประโยชน์กองทุน จำนวนเงินทุนโครงการ ขนาดกองทุน วันทำการซื้อขาย และมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) โดย NAV มีค่ามากหรือน้อยไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่ากองทุนนั้น ๆ ทำ Performance ได้ดี หรือว่า NAV ถูกหรือแพง ซึ่งแท้จริงแล้ว NAV เป็นการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เพื่อให้ทราบว่า กองทุนนั้นมีมูลค่าเท่าใดต่อหน่วยนั่นเอง

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำความรู้จัก Fund Factsheet ให้ลึกลงไปอีกแบบเห็นภาพและเจาะลึกดีว่าเป็นอย่างไร มีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง และแต่ละจุดสำคัญอย่างไร สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” ได้ฟรี!!! คลิกที่นี่ 

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจาก e-Learning หลักสูตร “กองทุนรวม The Series” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: